เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี หรือสัญลักษณ์ของการมอบสิทธิในการครองราชสมบัติ

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: Royal regalia) ถ้าแปลตามรูปศัพท์จะได้ความหมายว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ คำว่ากกุธภัณฑ์ เป็นคำภาษาบาลี มาจากกกุธ คือเครื่องหมายความเป็นพระราชา + ภณฺฑ แปลว่าของใช้ ดังนั้นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ จึงหมายถึง อุปกรณ์ เครื่องทรง หรือสิ่งอื่น ๆ ที่เป็นของพระมหากษัตริย์ที่มอบให้แก่พระมหากษัตริย์องค์ต่อไป เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการมอบสิทธิในการครองราชสมบัติ

ในประเพณีการถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของไทยมีปรากฏมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัย ดังความจารึกในศิลาจารึกวัดศรีชุม (จารึกหลักที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๑๘๘๔ - ๑๙๑๐) ตอนหนึ่งว่าเมื่อพ่อขุนผาเมือง อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว ให้ครองเมืองสุโขทัยนั้น ได้มอบพระขรรค์ชัยศรี ที่พ่อขุนผาเมืองได้รับพระราชทานจากกษัตริย์ขอมให้พ่อขุนบางกลางหาวด้วย และในศิลาจารึกวัดป่ามะม่วง ภาษาขอม (จารึกหลักที่ ๔ พ.ศ. ๑๙๐๔) กล่าวถึงเครื่องราชกกุธภัณฑ์ในพิธีบรมราชาภิเษกพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ว่ามีมกุฎ พระขรรค์ชัยศรี และเศวตฉัตร จะเห็นได้ว่า เมื่อถึงสมัยอยุธยา ไทยก็ได้ยึดถือพระราชประเพณีนี้สืบต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

เครื่องราชกกุธภัณฑ์ แห่งประเทศไทย ในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ (มีพระมหาวิเชียรมณี คือเพชรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นประดับบนยอดสูงสุด) พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร (คือไม้เท้า เนื่องด้วยพระนพปฎลมหาเศวตฉัตร มีความใหญ่โตมาก ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร แทน) พัดวาลวิชนี กับพระแส้หางจามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน รวมกันเรียกว่าเบญจราชกกุธภัณฑ์ แปลความหมายตามรูปศัพท์ว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ๕ อย่าง

นิยามและความเป็นมา

หากเราจะยึดถือตามคติความเชื่อแต่ครั้งโบร่ำโบราณกาลเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งถือว่า เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี จะมีอยู่ ๕ อย่าง ด้วยกัน ปรากฏหลักฐานกล่าวไว้อย่างชัดเจนในวรรณคดีต่าง ๆ ของพระพุทธศาสนา เช่น อรรถกถาปปัญจสูทนี ภาค ๓ อรรถกถาสมันตปาสาทิกา ภาค ๑ มหาวงศ์ ทีปะวงศ์และอภิธานัปปทีปิกา สังกิจจชาดก เป็นต้น โดยเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ทั้ง ๕ อย่าง นั้น ประกอบด้วยเศวตฉัตร อุณหิส (คือ มงกุฎ) พระขรรค์ วาลวิชนี และฉลองพระบาท

แต่เดิมนั้นเศวตฉัตร เคยเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (ในภาพ) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ (เมื่อพิจารณาขนาดของเศวตฉัตร แล้ว ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์)

การถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นประเพณีสืบเนื่องมาจากลัทธิพราหมณ์ ที่มีพราหมณ์ (พระมหาราชครู) เป็นผู้กล่าวคำถวาย ตามคติความเชื่อว่า พระมหากษัตริย์เป็นสมมุติเทพ เครื่องราชกกุธภัณฑ์จึงล้วนเป็นสัญลักษณ์แห่งเทพทั้งสิ้น ดังที่กล่าวไว้ในปัญจราชาภิเษก ความว่า

เศวตฉัตร ๖ ชั้น หมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น

อุณหิส (คือมงกุฎ ) หมายถึง ยอดวิมานของพระอินทร์

พระขรรค์ หมายถึง พระปัญญาอันจะตัดมลทินถ้อยความไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน

เครื่องประดับผ้ารัตกัมพล หมายถึง เขาคันธมาทน์อันประดับเขาพระสุเมรุราช ต่อมาใช้วาลวิชนี (คือ พัด) กับพระแส้จามรี แทน

เกือกแก้ว (คือ ฉลองพระบาท) หมายถึง แผ่นดินอันเป็นที่รองรับเขาพระสุเมรุราช และเป็นที่อาศัยแก่อาณาประชาราษฎร์ทั้งหลายทั่วแว่นแคว้นขอบขัณฑสีมา

แต่เนื่องจากคนไทยในอดีตมีความเชื่อว่าธารพระกร (คือไม้เท้า ) นั้น สามารถใช้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแทนเศวตฉัตร ได้ โดยถือเอาหลักการปฏิบัติเป็นสำคัญ เนื่องจากวัตถุทั้ง ๕ อย่าง นั้น เป็นของที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และจำเป็นที่จะต้องสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่บุคคลทั้งปวง ที่ร่วมอยู่ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ได้เห็นชัดเจนว่า หัวหน้าพราหมณ์ได้เป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยตรง

อย่างไรก็ตาม เนื่องด้วยขนาดของเศวตฉัตร ที่มีความใหญ่โตมาก จึงเป็นการประดักประเดิดอย่างยิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ นอกจากนั้นก็ยังมีเศวตฉัตรอื่นที่ปักอยู่แล้วเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ อันเป็นที่ประทับมาก่อนแล้วด้วย ด้วยเหตุดังกล่าว ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร แทน

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หรือเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ๕ อย่าง ในปัจจุบัน เป็นของที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในปัจจุบันนี้มี ๕ อย่าง ประกอบด้วยพระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร (คือไม้เท้า ใช้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแทนพระมหาเศวตฉัตร เนื่องจากขนาดของพระมหาเศวตฉัตร มีความใหญ่โตมาก ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ จึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร แทน) พัดวาลวิชนี กับพระแส้จามรี และฉลองพระบาทเชิงงอน แต่ความสำคัญที่ยิ่งกว่าความหมายของรูปศัพท์ดังกล่าว คือเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี กล่าวอย่างง่ายๆ ภาษาชาวบ้านทั่วไปก็คือผู้ใดครอบครองสิ่งทั้ง ๕ ประการนี้ ผู้นั้นคือพระมหากษัตริย์ หรืออีกนัยหนึ่งคือสัญลักษณ์ของการมอบสิทธิในการครองราชสมบัติ นั่นเอง

ดังนั้น เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ จึงถือเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญที่สุดอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อใดที่ทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งสิ้นทั้งปวงไว้แล้ว เมื่อนั้นพระองค์ก็จะทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมบูรณ์ด้วยพฤตินัยและจารีตแห่งโบราณราชประเพณี

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปราบดาภิเษกขึ้นครองสิริราชสมบัติและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ขึ้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๒๕ นั้น ยังไม่ได้มีเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ และเครื่องราชูปโภคต่าง ๆ ครบถ้วนบริบูรณ์ตามควรแห่งขัตติยราชประเพณี นอกจากนั้น พระองค์ก็ยังมิได้ทรงแต่งตั้งสมณชีพราหมณ์ และนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งปวงให้ครบถ้วน ทรงใช้เวลาประมาณ ๓ ปี ในการเตรียมการทั้งปวง จนถึงพุทธศักราช ๒๓๒๘ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเต็มตามขัตติยราชประเพณีปฏิบัติตามแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา อีกคำรบหนึ่ง ณ พระที่นั่งอินทราภิเศกมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญฉัตรพระคชาธาร มาทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของพระองค์แทนธารพระกร และได้ปฏิบัติเช่นนั้นสืบมาจนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ด้วยเหตุที่ทรงมีพระราชดำริว่าฉัตรพระคชาธาร นั้น มีเพียง ๗ ชั้น เท่านั้น จึงไม่สมควรที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ ขณะที่พระองค์เสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ องค์นี้แล้ว เพราะการเสด็จขึ้นประทับเหนือพระที่นั่งองค์นี้ พร้อมกับการทรงรับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่หัวหน้าพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวายนั้น ก็เท่ากับว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ด้วยจารีตและพฤตินัยแล้ว ดังนั้นจึงสมควรที่จะต้องนำฉัตร ๙ ชั้น หรือนพปฎลมหาเศวตฉัตร ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายแทนฉัตร ๗ ชั้น จะเหมาะสมกว่า ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างฉัตร ๙ ชั้น ที่มีขนาดย่อมพิเศษเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์แทน

เบญจราชกกุธภัณฑ์

เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ที่พราหมณ์ (พระมหาราชครู) จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในสมัยรัตนโกสินทร์ มีดังนี้

พระมหาพิชัยมงกุฎ

พระมหาพิชัยมงกุฎ มีพระกรรเจียกจอน สร้างเสร็จโดยสมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๔

พระมหาพิชัยมงกุฎ (อังกฤษ: The Great Crown of Victory) ทำด้วยทองคำแท้บริสุทธิ์ ตกแต่งด้วยการลงยาสีเขียวแดงและลงยาราชาวดี ประดับเพชรและอัญมณี มียอดเป็นยอดแหลม แต่ละชั้นของพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดับด้วยดอกประจำยามเพชรทั้งสี่ทิศ และโดยรอบวงของแต่ละชั้นจะประดับด้วยดอกไม้ไหวเพชร

ความสูงขององค์พระมหาพิชัยมงกุฎเมื่อแรกสร้างในครั้งรัชกาลที่ ๑ ประมาณ ๕๑ เซนติเมตร เพราะยังไม่มียอดเพชรและยังไม่มีพระกรรเจียกจอนประกอบ แต่ต่อมาในครั้งรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเพิ่มยอดพระมหาพิชัยมงกุฎองค์นี้เข้าไป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสนาบดี นามว่าพระราชสมบัติ ไปเที่ยวหาซื้อเพชรจากเมืองกัลกัตตา ประเทศอินเดีย แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นประดับไว้บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ พระราชทานนามเพชรเม็ดใหญ่ที่ได้มานี้ว่าพระมหาวิเชียรมณี นอกจากนั้นยังทรงพระกรุณาให้สร้างพระกรรเจียกจอนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นเครื่องประดับพระกรรณ จึงทำให้มีความสูงเพิ่มขึ้นเป็น ๖๖ เซนติเมตร และมีน้ำหนักรวม ๗.๓ กิโลกรัม

สำหรับพระกรรเจียกจอน นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นพร้อมกับการเพิ่มพระมหาวิเชียรมณี เป็นทองคำสลักดุน ลงยาสีเขียวแดง และลงยาราชาวดี ความหมายของกรรเจียกจอนนั้น คือ เครื่องประดับหู นั่นเอง

เนื่องจากเมื่อแรกสร้างพระมหาพิชัยมงกุฎ นั้น จะมีแต่เฉพาะองค์พระมหามงกุฎเพียงองค์เดียวโดด ๆ เท่านั้น ยังมิได้สร้างสายรัดพระหนุ และมิได้มีพระกรรเจียกจอนประดับพระกรรณ เนื่องจากทรงถือว่าเป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์เท่านั้น จึงทรงรับและวางไว้ข้างพระองค์ มิได้นำขึ้นสวมเหนือพระเศียรในเวลาพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่อย่างใด ครั้นถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎ ที่หัวหน้าพราหมณ์ทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งทรงนำขึ้นสวมเหนือพระเศียร ดังกล่าวมาแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างสายรัดพระหนุ เพิ่มเติมขึ้น เพื่อให้พระมหาพิชัยมงกุฎ นั้น สามารถทรงตัวอยู่เหนือพระเศียรได้อย่างเรียบร้อย และในขณะเดียวกันก็มีการสร้างพระกรรเจียกจอนเพิ่มเติมขึ้นด้วย เพื่อให้พระมหาพิชัยมงกุฎนั้น มีลักษณะถูกต้องตามจารีตดั้งเดิม ซึ่งอาจเห็นได้จากภาพจิตรกรรมในครั้งกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา

เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๓ นั้น ในเวลาประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก หัวหน้าพราหมณ์จะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวายพระมหาพิชัยมงกุฎต่อพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงรับแล้ว ก็จะทรงวางไว้บนโต๊ะข้างพระองค์เท่านั้น มิได้ทรงยกขึ้นสวมเหนือพระเศียรแต่อย่างไร เพราะถือว่าพระมหามงกุฎนั้น มีความสำคัญเสมอเทียบเท่ากับกับเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์องค์อื่นๆ โดยมีมหาเศวตฉัตรเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญสูงสุด

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงเครื่องบรมราชาภิเษก

ต่อมาในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ได้ทรงเชิญคณะทูตานุทูตต่างประเทศทั้งหลายที่ประจำอยู่ในสยามประเทศขณะนั้นเข้าร่วมในการพระราชพิธีนี้ด้วย จึงทรงมีพระราชดำริอนุโลมตามจารีตปฏิบัติอันเป็นธรรมเนียมนิยมของประเทศตะวันตกทั้งปวง ที่ยึดถือช่วงเวลาและกิริยาเป็นหลักว่า ภาวะแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์นั้นอยู่ ณ เวลาที่ทรงนำพระมหามงกุฎสวมลงเหนือพระเศียร ให้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญสูงสุดของพระราชพิธีนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงขั้นตอนของพระราชพิธีโดยให้มีการสวมพระมหาพิชัยมงกุฎเหนือพระเศียรด้วยนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และในช่วงเวลาดังกล่าว ก็ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะพราหมณ์บันลือสังข์ ไกวบัณเฑาะว์ เจ้าพนักงานประโคม ทหารยิงสลุต และพระสงฆ์ เจริญชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจักร มีการลั่นระฆัง ที่หอระฆังของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และลั่นระฆังทุกพระอารามทั่วพระราชอาณาจักร เพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของขั้นตอนนี้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเพื่อความเป็นสิริมงคลทั้งปวงด้วย นับแต่นั้นเป็นต้นมา ก็นับถือกันโดยทั่วไปว่าพระมหาพิชัยมงกุฎ เป็นปูชนียวัตถุสำคัญที่สุดในบรรดาเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์และราชกกุธภัณฑ์ทั้งปวง และพระมหากษัตริย์ทุกรัชกาลที่ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อกันลงมาจะทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ความหมายของพระมหาพิชัยมงกุฎนั้นมีมากมาย นับตั้งแต่องค์พระมหาพิชัยมงกุฎ หมายถึง ส่วนยอดสูงสุดของไพชยนตปราสาทพิมาน อันเป็นที่ประทับของสมเด็จพระอมรินทราธิราช หรือที่เรารู้จักกันดีในนามของพระอินทร์ ผู้เป็นองค์ประธานของสวรรค์ชั้นสองแห่งนี้ คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จากทั้งหมด ๖ ชั้น

ดอกประจำยามเพชรและดอกไม้ไหวเพชร หมายถึง ต้นปาริชาตหรือต้นกัลปพฤกษ์ ซึ่งในมนุษย์โลกรู้จักกันในชื่อ ทองหลาง อันเป็นต้นไม้ทิพย์ที่งอกงามอยู่ในอุทยานปุณฑริกวัน บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ดอกของต้นปาริชาตินี้ จะผลิดอกออกเบ่งบานทุก ๆ ๑๐๐ ปี และเมื่อใดที่ดอกปาริชาติจะผลิบาน เหล่าเทพบุตร เทพธิดาก็จะพากันมารื่นเริงผลัดเปลี่ยนเวียนกันมาเฝ้า จนกว่าดอกไม้จะบาน และเมื่อบานแล้ว จะปรากฏแสงสว่างเรืองรองส่องประกายรัศมีไปไกลถึงแปดแสนวาและส่งกลิ่นหอมขจรขยายฟุ้งไปทั่ว ยามเมื่อลมรำเพยพัดโบยกลิ่นหอมนั้นไปในทิศใด ก็ย่อมส่งกลิ่นหอมจรุงใจไปในทิศนั้น ๆ

น้ำหนักของพระมหาพิชัยมงกุฎที่มีมากถึง ๗.๓ กิโลกรัม นั้น เปรียบได้กับพระราชภาระอันหนักหนาสาหัสของผู้ที่ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต้องทรงแบกรับทั้งความทุกข์ ความโศก รวมทั้งโรคภัยไข้เจ็บทุกประการของพสกนิกรของพระองค์ทั้งประเทศ ทันทีที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสวมพระมหาพิชัยมงกุฎลงเหนือพระเศียรแล้ว ก็เท่ากับว่าพระองค์ทรงยอมรับเอาพระราชภาระอันหนักอึ้งทั้งปวงของแผ่นดินมาไว้กับพระองค์ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ว่าพระมหาพิชัยมงกุฎจะหนักมากเพียงใด ก็มิเทียบเท่ากับพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ ที่ต้องทรงแบกรับเอาไว้

พระแสงขรรค์ชัยศรี

พระแสงขรรค์ชัยศรี หนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์

พระแสงขรรค์ชัยศรี (อังกฤษ: Sword of Victory) เป็นพระแสงศาสตราวุธประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ ในที่นี้พระขรรค์ หมายถึง พระสติปัญญาความรอบรู้ในการปกครองบ้านเมือง พระแสงองค์นี้มีประวัติอันเก่าแก่ พระแสงขรรค์ชัยศรี เป็นราชสมบัติจากเขมรเมืองพระนครตั้งแต่ยุคนครวัด ถึงยุคนครธม มีหลักฐานสำคัญอยู่ในหลักศิลาจารึกวัดศรีชุม ยุคสุโขทัยว่า พระเจ้าแผ่นดินเขมรนครธมสมัยนั้น พระราชทานขรรค์ชัยศรี ให้พ่อขุนผาเมืองแห่งกรุงศรีสัชนาลัยสุโขทัย พร้อมด้วยธิดานามว่าสุขรมหาเทวี ให้เป็นชายา พระแสงขรรค์ชัยศรี จึงตกเป็นพระราชสมบัติของพ่อขุนผาเมืองนี้เอง เป็นพยานสำคัญแสดงว่าพ่อขุนผาเมืองก็คือพระเจ้าอู่ทองที่ครองกรุงศรีอโยธยาศรีรามเทพนคร (หรือต่อมาเป็นกรุงศรีอยุธยา) เพราะมีในพงศาวดารเหนือยืนยันสอดรับว่า ท้าวอู่ทองเสด็จลงมาจากเมืองสวรรคโลก (ศรีสัชนาลัยสุโขทัย) แล้วสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยพระแสงขรรค์ชัยศรีก็เป็นสมบัติกรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา สุดท้ายจวบจนสมัยพระเจ้าเอกทัศ เบญจราชกกุธภัณฑ์ก็ได้หายสาปสูญไป รวมทั้งพระแสงขรรค์ชัยศรี ซึ่งท้ายสุดไปตกจมอยู่ในทะเลสาบเขมร หรือโตนเลสาบ (เขมร: បឹងទន្លេសាប คำอ่าน: บึงทนฺเลสาบ) ที่เมืองเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗ ชาวประมงได้ทอดแหแล้วเห็นพระขรรค์องค์นี้ ชาวประมงผู้นั้นจึงนำมาถวายเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) เจ้าเมืองเสียมราฐ และเจ้าเมืองเสียมราฐได้นำทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

เมื่อวันที่พระแสงองค์นี้มาถึงกรุงเทพมหานคร ได้เกิดฟ้าผ่าในพระนครถึง ๗ แห่ง เช่นที่ประตูวิเศษไชยศรีในพระราชฐานชั้นนอก ประตูพิมานไชยศรีในพระราชฐานชั้นกลาง ซึ่งเป็นทางที่อัญเชิญพระแสงองค์นี้เข้าไปในพระบรมมหาราชวัง

ทั้งด้ามและฝักมีความยาว ๑๑๕ ซม. ฝักกว้าง ๕.๕ ซม. ใบพระขรรค์ทำด้วยเหล็กมีคมทั้งสองด้าน ส่วนด้ามทำด้วยแก้วผลึกรูป ๘ เหลี่ยม มีทองคาดตามแนวปลายด้ามทำเป็นหัวเม็ดรูป ๖ เหลี่ยมประดับพลอย ตัวฝักทำด้วยทองคำประดับด้วยลายรักร้อย ขอบฝักทำเป็นลายกระหนก ประดับอัญมณีสีต่าง ๆ

สมัยโบราณกาลการจัดสร้างพระแสงนั้น ผู้สร้างจะเลือกโลหะหรือแร่ต่าง ๆ ที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพื่อสร้างเป็นพระแสงที่มีความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่เกรงขามของศัตรู โดยช่างตีดาบหลวง จะนำเนื้อโลหะต่างชนิดนำมาถลุงหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวเพื่อตีขึ้นรูปดาบ จึงเกิดเป็นสูตรของโลหะ ๓ ประเภท คือ

  • เบญจโลหะ คือ เนื้อโลหะ ๕ ชนิด หลอมรวมจาก เหล็ก ๑ ปรอท ๑ ทองแดง ๑ เงิน ๑ และทองคำ ๑
  • สัตโลหะ คือ เนื้อโลหะ ๗ ชนิด หลอมรวมจาก เหล็ก ๑ ปรอท ๑ ทองแดง ๑ เงิน ๑ ทองคำ ๑ เจ้าน้ำเงิน ๑ (ปกติเรียกเจ้า เป็นแร่ชนิดหนึ่งสีเขียวเหลือบน้ำเงิน) และสังกะสี ๑
  • นวโลหะ คือ เนื้อโลหะถึง ๙ ชนิด หลอมรวมจาก เหล็ก ๑ ปรอท ๑ ทองแดง ๑ เงิน ๑ ทองคำ ๑ เจ้าน้ำเงิน ๑ สังกะสี ๑ ชิน ๑ (โลหะผสมระหว่างดีบุกกับตะกั่ว มีสีเงาวาวมาก และมีน้ำหนักมากเช่นกัน) และทองแดงบริสุทธิ์ ๑

ต่อมามีการค้นพบโลหะอีกประเภทหลังจากได้มีการคิดค้นสูตรโลหะทั้ง ๓ แล้ว กล่าวกันว่าเป็นโลหะที่ดีมีคุณสมบัติสำหรับการทำอาวุธที่สุด คือเหล็กน้ำพี้ เพราะเหล็กน้ำพี้ เป็นโลหะที่มีคุณภาพยอดเยี่ยม เมื่อนำมาหลอมตีเป็นดาบจะมีสีเขียวเหลือบดังปีกแมลงทับ มีความคมและยืดหยุ่นได้ในตัวเอง เมื่อนำมาฟันกระทบกับของแข็ง ทำให้ไม่บิ่น ไม่งอ ไม่ทำปฏิกิริยากับอากาศ และไม่ก่อให้เกิดสนิม และเสื่อมคม แหล่งที่มาของแร่โลหะนี้ คือบ่อน้ำพี้ ในที่นี้น้ำพี้ เป็นชื่อหมู่บ้านหนึ่งของจังหวัดอุตรดิตถ์ ที่มีแหล่งแร่เหล็กกล้าที่มีความบริสุทธิ์ของเนื้อเหล็กโดยธรรมชาติสูง จึงนิยมนำมาทำเครื่องใช้กันตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว มีการสันนิษฐานกันว่า ดาบรบที่สร้างขึ้นในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยามีการตีดาบเหล็กน้ำพี้ใช้สำหรับทำอาวุธใช้ในสงคราม ต่อมามีการสงวนไว้สำหรับใช้ทำพระแสงดาบสำหรับพระมหากษัตริย์ ห้ามมิให้ผู้ใดขุดเหล็กจากบ่อนี้ โดยบ่อที่นำมาทำพระแสงดาบเรียกว่าบ่อพระแสง และบ่อที่นำมาทำพระขรรค์เรียกว่าบ่อพระขรรค์

นอกจากการเลือกโลหะสำหรับนำมาทำดาบแล้ว กรรมวิธีในการตีดาบยังเป็นเรื่องที่คนสมัยโบราณให้ความสำคัญ หากเป็นดาบเพื่อใช้ในการศึกสงครามแล้วจะใช้พิธีทางไสยศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง สำหรับพระแสงดาบของพระมหากษัตริย์ จะมีการตกแต่งประดับประดาพระแสงดาบด้วยโลหะ อัญมณีที่มีค่า การสร้างลวดลายต่าง ๆ และการลงสีให้มีความวิจิตรงดงาม เพื่อการใช้เป็นเครื่องประกอบยศ และพระราชทานให้แก่พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ กล่าวได้ว่า ในอดีต พระแสงดาบมีความสำคัญในฐานะที่เป็นราชศัสตราวุธคู่กายของพระมหากษัตริย์ และเป็นอาวุธที่ใช้ในยามศึกสงคราม ต่อมาได้มีการพัฒนาอาวุธที่มีความทันสมัยขึ้น ทำให้พระแสงดาบจึงค่อย ๆ ลดบทบาทลง ในปัจจุบัน พระแสงดาบจึงเป็นเพียงสัญลักษณ์และเครื่องหมายของพระมหากษัตริย์ ที่ใช้ประกอบยศและใช้ประกอบในพระราชพิธีสำคัญ ๆ

ธารพระกร

ธารพระกร เดิมเรียกว่าธารพระกรชัยพฤกษ์

ธารพระกร (อังกฤษ: Royal Staff) เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ หรือเป็นไม้เท้าของพระมหากษัตริย์ ของเดิมทำด้วยไม้ชัยพฤษ์ปิดทอง หัวและสันเป็นเหล็ก คร่ำลายทอง ที่สุดสันเป็นซ่อม ลักษณะเหมือนกับไม้เท้าพระภิกษุที่ใช้ในการชักมหาบังสุกุล เรียกธารพระกรของเดิมนั้นว่าธารพระกรชัยพฤกษ์

ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงสร้างธารพระกรขึ้นใหม่องค์หนึ่งด้วยทองคำ ภายในมีพระแสงเสน่า ยอดมีรูปเทวดา จึงเรียกว่าธารพระกรเทวรูป แต่ที่แท้จริงแล้ว ลักษณะของธารพระกรเทวรูปเป็นพระแสงดาบมากกว่าเป็นธารพระกร แต่ได้ทรงสร้างขึ้นแล้วก็ทรงใช้แทนธารพระกรชัยพฤกษ์ เรื่อยมา ครั้นมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กลับเอาธารพระกรชัยพฤกษ์ออกใช้อีก แล้วทรงยกเลิกการใช้ธารพระกรเทวรูป เพราะทรงพอพระราชหฤทัยในของเก่า ๆ จึงคงใช้ธารพระกรชัยพฤกษ์อยู่สืบต่อมา

แต่เดิมนั้นธารพระกร ยังไม่ได้จัดเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ ต่อมาได้นำทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร แทนพระมหาเศวตฉัตร เนื่องจากขนาดของพระมหาเศวตฉัตร มีความใหญ่โตมาก ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วเบื้องต้น

พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี

พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี

พัดวาลวิชนีและพระแส้จามรี (อังกฤษ: The Royal Fan and The Royal Fly-whisk of the yak's tail) เป็นเครื่องใช้ประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์

พระแส้จามรี มีที่มาจากคำว่าจามร ซึ่งเป็นแส้ทำด้วยขนหางจามรี (the yak's tail) ส่วนวาลวิชนี เดิมนั้นคือพัดใบตาล ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ทรงพระราชดำริถึงชื่อวาลวิชนี นั้น คำว่า "วาล" เป็นขนโคชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่าจามรี (อังกฤษ: Yak, เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย) จึงทรงทำแส้ขนจามรีขึ้น มีด้ามเป็นแก้ว ต่อมา ได้เปลี่ยนขนจามรีเป็นขนหางช้างเผือกแทน และใช้คู่กันกับพัดวาลวิชนี ซึ่งประดิษฐ์จากใบตาล ด้ามและลวดลายประกอบทำด้วยทองลงยา

ฉลองพระบาทเชิงงอน

ฉลองพระบาทเชิงงอน รัชกาลที่ ๑ ทรงให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามแบบประเพณีอินเดียโบราณ

ฉลองพระบาทเชิงงอน (อังกฤษ: The Royal Slippers) คือรองเท้าประจำองค์พระมหากษัตริย์ และเป็นหนึ่งในห้าของเบญจราชกกุธภัณฑ์ ฉลองพระบาทเปรียบเหมือนกับเกือกแก้ว ซึ่งหมายถึง ผืนแผ่นดินอันเป็นที่รองรับของเขาพระสุเมรุ และเป็นที่อยู่อาศัยของอาณาประชาราษฎร์ทั่วทั้งแว่นแคว้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตามแบบประเพณีอินเดียโบราณ ฉลองพระบาทเชิงงอนนี้มีน้ำหนัก ๖๕๐ กรัม ทำด้วยทองคำทั้งองค์ ที่พื้นภายในบุกำมะหยี่ ลวดลายเป็นทองคำสลักประดับพลอยและทองคำลงยาสีแดง เขียว ขาว ลายช่อหางโต ใบเทศ ปลายฉลองพระบาททำงอนขึ้นไป มีส่วนปลายเป็นทรงมณฑป

ในอรรถกถาทสรถชาดก กล่าวถึงพระรามบัณฑิต (เวลาต่อมาคือ พระโคตมพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) เมื่อพระภรตกุมาร ไปวิงวอนพระรามบัณฑิต ในป่าให้กลับมาทรงราชย์นั้น พระรามบัณฑิตไม่ยอมกลับ จึงประทานฉลองพระบาทซึ่งพระภรตกุมารเชิญมาประดิษฐานไว้แทนองค์พระรามบัณฑิตบนราชบัลลังก์แห่งพระนครพาราณสี ตลอดระยะเวลา ๓ ปี

— — ที่มา: อรรถกถา ทสรถชาดก ว่าด้วย ผู้มีปัญญาย่อมไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่เสียไปแล้ว

เนื่องจากเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ถือเป็นของสูงสุดสำหรับพระมหากษัตริย์ จึงเป็นที่เคารพยำเกรงของบุคคลทั่วไป ตามปกติแล้วบุคคลใดที่ไม่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นรายตัว จะมิอาจเอื้อมแตะต้องเลย ถือกันสืบมาอย่างเคร่งครัดว่า จะเป็นอัปมงคลแก่ตนเองและครอบครัว ดังนั้นเจ้าพนักงานที่รักษาและเชิญออกในงานพระราชพิธี จึงล้วนแต่เป็นบุคคลที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเจาะจงเป็นรายตัวมาแล้วทั้งสิ้น

ในอดีตจะมีพิธีสมโภชเครื่องราชูปโภคและเครื่องราชกกุธภัณฑ์เป็นประจำทุกปี โดยเจ้าพนักงานที่รักษาเครื่องราชูปโภค ได้เลือกทำในช่วงเดือน ๖ เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีงานพระราชพิธีค่อนข้างน้อย ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงมีพระราชดำริว่า วันพระบรมราชาภิเษกเป็นวันอันเป็นมหามงคลอย่างสูงยิ่ง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสมโภชพระมหาเศวตฉัตรและเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๔ พระราชทานนามพระราชพิธีนี้ว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มการบำเพ็ญพระราชกุศลถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตราธิราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เปลี่ยนเรียกชื่อพระราชพิธีว่าพระราชกุศลทักษิณานุปทานและพระราชพิธีฉัตรมงคล สืบมาจนถึงปัจจุบัน


พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (อังกฤษ: The Royal Nine-Tiered Umbrella) มาจากศัพท์ นพ คือ เก้า + ปฎล คือ ชั้น + เศวต คือ สีขาว เป็นเศวตฉัตร ๙ ชั้น แบบผ้าขาวกว้าง สำหรับพระมหากษัตริย์ที่ทรงรับพระราชพิธีบรมราชภิเษกตามโบราณราชประเพณีแล้ว ฉัตรแบบนี้เรียกโดยย่อว่าพระมหาเศวตฉัตร มีลักษณะสำคัญคือ เป็นฉัตรผ้าขาว ๙ ชั้น มีระบาย ๓ ชั้น ขลิบทอง แผ่ลวด และมียอด เป็นราชกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ที่สำคัญที่สุด มีที่ใช้คือ ปักที่พระแท่นราชอาสน์ราชบัลลังก์ กางกั้นเหนือพระแท่นที่บรรทม ปักพระยานมาศ และแขวนกางกั้นพระโกศทรงพระบรมศพ เป็นต้น

พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ประดิษฐานเหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหสูรยพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

แต่เดิมพระมหาเศวตฉัตร เคยเป็นเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แต่ด้วยขนาดที่มีความใหญ่โตมาก ไม่เหมาะที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม โดยกำหนดให้เป็นการทูลเกล้าฯ ถวายธารพระกร (คือ ไม้เท้า) แทน ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ตั้งแต่โบราณมา ไทยถือเศวตฉัตร เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด เนื่องจากเศวตฉัตร หมายถึง ความเป็นพระราชามหากษัตริย์เช่นเดียวกับมงกุฎของชาวยุโรป ตามประเพณีของพราหมณ์แต่เดิม หากเป็นเศวตฉัตร ๖ ชั้น อันหมายถึง สวรรค์ ๖ ชั้น ตั้งแต่ชั้นจตุมหาราชิกา จนถึงชั้นปรนิมมิตวสวัตดี ความหมายของฉัตร ๙ ชั้นที่ใช้ในปัจจุบัน หมายถึง ผู้ที่ชนะทั้ง ๘ ทิศ ชั้นล่างสุด หมายถึงพระมหากษัตริย์ที่จะต้องทรงแบกภาระอันใหญ่หลวงในการดูแลประชาชนทั้ง ๘ ทิศ ปัจจุบันมีพระมหาเศวตฉัตร อยู่จำนวน ๖ แห่ง ได้แก่

  • พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท (ท้องพระโรงกลางเหนือพระที่นั่งพุดตานถม)
  • พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท (ท้องพระโรงเหนือพระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก)
  • พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน (เหนือพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ ท้องพระโรง)
  • พระที่นั่งไพศาลทักษิณ (เหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ ท้องพระโรง)
  • พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน (มี ๒ องค์ คือ เหนือพระแท่นราชบรรจถรณ์องค์หนึ่ง และเหนือพระแท่นเครื่องพระสำอาง อีกองค์หนึ่ง)
  • พระที่นั่งอนันตสมาคม (ท้องพระโรงกลางเหนือพระแท่นราชบัลลังก์)

พระมหาวิเชียรมณี

(ภาพขยาย) พระมหาวิเชียรมณี บนยอดพระมหาพิชัยมงกุฎ

พระมหาวิเชียรมณี เป็นเพชรที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำขึ้นประดับบนยอดสูงสุดของพระมหาพิชัยมงกุฎ ที่สร้างมาตั้งแต่เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ ๑) ทำด้วยทองคำลงยาบริสุทธิ์ ประดับเพชร แต่ละชั้นประดับด้วยดอกไม้เพชร เฉพาะองค์พระมหามงกุฎ ไม่รวมพระกรรเจียกจอน สูง ๕๑ ซ.ม.

ในปัจจุบันพระมหาพิชัยมงกุฎ นับเป็นกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: Crown jewels) หนึ่งในห้าอย่างของเครื่องราชกกุธภัณฑ์แห่งประเทศไทย (อังกฤษ: The royal regalia of Thailand) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ (อังกฤษ: The five traditional Royal regalia of Thailand) เมื่อแปลความหมายตามรูปศัพท์แล้วหมายความว่าเครื่องใช้สำหรับพระมหากษัตริย์ ๕ อย่าง มีความสำคัญอย่างยิ่งเพราะเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระราชาธิบดี เป็นของที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กล่าวกันว่า แต่เดิมนั้น องค์พระมหาพิชัยมงกุฎเมื่อแรกสร้างในครั้งรัชกาลที่ ๑ ยอดของพระมหาพิชัยมงกุฎเป็นยอดแหลม ยังไม่มียอดเพชรและยังไม่มีพระกรรเจียกจอนประกอบ และเป็นเช่นนั้นมาโดยตลอดทั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เสริมแต่งพระมหาพิชัยมงกุฎ ให้งดงามและทรงคุณค่ายิ่งขึ้น

ดูบทความหลักที่: พระมหาวิเชียรมณี


จามรี

จามรี มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งในภาษาไทยแต่โบราณว่าชุมพา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย

จามรี (อังกฤษ: Yak, รัสเซีย: як, อักษรจีน: 犛牛, มองโกล: Сарлаг, ฮินดี: याक, ชื่อวิทยาศาสตร์: Bos grunniens) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในวงศ์วัวและควาย (Bovidae) จามรี มีจุดเด่นคือ มีขนที่ยาวมากและละเอียดอ่อน สีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ หรือสีขาว เฉพาะบริเวณสวาบจะมีสีดำห้อยยาวลงมาเกือบถึงพื้น ช่วงเขากว้างมาก หางยาวเป็นพู่ พบกระจายพันธุ์ในเขตเทือกเขาหิมาลัยทางตอนใต้ของเอเชียกลาง ในที่ราบสูงทิเบต และเหนือไปจนถึงมองโกเลียและรัสเซีย ซึ่งเป็นเขตที่มีอากาศหนาวเย็น จามรีที่มีอยู่โดยมากเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็มีจามรีป่าจำนวนหนึ่งที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งปัจจุบันจัดเป็นชนิดย่อยต่างหากเรียกว่า Bos mutus

จามรี เป็นสัตว์ที่มนุษย์ผูกพันมาเป็นระยะเวลายาวนาน โดยเฉพาะชนพื้นเมือง เช่น ชาวทิเบต ชาวภูฏาน ชาวเชอร์ปา เป็นต้น ด้วยการเลี้ยงในฐานะปศุสัตว์ มีการบริโภคเนื้อและนมของจามรีเป็นอาหาร อีกทั้งขนของจามรีก็ใช้เป็นเครื่องนุ่มห่ม และเป็นสัตว์พาหนะ ซึ่งจามรีสามารถที่จะบรรทุกสิ่งของที่มีน้ำหนักและเป็นพาหนะในการเดินขึ้นเขาหรือที่ราบสูงได้เป็นอย่างดี จามรีเป็นสัตว์ค่อนข้างเชื่อง แต่มักจะตื่นกลัวคนแปลกหน้า จามรีในธรรมชาติ เมื่อพบกับศัตรูหรือผู้คุกคามจะหันบั้นท้ายมาชนกัน จะตีวงล้อมลูกอ่อนหรือจามรีวัยอ่อนให้อยู่ตรงกลาง เพื่อป้องกัน

จามรีกับวัฒนธรรมไทย

จามรีเลี้ยง (อังกฤษ: Domestic yak) ในประเทศเนปาล ให้สังเกตหางซึ่งเหมือนของม้า มากกว่าเป็นพุ่ม ๆ เหมือนของวัว ขนหางสีขาวนี้เองที่นำมาใช้ทำพระแส้หางจามรี เป็นหนึ่งในห้าเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ 

ในวัฒนธรรมไทย ขนหางจามรีสีขาวใช้ทำเป็นแส้ที่เรียกว่าพระแส้หางจามรี (โดยส่วนมากแล้วจะเห็นวางเป็นคู่กับพัดวาลวิชนี ) เป็นหนึ่งในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก นอกจากนี้แล้ว จามรียังมีอีกชื่อเรียกหนึ่งในภาษาไทยแต่โบราณว่าชุมพา

จามรีกับศาสนาพุทธ

คัมภีร์ชั้นพระไตรปิฎกและอรรถกถาของพระพุทธศาสนา กล่าวถึงจามรีในหลายเรื่อง ดังนี้

พระพุทธเจ้าทรงห้ามใช้แส้จามรีสำหรับพระภิกษุ โดยมีต้นเรื่องว่า แส้จามรีบังเกิดแก่สงฆ์ ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงใช้แส้จามรี รูปใดใช้ ต้องอาบัติทุกกฏ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตพัด ๓ ชนิด คือ พัดทำด้วยปอ ๑ พัดทำด้วยแฝก ๑ พัดทำด้วยขนปีกขนหางนกยูง ๑.

— — ที่มา: พระวินัยปิฎก จุลวรรค ขุททกวัตถุขันธกะ เรื่องพัด

มีการกล่าวให้บุคคลตามรักษาศีล เหมือนกับจามรีตามรักษาขนหางของตน คือ

นกต้อยตีวิดรักษาฟองไข่ฉันใด จามรีรักษาขนหางฉันใด ผู้มีบุตรคนเดียวรักษาบุตรผู้เป็นที่รักฉันใด ผู้มีนัยน์ตาข้างเดียว รักษานัยน์ตาที่ยังเหลืออีกข้างฉันใด ท่านทั้งหลายจงตามรักษาศีลเหมือนฉันนั้นทีเดียว จงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รักด้วยดี มีความเคารพ ทุกเมื่อเถิด ดังนี้

— — ที่มา: สุมังคลวิลาสินี อรรถกถาทีฆนิกาย ศีลขันธวรรค พรหมชาลสูตร

มีการกล่าวถึงว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตามรักษาท่านพระราหุลและพระภิกษุอื่น เหมือนกับจามรีตามรักษาขนหางของตน คือ

พระตถาคตผู้มีพระปัญญาเฉลียวฉลาด ทรงสมบูรณ์ด้วยศีล ทรงรักษาเราเหมือนนกต้อยตีวิดรักษาพืชพันธุ์ เหมือน เนื้อจามรีรักษาขนหางสูงสุดฉะนั้น

— — ที่มา: ปปัญจสูทนี อรรถกถามัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ อัมพลัฏฐิกราหุโลวาทสูตร

พระมหาโมคคัลลานะกล่าวอุปมาการแทงตลอดขันธ์ ๕ ว่า

เป็นเหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศร ชนเหล่าใดพิจารณาเห็นเบญจขันธ์ โดยความเป็นของแปรปรวน และโดยไม่ใช่ตัวตน ชนเหล่านั้นชื่อว่า แทงตลอดธรรมอันละเอียด เหมือนนายขมังธนูยิงขนทรายจามรีถูกด้วยลูกศรฉะนั้น

— — ที่มา: พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา มหาโมคคัลลานเถรคาถา

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา