องค์พระปฐมเจดีย์ (เดิมเรียกว่าพระธมเจดีย์ ) พระเจดีย์ใหญ่รูประฆังคว่ำ อยู่ภายในวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จังหวัดนครปฐม

ศาสนาพุทธเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า ศาสนาพุทธเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดยพระโสณะ และพระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยดังต่อไปนี้

สมัยทวารวดี

ศาสนาพุทธที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการบูชา เรียกว่าสถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจี ในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่าศิลปะทวารวดี

สมัยอาณาจักรอ้ายลาว

สมัยอาณาจักรอ้ายลาว ซึ่งเป็นอาณาจักรของบรรพบุรุษชาวไทยที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำแยงซีเกียง ซึ่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การยึดครองของชาวจีนฮั่น ศาสนาพุทธในยุคนี้คาดว่าเป็นแบบมหายาน ในสมัยขุนหลวงม้าว กษัตริย์ที่ทรงครองราชย์อยู่ในอาณาจักรอ้ายลาว ก่อนที่จะอพยพเข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทยในปัจจุบัน ได้รับเอาศาสนาพุทธนิกายมหายาน โดยการนำของพระสมณทูตชาวอินเดียมาเผยแผ่ ในคราวที่พระเจ้ากนิษกะมหาราชทรงอุปถัมภ์การสังคายนาครั้งที่ ๔ ของฝ่ายมหายาน ณ เมืองชลันธร พระสมณทูตได้เข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนาในเอเชียกลาง ทำให้หัวเมืองไทยทั้ง ๗๗ มีราษฎร ๕๑,๘๙๐ ครอบครัว เปลี่ยนมานับถือพุทธศาสนาแบบมหายานแทนเถรวาท

สมัยอาณาจักรศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๓)

อาณาจักรศรีวิชัยในเกาะสุมาตราเจริญรุ่งเรืองในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ กษัตริย์ศรีวิชัยมีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น ดังหลักฐานที่ปรากฏ ได้แก่ เจดีย์พระบรมธาตุไชยา เจดีย์โบโรพุทโธ รูปหล่อพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร รวมถึงหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมากซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปในดินแดนสุวรรณภูมิ

สมัยลพบุรี (พุทธศตวรรษที่ ๑๕)

พระปรางค์สามยอด โบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ลักษณะเป็นปราสาทขอมในศิลปะบายน โครงสร้างเป็นศิลาแลงประดับปูนปั้น สร้างขึ้นในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗

ในสมัยกษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมันเรืองอำนาจนั้น ได้แผ่อาณาเขตขยายออกมาทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางของประเทศไทย ในราว พ.ศ. ๑๕๔๐ และได้ตั้งราชธานีเป็นที่อำนวยการปกครองเมืองต่าง ๆ ในดินแดนดังกล่าวขึ้นหลายแห่ง เช่น

  • เมืองลพบุรี ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวารวดี ส่วนข้างใต้
  • เมืองสุโขทัย ปกครองเมืองที่อยู่ในอาณาเขตทวารวดี ส่วนข้างเหนือ
  • เมืองศรีเทพ ปกครองหัวเมืองที่อยู่ตามลุ่มแม่น้ำป่าสัก
  • เมืองพิมาย ปกครองเมืองที่อยู่ในที่ราบสูงตอนข้างเหนือ

เมืองต่าง ๆ ที่ตั้งขึ้นนี้ เมืองลพบุรี หรือ ละโว้ ถือว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด กษัตริย์กัมพูชาราชวงศ์สุริยวรมัน ทรงนับถือพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมต่อมาจากอาณาจักรศรีวิชัย แต่ฝ่ายมหายานในสมัยนี้ผสมกับศาสนาพราหมณ์มาก ประชาชนในอาณาเขตต่าง ๆ ดังกล่าว จึงได้รับพุทธศาสนาทั้งแบบเถรวาทที่สืบมาแต่เดิม กับแบบมหายานและศาสนาพราหมณ์ที่เข้ามาใหม่ด้วย ทำให้มีผู้นับถือพุทธศาสนาทั้ง ๒ แบบ และมีพระสงฆ์ทั้งสองฝ่าย คือ ฝ่ายเถรวาท และฝ่ายมหายาน สำหรับศาสนสถานที่เป็นที่ประจักษ์พยานให้ได้ศึกษาถึงความเป็นมาแห่งพุทธศาสนาในประเทศไทยครั้งนั้น ได้แก่พระปรางค์สามยอดที่จังหวัดลพบุรี ปราสาทหินพิมาย ที่จังหวัดนครราชสีมา และปราสาทหินเขาพนมรุ้งที่จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นต้น ส่วนพระพุทธรูปที่สร้างในสมัยนั้นถือเป็นศิลปะอยู่ในกลุ่ม ศิลปสมัยลพบุรี

สมัยเถรวาทแบบพุกาม

ทะเลเจดีย์ที่เมืองพุกาม (อังกฤษ: Bagan) ดินแดนแห่งเจดีย์สี่พันองค์ เคยเป็นที่ตั้งอาณาจักรโบราณพุกาม (พ.ศ. ๑๕๘๗ - พ.ศ. ๑๘๓๐) หลักฐานความเจริญรุ่งเรืองของศาสนาพุทธเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์ แห่งดินแดนพม่าในอดีต

ในสมัยที่พระเจ้าอนุรุทธิ์มหาราช กษัตริย์พุกามเรืองอำนาจ ทรงรวบรวมเอาพม่ากับมอญเข้าเป็นอาณาจักรเดียวกัน แล้วแผ่อาณาเขตเข้ามาถึงอาณาจักรล้านนา อาณาจักรล้านช้าง ละโว้ และทวารวดี พระเจ้าอนุรุทธทรงนับถือพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ทรงส่งเสริมทำนุบำรุงพุทธศาสนาอย่างจริงจัง

ส่วนชนชาติไท หลังจากอาณาจักรอ้ายลาวถูกจีนทำลายจนพินาศ ก็ได้มาตั้งอาณาจักรน่านเจ้า ถึงประมาณ พ.ศ. ๑๒๙๙ ขุนท้าวกวาโอรสขุนบรมแห่งอาณาจักรน่านเจ้า ได้สถาปนาแคว้นโยนกเชียงแสนขึ้น ต่อมาอาณาจักรน่านเจ้าได้ถูกจีนแทรกซึมเข้าทำลายจนพินาศอีกครั้ง ซึ่งในคราวนี้ผู้ปกครองของจีนได้ใช้วิธีแบ่งชาวไทออกเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยแล้วผลักดันออกไปคนละทิศละทาง และนับแต่นั้นเป็นต้นมาชาวไทก็ได้แตกสานซ่านเซ็นจนรวมกันไม่ติดอยู่จนถึงวันนี้ คือ ทางตะวันตกได้ถูกจีนผลักดันจนแตกกระจัดพลัดพรายไปถึงอัสสัม (อยู่ทางภาคตะวันออกของอินเดียในปัจจุบัน) ส่วนทางตะวันออกก็กระจัดกระจายไปถึงกวางสี หูหนาน เกาะไหหลำ รวมถึงตอนเหนือของประเทศเวียดนามในปัจจุบัน ส่วนทางใต้นั้นก็ได้แก่ประชากรในประเทศต่างๆ ทางเอเชียอาคเนย์ปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเทศลาวและไทย

เมื่อกษัตริย์ขอม (กัมพูชา) เรืองอำนาจ คนไทยที่อยู่ในเขตอำนาจของขอม ก็ได้รับทั้งศาสนาและวัฒนธรรมของเขมรไว้ด้วย ส่วนทางล้านนาก็ได้รับอิทธิพลจากพม่าเช่นเดียวกัน คือ เมื่ออาณาจักรพุกามของกษัตริย์พม่าเข้ามาครอบครองดินแดนแถบนี้ ดังเห็นว่ามีปูชนียสถานแบบพม่าหลายแห่ง และเจดีย์ที่มีฉัตรอยู่บนยอด และฉัตรที่ ๔ มุมของเจดีย์ ก็ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะพุกามแบบพม่า

สมัยกรุงสุโขทัย

พระพุทธชินราช สร้างในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ ได้รับการยกย่องว่ามีความงดงามเป็นเลิศ ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วิหารด้านตะวันตกในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก

หลังจากอาณาจักรพุกามและกัมพูชาเสื่อมอำนาจลง คนไทยจึงได้ตั้งตัวเป็นอิสระ ได้ก่อตั้งอาณาจักรขึ้นเอง ๒ อาณาจักร ได้แก่ อาณาจักรล้านนาทางภาคเหนือของไทย ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่และอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยในปัจจุบัน เมื่อพ่อขุนรามคำแหงมหาราชเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสดับกิตติศัพท์ของพระสงฆ์ลังกา จึงทรงอาราธนาพระมหาเถระสังฆราช ซึ่งเป็นพระเถระชาวลังกาที่มาเผยแผ่อยู่ที่นครศรีธรรมราช มาเผยแผ่พุทธศาสนาในกรุงสุโขทัย

พุทธศาสนาแบบลังกาวงศ์ได้เข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ถึง ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และครั้งที่ ๒ ในสมัยพระยาลิไท ศาสนาพุทธเจริญรุ่งเรืองมาก ศิลปะสมัยสุโขทัยได้รับการกล่าวขานว่างดงามมาก โดยเฉพาะพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีลักษณะงดงาม ไม่มีศิลปะสมัยใดเหมือน

สมัยล้านนา

ปี พ.ศ. ๑๘๓๙ พญามังราย ทรงสร้างราชธานีขึ้น ชื่อว่า "นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่" ได้ตั้งถิ่นฐาน ณ ลุ่มแม่น้ำปิง ได้สร้างเมือง สร้างวัง และวัดขึ้น ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา ได้สร้างวัดต่าง ๆ มากมาย ทั้งที่เป็นฝ่ายคามวาสี และอรัญญวาสี จนพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง เมืองต่าง ๆ ในอาณาจักรล้านนา เช่น เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน และพะเยา ต่างก็มีความเจริญรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิธีกรรมและความเชื่อทางพุทธศาสนามีอิทธิพลต่อชาวล้านนาอย่างมาก ในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ ได้ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในดินแดนประเทศไทยปัจจุบันขึ้น ณ วัดมหาโพธาราม (วัดเจ็ดยอด) เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ในสมัยล้านนา ได้เกิดมีพระเถระนักปราชญ์ชาวล้านนาหลายรูป ท่านเหล่านั้นได้รจนาคัมภีร์สำคัญทางพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ได้แก่ พระสิริมังคลาจารย์ พญาณกิตติเถระ พระรัตนปัญญา พระโพธิรังษี พระนันทาจารย์ และพระสุวรรณรังสี

สมัยกรุงศรีอยุธยา

พระเจดีย์ใหญ่ ๓ องค์ ภายในวัดพระศรีสรรเพชญ์ วัดหลวงในพระราชวังโบราณอยุธยา ไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา ซึ่งเป็นต้นแบบของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร

ศาสนาพุทธในสมัยอยุธยานั้นมีความเป็นฮินดูปนอยู่ค่อนข้างมาก พิธีกรรมต่างๆ ได้ปะปนพิธีของพราหมณ์มากกว่าที่ใดๆ ราษฎรอยุธยามุ่งในเรื่องการบุญการกุศล สร้างวัดวาอาราม สร้างปูชนียวัตถุ บำรุงศาสนาเป็นส่วนมาก ในสมัยอยุธยาต้องประสบกับภาวะสงครามกับพม่า จนเกิดภาวะวิกฤตทางศาสนาหลายครั้ง ประวัติศาสตร์อยุธยาแบ่งเป็น ๔ ช่วง ได้แก่

วัดพระพุทธบาทสระบุรี หรือวัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร ในปัจจุบัน เหตุที่มีชื่อนี้เป็นเพราะมีการสืบหาจนพบรอยพระพุทธบาท ที่เมืองสระบุรี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม หลังจากนั้น พระมหากษัตริย์แทบทุกพระองค์ทรงทำนุบำรุงและเสด็จไปนมัสการตลอดมา นับตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์

  • สมัยอยุธยาช่วงแรก (พ.ศ. ๑๙๙๑ - พ.ศ. ๒๐๓๑)
  • ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยความสงบร่มเย็น ทรงทำนุบำรุงพุทธศาสนา ผนวชเป็นเวลา ๘ เดือน เมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๘ และทรงให้พระราชโอรสกับพระราชนัดดาผนวชเป็นสามเณรด้วย สันนิษฐานว่าเป็นการเริ่มต้นของประเพณีการบวชเรียนของเจ้านายและข้าราชการ ในรัชสมัยของพระองค์ ได้มีการรจนาหนังสือมหาชาติคำหลวง ในปี พ.ศ. ๒๐๒๕
  • สมัยอยุธยาช่วงที่สอง ( พ.ศ. ๒๐๓๑ - พ.ศ. ๒๑๗๓)
  • สมัยนี้ได้มีความนิยมในการสร้างวัดขึ้น ทั้งกษัตริย์และประชาชนทั่วไป นิยมสร้างวัดประจำตระกูล ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ได้พบพระพุทธบาท ที่เมืองสระบุรี ทรงให้สร้างมณฑปครอบพระพุทธบาทไว้ และโปรดให้ชุมชนราชบัณฑิตแต่งกาพย์มหาชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๑๗๐ และโปรดให้สร้างพระไตรปิฎก ด้วย
  • สมัยอยุธยาช่วงที่สาม (พ.ศ. ๒๑๗๓ - พ.ศ. ๒๒๗๕)
  • พระมหากษัตริย์ที่มีพระนามยิ่งใหญ่ที่สุดในศตวรรษนี้ ได้แก่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช พระองค์ทรงมีบทบาทอย่างมากทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและศาสนจักร ทรงส่งเสริมพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า สมัยนี้ฝรั่งเศสได้เข้ามาติดต่อกับไทย และได้พยายามเผยแผ่คริสต์ศาสนา และอาจทูลขอให้พระนารายณ์เข้ารีต แต่พระองค์ทรงมั่นคงในพุทธศาสนา มิชชันนารี่ฝรั่งเศสจึงต้องผิดหวังไป
  • สมัยอยุธยาช่วงที่สี่ (พ.ศ. ๒๒๗๕ - พ.ศ. ๒๓๑๐)
  • พระมหากษัตริย์ที่ทรงมีบทบาทมากในยุคนี้ ได้แก่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เสวยราช เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๕ การบวชเรียนกลายเป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาถึงยุคหลัง ถึงกับกำหนดให้ผู้ที่จะเป็นขุนนาง มียศถาบรรดาศักดิ์ต้องเป็นผู้ที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น จึงจะทรงแต่งตั้งตำแหน่งหน้าที่ให้ ในสมัยนี้ได้ส่งพระภิกษุเถระชาวไทยไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกาตามคำทูลขอของกษัตริย์ลังกา เมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๖ จนทำให้พุทธศาสนากลับเจริญรุ่งเรืองในลังกาอีกครั้ง จนถึงปัจจุบัน และเกิดนิกายของคณะสงฆ์ไทยขึ้นในลังกา ชื่อว่านิกายสยามวงศ์ นิกายนี้ยังคงมีอยู่ถึงปัจจุบัน

สมัยกรุงธนบุรี

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต เป็นพระพุทธรูปที่แกะสลักจากหยกอ่อนเนไฟรต์สีเขียวดังมรกต เป็นพระพุทธรูปสกุลศิลปะเชียงแสน ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร

ในยุคนี้นับเป็นยุคแห่งความเสื่อมของพุทธศาสนาอีกสมัยหนึ่ง คือนับแต่พระยาตาก (สิน) ได้ชักนำคนไทยเชื้อสายจีนหนีฝ่าทัพพม่าออกจากกำแพงพระนครศรีอยุธยาจนกรุงศรีอยุธยาถูกพม่าตีแตกในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ แล้ว พม่าได้ทำลายบ้านเมืองจนเสียหายย่อยยับ ล้างผลาญชีวิตคน ปล้นเอาทรัพย์สินมีค่าทั้งหมด กวาดต้อนประชาชนไปเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามถูกเผาทำลาย ครั้นต่อมาพระยาตาก (สิน) ได้สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์และตั้งราชธานีใหม่ คือกรุงธนบุรี แล้วได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนา และได้ชำระวงการศาสนาใหม่ ลงโทษสมณะที่กระทำความชั่วอันไม่สมกับความเป็นสมณะ ด้วยวิธีการต่างๆ เมื่อเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ ในปีพ.ศ. ๒๓๒๒ เจ้าพระยาจักรี ก็ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต จากเวียงจันทน์ มาไว้ยังประเทศไทยด้วยเช่นกัน

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (บ้างก็เรียกว่าวัดเสาชิงช้า ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๐

รัชกาลที่ ๑ (พ.ศ. ๒๓๒๕ - พ.ศ. ๒๓๕๒)

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๕ ต่อจากพระเจ้าตากสิน ได้ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรี มาตั้งราชธานีใหม่ เรียกชื่อว่า

กรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์

ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ เช่น วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดสุทัศน์เทพวราราม วัดสระเกศ และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นต้น โปรดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๙ และถือเป็นครั้งที่ ๒ ในดินแดนประเทศไทยปัจจุบัน ณ วัดมหาธาตุ ทรงตรากฎหมายคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อจัดระเบียบการปกครองของสงฆ์ให้เรียบร้อย ทรงจัดให้มีการสอบพระปริยัติธรรม ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยสถาปนาพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๒

รัชกาลที่ ๒ (พ.ศ. ๒๓๕๒ - พ.ศ. ๒๓๖๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒ เป็นทรงทำนุบำรุงส่งเสริมพุทธศาสนาเหมือนอย่างพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในรัชสมัยของพระองค์ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์ คือสมเด็จพระสังฆราช (มี), สมเด็จพระสังฆราช (สุก) และสมเด็จพระสังฆราช (สอน)

พระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก เป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ เล่ากันว่าหุ่นพระพักตร์ปั้นโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และที่ฐานของพระพุทธรูป ยังเป็นที่ประดิษฐานพระบรมอัฐิของพระองค์อีกด้วย

ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗ ทรงจัดส่งสมณทูต ๘ รูป ไปฟื้นฟูพุทธศาสนาในประเทศลังกา ได้จัดให้มีการจัดงานวันวิสาขบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๐ ซึ่งแต่เดิมก็เคยปฏิบัติถือกันมาเมื่อครั้งกรุงสุโขทัย แต่ได้ขาดตอนไปตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า จึงได้มีการฟื้นฟูวันวิสาขบูชาใหม่ ได้โปรดให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขวิธีการสอบไล่ปริยัติธรรมขึ้นใหม่ ได้ขยายหลักสูตร ๓ ชั้น คือ เปรียญตรี - โท - เอก และหลักสูตร ๙ ชั้น คือ ชั้นประโยค ๑ - ๙

รัชกาลที่ ๓ (พ.ศ. ๒๓๖๗ - พ.ศ. ๒๓๙๔)

พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการสร้างพระไตรปิฎกฉบับหลวงเพิ่มจำนวนขึ้นไว้อีกหลายฉบับครบถ้วนกว่ารัชกาลก่อนๆ โปรดให้แปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามหลายแห่งและสร้างวัดใหม่ คือ วัดเทพธิดาราม วัดราชราชนัดดา และวัดเฉลิมพระเกียรติ ได้ตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อสอนหนังสือไทยแก่เด็กในสมัยนี้ได้เกิดนิกายธรรมยุติขึ้น โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ) ขณะที่ผนวชอยู่ได้ทรงศรัทธาเลื่อมใสในจริยาวัตรของพระมอญ ชื่อซาย ฉายาพุทฺธวํโส จึงได้ทรงอุปสมบทใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๒ ได้ตั้งคณะธรรมยุติขึ้นในปี พ.ศ. ๒๓๗๖ แล้วเสด็จมาประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร และตั้งเป็นศูนย์กลางของคณะธรรมยุติ

รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ. ๒๓๙๔ - พ.ศ. ๒๔๑๑)

พระธมเจดีย์ (ชื่อเดิมขององค์พระปฐมเจดีย์) ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ทรงพระราชทานนามใหม่ว่าพระปฐมเจดีย์

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ ได้ทรงผนวช ๒๗ พรรษา แล้วได้ลาสิกขาขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุ ๕๗ พรรษา ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ด้านการพระศาสนา ทรงพระราชศรัทธาสร้างวัดใหม่ขึ้นหลายวัด เช่น วัดปทุมวนาราม วัดโสมนัสวิหาร วัดมกุฏกษัตริยาราม วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม และวัดราชบพิธ เป็นต้น ตลอดจนบูรณะวัดต่างๆ อีกมาก โปรดให้มีพระราชพิธีมาฆบูชา ขึ้นเป็นครั้งแรก ใน พ.ศ. ๒๓๙๔ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนได้ถือปฏิบัติสืบมาจนถึงทุกวันนี้

รัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑ - พ.ศ. ๒๔๕๓)

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ทรงสร้างวัดใหม่ขึ้น คือ วัดราชบพิตร วัดเทพศิรินทราวาส วัดเบญจมบพิตร วัดอัษฎางนิมิตร วัดจุฑาทิศราชธรรมสภา และวัดนิเวศน์ธรรมประวัติ ทรงบูรณะวัดมหาธาตุ และวัดอื่นๆ อีก ทรงนิพนธ์วรรณกรรมทางพุทธศาสนาจำนวนมาก โปรดให้มีการเริ่มต้นการศึกษาแบบสมัยใหม่ในประเทศไทย โดยให้พระสงฆ์รับภาระช่วยการศึกษาของชาติ

  • พ.ศ. ๒๔๑๔ โปรดให้จัดการศึกษาแก่ประชาชนในหัวเมือง โดยจัดตั้งโรงเรียนในหัวเมืองขึ้น
  • พ.ศ. ๒๔๒๗ ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับราษฎรขึ้นเป็นแห่งแรก ณ วัดมหรรณพาราม
  • พ.ศ. ๒๔๓๒ โปรดให้ย้ายที่ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณร จากในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ออกมาเป็นบาลีวิทยาลัย ชื่อมหาธาตุวิทยาลัย ที่วัดมหาธาตุ
  • พ.ศ. ๒๔๓๕ มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกรมธรรมการเป็นกระทรวงธรรมการ (กระทรวงศึกษาธิการปัจจุบัน) โปรดให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยอักษรไทย จบละ ๓๙ เล่ม จำนวน ๑,๐๐๐ จบ
  • พ.ศ. ๒๔๓๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดตั้ง "มหามกุฏราชวิทยาลัย " ขึ้น เพื่อเป็นแหล่งศึกษาพุทธศาสนาแก่พระภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุตินิกาย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเปิดในปีเดียวกัน
  • พ.ศ. ๒๔๓๙ ได้ประกาศเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย เป็นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นที่ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูงของพระภิกษุสามเณร

รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ. ๒๔๕๓ - พ.ศ. ๒๔๖๘)

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง

  • พ.ศ. ๒๔๕๔ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนวิธีการสอบบาลีสนามหลวงจากปากเปล่ามาเป็นข้อเขียน เป็นครั้งแรก
  • พ.ศ. ๒๔๕๖ โปรดให้ใช้ พุทธศักราช (พ.ศ.) แทน ร.ศ.
  • พ.ศ. ๒๔๖๒ - พ.ศ. ๒๔๖๓ โปรดให้พิมพ์คัมภีร์อรรถกถาแห่งพระไตรปิฎกและอรรถกถาชาดก และคัมภีร์อื่นๆ เช่น วิสุทธิมรรค คัมภีร์มิลินทปัญหา เป็นต้น
  • พ.ศ. ๒๔๖๙ ทรงเริ่มการศึกษาพระปริยัติธรรมใหม่ขึ้นอีกหลักสูตรหนึ่ง เรียกว่า "นักธรรม " โดยมีการสอบครั้งแรกเมื่อ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ ตอนแรกเรียกว่า "องค์ของสามเณรรู้ธรรม "

รัชกาลที่ ๗ (พ.ศ. ๒๔๖๘ - พ.ศ. ๒๔๗๗)

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้มีการทำสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นการสังคายนาครั้งที่ ๓ ในเมืองไทย แล้วทรงจัดให้พิมพ์พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ ชุดละ ๔๕ เล่ม จำนวน ๑,๕๐๐ ชุด และพระราชทานแก่ประเทศต่างๆ ประมาณ ๕๐๐ ชุด โปรดให้ย้ายกรมธรรมการกลับเข้ามารวมกับกระทรวงศึกษาธิการ และเปลี่ยนชื่อกระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงธรรมการอย่างเดิม โดยมีพระราชดำริว่า "การศึกษาไม่ควรแยกออกจากวัด " ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงธรรมการประกาศเพิ่มหลักสูตรทางจริยศึกษาสำหรับนักเรียน ได้เปิดให้ฆราวาสเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม โดยจัดหลักสูตรใหม่ เรียกว่า "ธรรมศึกษา "

ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๗ ได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งยิ่งใหญ่ของไทย เมื่อคณะราษฎร ได้ทำการปฏิวัติ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘

รัชกาลที่ ๘ (พ.ศ. ๒๔๗๗ - พ.ศ. ๒๔๘๙)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๘ ในขณะมีพระชนมายุ เพียง ๙ พรรษาเท่านั้น และยังกำลังทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ จึงมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในด้านการศาสนาได้มีการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาไทย แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

๑. พระไตรปิฎกแปลโดยอรรถ พิมพ์เป็นเล่มสมุด ๘๐ เล่ม เรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย แต่ไม่เสร็จสมบูรณ์ และได้ทำต่อจนเสร็จเมื่องานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐
๒. พระไตรปิฎกแปลโดยสำนวนเทศนา พิมพ์ใบลาน แบ่งเป็น ๑๒๕๐ กัณฑ์ เรียกว่าพระไตรปิฎกฉบับหลวง เสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒

  • พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้เปลี่ยนชื่อกระทรวงธรรมการ เป็นกระทรวงศึกษาธิการ และกรมธรรมการเปลี่ยนเป็นกรมการศาสนา และในปีเดียวกัน รัฐบาลได้ออก พ.ร.บ. คณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม เพื่อให้การปกครองคณะสงฆ์มีความสอดคล้องเหมาะสมกับการปกครองแบบใหม่
  • พ.ศ. ๒๔๘๘ มหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๖ ได้ประกาศตั้งเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ ชื่อ "สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย " เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม
  • พ.ศ. ๒๔๙๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ถูกลอบปลงพระชนม์ เนื่องด้วยความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน
  • พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นรัชกาลที่ ๙

รัชกาลที่ ๙ (พ.ศ. ๒๔๘๙ - พ.ศ. ๒๕๕๙)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงจับเบ้าเททองหล่อพระเครื่องสำหรับใช้ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือพุทธชยันตี ๒๕๐๐ ปี เรียกว่า "พระฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ " ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (พระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย)

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๙ สืบต่อมา มีพระราชศรัทธาในพุทธศาสนา และทรงเป็นศาสนูปถัมภก ทรงให้การอุปถัมภ์แก่ทุกศาสนา ทรงสร้างวัดแห่งหนึ่งที่จังหวัดชลบุรี และทรงปกครองบ้านเมืองโดยสงบร่มเย็น ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๙ ได้มีการส่งเสริมพุทธศาสนาด้านต่างๆ มากมาย ดังนี้

  • พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งเป็นปีครบรอบ ๒,๕๐๐ ปีที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน วันที่ ๑๒-๑๘ พฤษภาคม รัฐบาลได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งอินเดียและลังกาเรียกว่า "พุทธชยันตี" โดยกำหนดให้วันที่ ๑๒-๑๔ พฤษภาคม เป็นวันหยุดราชการ ศาลาพิธีตั้งอยู่กลางท้องสนามหลวง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จฯ เป็นองค์ประธานเปิดงาน มีผู้แทนจาก ๑๓ ประเทศเข้าร่วม มีพระสงฆ์ ๒,๕๐๐ รูป เจริญพระพุทธมนต์พร้อมกันดังกังวานก้องไปทั่วทุกทิศ และมีการเชิญชวนพุทธศาสนิกชนรักษาศีลห้าหรือศีลแปด ตลอด ๗ วัน ๗ คืน
  • รัฐบาลได้กำหนดพิธีเฉลิมฉลองทั่วประเทศ มีการจัดสร้างพุทธมณฑล ขึ้น ณ ที่ดิน ๒,๕๐๐ ไร่ ระหว่างกรุงเทพ-นครปฐม แล้วสร้างพระมหาพุทธปฏิมาปางประทับยืนลีลาสูง ๒๕๐๐ นิ้ว ภายในบริเวณรอบองค์พระมีภาพจำลองพระพุทธประวัติ และมีพิพิธภัณฑ์ทางพุทธศาสนา ได้ปลูกต้นไม้ที่มีชื่อในพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ ต้นไทร เป็นต้น สร้างพระพิมพ์ปางลีลาเป็นเนื้อชินและเนื้อผงจำนวน ๔,๘๔๒,๕๐๐ องค์ พิมพ์พระไตรปิฎกแปลจากภาษาบาลีเป็นภาษาไทยออกเผยแพร่ และบูรณะปูชนียสถานวัดวาอารามทั่วพระราชอาณาจักร อุปสมบทพระภิกษุจำนวน ๒,๕๐๐ รูป และนิรโทษกรรมแก่นักโทษ มีการประกวดวรรณกรรม และศิลปะทางพุทธศาสนา โดยเชิญผู้แทนพุทธศาสนิกชนทั่วโลกมาร่วมอนุโมทนา

ดูบทความหลักที่: งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ

กระบวนอิสริยยศอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุหลวง จากพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง

  • พ.ศ. ๒๕๕๕ รัฐบาลได้กำหนดพิธีฉลองพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ เป็นเทศกาลสำคัญทางพุทธศาสนาเถรวาท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยให้มีลักษณะเช่นเดียวกับการจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการจัด โดยที่ประชุมมีมติร่วมกันดังนี้
    • ใช้ชื่อว่า “งานฉลองสัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของ พระพุทธเจ้า
    • รัฐบาลและคณะสงฆ์ไทยโดยมหาเถรสมาคม เป็นผู้รับผิดชอบการจัดงาน
    • ใช้งบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล
    • การจัดงานแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ ด้านการปฏิบัติบูชา ด้านวิชาการ และด้านกิจกรรมเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม
    • ระยะเวลาจัดงานในช่วงสัปดาห์เทศกาลวิสาขบูชา ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๕ ตั้งแต่วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๕ - วันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๕ รวม ๗ วัน
    • ให้มีธงสัญลักษณ์ “งานฉลอง สัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ” เพื่อให้ทุกวัดทั้งในและต่างประเทศใช้ประดับบริเวณวัดและสถานที่เหมาะสม

ดูบทความหลักที่: พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕

ในปัจจุบันนี้มีประชากรไทยนับถือพุทธศาสนามากกว่าร้อยละ ๙๔ และมีพุทธศาสนิกชนมากเป็นอันดับ ๔ ของโลก (รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ตามลำดับ)

มหายาน

ดูบทความหลักที่: มหายาน

แรกเริ่มนั้นประเทศไทยก็เคยมีนิกายมหายานมาช้านาน ซึ่งได้รับอิทธิพลทั้งอาณาจักรศรีวิชัยซึ่งมีอิทธิพลทางตอนใต้ของประเทศและจักรวรรดิขอมซึ่งมีอิทธิพลทางตอนกลางและตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ และมีหลักฐานอย่างชัดเจนเช่น เทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรครึ่งซึ่งขุดพบที่อำเภอไชยา สุราษฎร์ธานี เทวรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ปราสาทเมืองสิงห์ อำเภอไทรโยค กาญจนบุรี หรือพระพิมพ์ดินดิบต่างๆ ที่มีศิลปะขอมหรือศรีวิชียที่พบได้ในแหล่งโบราณคดีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ๒ อาณาจักรนี้

หลังจากที่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาถนิกายลังกาวงศ์ ได้เผยแพร่แล้ว บวกกับการนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทดั้งเดิมก่อนนิกายมหายานจะมีอิทธิพลในสมัยนั้น จึงทำให้ความนิยมของนิกายมหายานเสื่อมถอยลงและสาปสูญไป จนต่อมาในยุคธนบุรี ชาวญวณ ได้อพยพจากเวียดนามเนื่องจากเกิดสงครามมา (ต่อมาได้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้นนั่นก็คือคณะสงฆ์อนัมนิกาย แห่งประเทศไทย ในอาณาจักรรัตนโกสินทร์) และต่อมาใน อาณาจักรรัตนโกสินทร์ ก็มีชาวจีนได้อพยพมาก็เนื่องจากสงคราม และได้ตั้งคณะสงฆ์ขึ้น ชื่อว่าจีนนิกาย จวบจนปัจจุบัน