วันจักรี (อังกฤษ: Chakri Memorial Day) ตรงกับวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี เป็นวันที่ชาวไทยควรน้อมระลึกถึง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และมหาจักรีบรมราชวงศ์ ซึ่งพระองค์ได้เสด็จกรีฑาทัพถึงพระมหานคร ทรงรับอัญเชิญขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ดำรงราชอาณาจักรสยามประเทศ เป็นวันที่เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติ และเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรก ซึ่งสืบทอดต่อจากสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หรือ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี ซึ่งก็คือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศไทยในปัจจุบัน นั้นเอง

ซึ่งเมื่อครั้นที่สิ้นรัชกาลในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แล้ว ต่อมาในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ตรงกับวันเสาร์ แรม ๙ ค่ำเดือน ๕ ปีขาล จ.ศ. ๑๑๔๔ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรก โดยมีพระราชดำริว่า ทางฝั่งตะวันออกของกรุงธนบุรี มีพื้นที่ที่ดีกว่าทางตะวันตก เพราะมีลำน้ำเป็นขอบเขตอยู่กว่าครึ่ง หากมีข้าศึกยกทัพมาติดถึงฝั่งพระนคร ก็จะทำให้ทำการต่อสู้และป้องกันได้ง่ายกว่าฝั่งตะวันตก จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างกรุงรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร ) ขึ้น โดยมีการสืบทอดศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมจากพระราชวังหลวงของกรุงศรีอยุธยา

ประวัติความเป็นมาของวันจักรี

วันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จปราบดาภิเษกขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงสถาปนากรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหลวงของประเทศไทย

พระบรมรูปพระบูรพกษัตริยาธิราช ภายในปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ๔ พระองค์ ได้แก่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) เพื่อประดิษฐานไว้ให้พระมหากษัตริย์องค์ต่อมา พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการ และประชาชนได้ถวายบังคมระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณเป็นธรรมเนียมปีละครั้ง และโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญไปประดิษฐานไว้บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท แต่มีการย้ายสถานที่ในการประดิษฐานหลายครั้ง เช่นพระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท และพระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาท เป็นต้น ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) โปรดให้ย้ายพระบรมรูปมาไว้ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับพระบรมรูปของรัชกาลที่ ๕ พระบรมชนกนาถ

จนกระทั่ง ในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๖๑ การซ่อมแซมก่อสร้างและประดิษฐานพระบรมรูปทั้ง ๕ รัชกาล จึงสำเร็จลุล่วง และได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งพระราชพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ในวันที่ ๖ เมษายน ของปีนั้น และต่อมาทรงโปรดเกล้าฯ ให้เรียกวันที่ ๖ เมษายนว่าวันจักรี

จากนั้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมพระบรมรูป เป็นประจำทุกปีในวันที่ ๕ พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล วันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายน เนื่องในวันสงกรานต์ หรือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการถวายบังคมในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ ในบางปี หรือทุกปี เช่น วันปิยมหาราช วันที่ ๒๓ ตุลาคม ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๔ ปัจจุบันได้มีการประดิษฐานพระบรมรูปเพิ่มตามการเปลี่ยนรัชสมัย จนถึงรัชกาลที่ ๘ แล้ว

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ครบรอบ ๑๕๐ ปี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างอนุสรณ์ เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้น และพระราชทานชื่อว่าสะพานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก หรือสะพานพุทธ ที่หลายคนรู้จัก พร้อมกับโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าพระองค์จริงถึง ๓ เท่า ในลักษณะประทับนั่งบนพระที่นั่ง

เพราะผลงานที่พระองค์ทรงสร้างไว้ให้กับชาวไทยมากมาย ในปัจจุบันจึงมีวันที่ระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และเมื่อถึงวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี ก็จะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า จวบจนปัจจุบัน

กิจกรรมเนื่องในวันจักรี

ในอดีต หากเป็นวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พร้อมกับทรงสักการะพระบรมรูปของทั้ง ๘ รัชกาล ซึ่งเป็นสมเด็จพระบูรพมหากษัตริย์ ณ ปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งกิจกรรมหลักๆ ในวันจักรี  ที่มีทั้งพระบรมวงศ์ศานุวงศ์และประชาชนทั่วไป

พระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า หรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ (อังกฤษ: Phra Phuttha Yodfa Bridge, Memorial Bridge) สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๒ เนื่องในโอกาสสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ครบ ๑๕๐ ปี

  • เสด็จวางพวงมาลา ในวันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี ในวันจักรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ไปเป็นประธานในพิธีทางศาสนา เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลให้กับบูรพมหากษัตริย์ ณ พระอุโบสถวัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อจากนั้นก็ทรงเสด็จไปวางพวงมาลา ณ พระบรมราชานุสรณ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่สะพานพระพุทธยอดฟ้า ซึ่งยังมีเหล่าพสกนิกรอย่างนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หน่วยงานของรัฐบาลและเอกชน นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป ต่างพร้อมใจกันเข้าร่วมพิธีวางพวงมาลา และบำเพ็ญกุศลให้กับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ทรงอุทิศพระองค์เพื่อความสงบสุขของประชาชนของพระองค์อย่างแท้จริง
  • จัดพิธีถวายบังคมพระรูป วันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันที่ ๖ เมษายน ของทุกปี จะมีการจัดงานและมีพิธีถวายบังคมพระบรมรูป ณ บริเวณลานด้านพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในปัจจุบัน แม้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะไม่ได้ทรงเสด็จมาเอง แต่ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ศานุวงศ์เป็นตัวแทนส่วนพระองค์ ประกอบพิธีถวายบังคมและวางพวงมาลา เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกษัตริย์ทุกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีวงศ์
  • จัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติ ปัจจุบัน ทั้งมูลนิธิหรือส่วนราชการต่าง ๆ และภาคเอกชน ได้ร่วมกันจัดงานสัปดาห์เฉลิมพระเกียรติวันจักรี เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระองค์ที่มีต่อประชาชนชาวไทยมาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรตินี้ จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ และเพื่อช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในชาติได้เป็นอย่างดี

นอกจากพิธีวางพวงมาลา บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แล้วยังมีการทำบุญตักบาตรตอนเช้าตามความเชื่อของชาวพุทธ เพื่ออุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชนั่นเอง

แนวทางการส่งเสริมวันจักรี

การทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางและการส่งเสริม กิจกรรมเพื่อเฉลิมพระเกียรติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อให้ประชาชนได้น้อมรำลึกถึงคุณงามความดีที่พระองค์เคยโปรดเกล้า ฯ สร้างผลงานต่างๆ ที่ผ่านมา ซึ่งล้วนแล้วแต่ เป็นประโยชน์ต่อประชาขนชาวไทยเป็นอย่างมาก เพื่อให้ ประชาชนชาวไทย รัก เคารพ รำลึกถึงและเทิดทูนพระมหากษัตริย์ตลอดจนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป ทำให้ต้องหาแนวทางการส่งเสริมต่าง ๆ เพื่อรักษาและธำรงไว้

  • การจัดนิทรรศการวันจักรีตามหน่วยงานต่าง ๆ ถือเป็นการส่งเสริมแนวทางกิจกรรมที่จะสานต่อให้ชาวไทยรุ่นต่อ ๆ ไปได้ทราบถึง คุณงามความดีที่พระองค์เคยทรงโปรดเกล้าฯ สร้างผลงานต่าง ๆ ที่ผ่านมา ในด้านต่าง ๆ ซึ่งการจัดนิทรรศการตามสถานที่ราชการ อย่างโรงเรียนหรือ หน่วยงานต่างๆ ถึง ความหมาย ประวัติ และความเป็นมา พระราชกรณียกิจต่างๆ รวมถึง สิ่งที่พระองค์ได้ทำเพื่อบ้านเมืองและประชาชนของพระองค์ ซึ่งจะทำให้เยาวชนและประชาชนทั่วไป มีการปลูกฝังจิตสำนึกและระลึกถึงความดีงามที่พระองค์เคยสร้างไว้
  • ร่วมพิธีวางพวงมาลา เพื่อไม่ให้พิธีการของวันจักรี ค่อย ๆ เลือนหายไป การเข้าร่วมงาน วางพวงมาลาบริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ณ บริเวณเชิงสะพานพุทธ ก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่หลายคนอาจจะอยากมีส่วนร่วม เพื่อรักษาธรรมเนียมนี้ไว้ เพื่อเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูล ที่ได้เข้าร่วมพิธีสำคัญเช่นนี้
  • ติดตามข่าวสารหรือดูถ่ายทอดกิจกรรมต่าง ๆ ของวันจักรี นอกจากข่าวในพระราชสำนักเนื่องในวันจักรี ที่มีพระมหากษัตริย์หรือพระบรมวงศ์ศานุวงศ์เสด็จวางพานพุ่มสักการะรัชกาลที่ ๑ แล้ว การติดตามข่าวสารหรือข้อมูลตามสื่อต่าง ๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ รวมถึงรายการพิเศษต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในวันนี้ ซึ่งทำให้เรามองเห็นพระปรีชาชาญและพระราชกรณียกิจที่เต็มไปด้วยความยากลำบากของแต่ละพระองค์ ก็จะทำซึ่งจากการติดตาม ก็จะทำให้เราทราบถึงความเคลื่อนไหวได้เช่นกัน

ด้วยประชาทั้งหลายนั้น ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ที่ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่เป็นพระคุณอย่างยิ่งต่อแผ่นดินไทย วันจักรีถือว่าเป็นวันที่มีความสำคัญมาก การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของวันสำคัญเช่นนี้ จึงถือเป็นการส่งเสริมให้ชาวไทยได้รักษาสิ่งดี ๆ ไว้ให้กับลูกหลานได้เรียนรู้ถึงสิ่งดี ๆ ต่อไป


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบรมสาทิสลักษณ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เป็นพระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๑ ในราชวงศ์จักรี พระปรมาภิไธย (พระนามเต็มของพระองค์ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ หลังจากที่ได้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้ว) คือ พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันพุธ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีมะโรงอัฐศก เวลา ๓ ยาม ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๗๙ ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งอาณาจักรอยุธยา พระองค์เป็นบุตรคนที่ ๔ ของพระอักษรสุนทรศาสตร์ (นามเดิม:ทองดี ต่อมาได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ) กับพระอัครชายา (หยก) พระองค์ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุได้ ๔๖ พรรษา

พระองค์ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี ราชธานีเดิมที่อยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา มายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วพระราชทานนามราชธานีแห่งใหม่ว่ากรุงรัตนโกสินทร์ (คือกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทยในปัจจุบัน) พระองค์โปรดให้สร้างพระราชวังหลวงและโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร มาประดิษฐานยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉลองสมโภชพระนครเป็นเวลา ๓ วัน

พระราชกรณีกิจที่สำคัญในรัชสมัยที่ทรงครองราชย์ คือ การป้องกันราชอาณาจักรให้ปลอดภัยและทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย และอยุธยา การที่ไทยสามารถปกป้องการรุกรานของข้าศึกจนประสบชัยชนะทุกครั้ง แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของพระองค์ในการบัญชาการรบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามกับพม่า ใน พ.ศ. ๒๓๒๘ ที่เรียกว่าสงครามเก้าทัพ

ดูบทความหลักที่: พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


ราชวงศ์จักรี

พระบรมสาทิสลักษณ์พระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรี รัชกาลที่ ๑ - ๑๐

ราชวงศ์จักรี (อังกฤษ: Chakri dynasty) เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรไทยต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี จนถึงปัจจุบัน โดยสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบรมนามาภิไธย ในรัชกาลที่ ๑ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) ได้ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระปรโมรุราชามหาจักรีบรมนารถ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระองค์แรก (พระนามเดิมทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ และทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นราชธานี (กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน) ยุคของราชวงศ์นี้ นิยมเรียกว่ายุครัตนโกสินทร์

อย่างไรก็ตาม ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางยุคสมัยของโลก เป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ทรงจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการปกครองบ้านเมือง เปลี่ยนชื่อจากรัตนโกสินทร์ เป็นสยาม ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ และเปลี่ยนเป็นไทย ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ ๘

พระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรี พระองค์ปัจจุบันคือ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ ๑๐ เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวใน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ทรงรับตำแหน่งเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ แต่ในทางนิตินัยถือว่าได้ขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ตั้งแต่วันที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๙

ดูบทความหลักที่: ราชวงศ์จักรี


พิธีเปิดสะพานพุทธ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑

พิธีเปิดสะพานพุทธ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕

ในวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๒๕ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระปรมาภิไธย ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๒๑ - พ.ศ. ๒๓๒๕) ทรงปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันคือกรุงเทพมหานคร ) เป็นราชธานี ดำรงสถิตสถาพรสืบมา

ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้ทรงพระราชดำริที่จะสร้างถาวรวัตถุเป็นอนุสรณ์พระปฐมกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์จะมีอายุครบ ๑๕๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ จึงทรงปรารภพระราชประสงค์นี้กับคณะรัฐบาล และได้มีมติตกลงสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ หรือพระปฐมบรมราชานุสรณ์ ประดิษฐานอยู่ ณ เชิงสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์หรือสะพานพุทธฯ ฝั่งพระนคร เพื่อเป็นอนุสาวรีย์เฉลิมพระเกียรติคุณ รวมถึงก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาให้เป็นทางเชื่อมกับฝั่งธนบุรีในคราวเดียวกัน จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้คิดแบบพระบรมรูปและสะพาน โดยกำหนดสร้างตรงต่อปลายถนนตรีเพชรฝั่งพระนคร คือ ถนนระหว่างวัดราชบูรณะกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ให้เชิงสะพานฝั่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

หุ่นต้นแบบในการปั้นและหล่อสัมฤทธิ์พระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ โดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี

กรมพระยานริศ ฯ ทรงออกแบบ และจิตรกร ศ.ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ปั้น

พระบรมราชานุสาวรีย์นี้ รัชกาลที่ ๗ โปรดให้สมเด็จพระบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตยสภา ซึ่งขณะนั้นทรงอำนวยการแผนกศิลปากรคิดแบบและอำนวยการก่อสร้างเป็นพระบรมรูปทรง เครื่องขัตติยาภรณ์ เสด็จประทับนั่งเหนือพระราชบัลลังก์ พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดอยู่อยู่เหนือพระเพลา ส่วนการปั้นและหล่อด้วยสัมฤทธิ์นั้น ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ปูชนียบุคคลของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการ

ความสูงของประติมากรรม ตั้งแต่ฐานตลอดยอด ๔.๖๐ เมตร (ต่อมาได้เสริมแท่นสูงขึ้นไปอีกประมาณ ๑ เมตร) ฐานกว้าง ๒.๓๐ เมตร มีฐานหินอ่อนเป็นที่รองรับพระบรมรูปหล่ออีกชั้นหนึ่ง พระบรมรูปฯ ผินพระพักตร์มาทางถนนตรีเพชร

เบื้องหลังก่อเป็นกำแพงหินอ่อนกั้นตอนกลางเจาะเป็นช่องลึกคล้ายประตู มีเสาหินสลัก ๒ ข้าง หน้าบันประดับลายปูนปั้นลานพวงมาลัย เหนือหน้าบันสลักรูปอุณาโลม ด้านหลังกำแพงเป็นแผ่นจารึกหินอ่อน จารึกความเป็นมาของการก่อสร้าง และภายหลังได้มีการเสริมกำแพงให้สูงขึ้นไปอีก เบื้องหน้ามีเครื่องบูชา พุ่มดอกไม้ และพานเครื่องประดับ มีน้ำพุ อยู่ทั้ง ๒ ข้าง

บริเวณหน้าฐานเป็นรั้วคอนกรีตเสากลม ตอนกลางรั้วเป็นแผ่นหินอ่อนคล้ายเป็นลวดลายไทยวางทอดอยู่ กึ่งกลางแผ่นสลักเป็นรูปช้างหันข้างยืนเหนือแท่น ซึ่งเป็นตราปฐมบรมราชจักรีวงศ์ ด้านข้างพระบรมรูปทั้งสองด้านมีบันไดลาดจากสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์ลงมาเป็น ชั้นๆ จนถึงพื้นด้านล่างซึ่งประดับด้วยพันธุ์ไม้ดอกเป็นแนวยาว

ประมวลภาพ พิธีเปิดสะพานพุทธ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑

ส่วนหนึ่งของภาพชุดอันทรงคุณค่าในความทรงจำของปวงชนชาวไทยเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างสะพานพุทธ

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินตรวจงานก่อสร้างสะพานพุทธ

ขบวนแห่ในพิธีเปิดสะพานพุทธ และพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑

พิธีเปิดผ้าคลุมพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑

ประชาชนและข้าราชการภาคส่วนต่าง ๆ บริเวณหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ ๑ จาก นสพ. L’ILLUSTATION ของฝรั่งเศส ซึ่งเผยแพร่ข่าวงานฉลองครบรอบ ๑๕๐ ปีกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๕

— — ที่มา: ข้อมูลและภาพถ่ายเก่าส่วนหนึ่งจากศูนย์ข้อมูลกรุงรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระนคร

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา