วันพระ คือ วันที่มีการทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังธรรมเทศนา สนทนาธรรม ละเว้นความชั่ว ละเว้นอบายมุขต่างๆ รักษาศีล นั่งสมาธิ ทำจิตใจให้บริสุทธิ์

วันโกน คือ วันขึ้น ๗ ค่ำกับ ๑๔ ค่ำ และวันแรม ๗ ค่ำกับ ๑๔ ค่ำ ของทุกเดือน (หรือ วันแรม ๑๓ ค่ำ หากตรงกับเดือนขาด) ซึ่งเป็นวันก่อนวันพระ ๑ วัน เป็นธรรมเนียมของพระสงฆ์ในประเทศไทยที่จะโกนผมในวันนี้

วันพระ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไป กล่าวคือ ถ้าเป็นวัน ๘ ค่ำ ใช้ว่า วันอัฏฐมี วัน ๑๔ ค่ำ ใช้ว่า วันจาตุทสี และ ๑๕ ค่ำ ใช้ว่า วันปัณณรสี

วันพระ หรือวันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า

วันธรรมสวนะ อันได้แก่ วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระ เป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ ๔ วัน ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)

นิยามความหมาย

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของปริพาชกอัญญเดียรถีย์ (นักบวชนอกพระพุทธศาสนา) ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่นมีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าว โดยตามพระไตรปิฎกเรียกวันพระว่า วันอุโบสถ (วัน ๘ ค่ำ) หรือวันลงอุโบสถ (วัน ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ) แล้วแต่กรณี

หลังจากนั้น พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็นวันสำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะไปประชุมกันฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันพระมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

วันพระในปัจจุบัน คงเหลือธรรมเนียมปฏิบัติอยู่แต่เฉพาะประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท เช่น ศรีลังกา, พม่า, ไทย, ลาว และเขมร (ในอดีตประเทศเหล่านี้ถือวันพระเป็นวันหยุดราชการ) โดยพุทธศาสนิกชนเถรวาทนับถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญที่จะถือโอกาสไปวัดเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และฟังพระธรรมเทศนา สำหรับผู้ที่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนาอาจถือศีลแปดหรือศีลอุโบสถในวันพระด้วย นอกจากนี้ชาวพุทธยังถือว่าวันพระไม่ควรทำบาปใด ๆ โดยเชื่อกันว่าการทำบาปหรือไม่ถือศีลห้าในวันพระถือว่าเป็นบาปมากกว่าในวันอื่น

ในประเทศไทย หลังจากวันพระได้ถูกยกเลิกไม่ให้เป็นวันหยุดราชการ ทำให้วันพระที่กำหนดวันตามปฏิทินจันทรคติส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับปฏิทินที่ใช้กันอยู่ทั่วไป (เช่น วันพระไปตรงกับวันทำงานปกติ) ซึ่งคือหนึ่งในสาเหตุสำคัญในปัจจุบันที่ทำให้พุทธศาสนิกชนในประเทศไทยห่างจากการเข้าวัดเพื่อทำบุญในวันพระ

ประวัติความเป็นมาของวันธรรมสวนะ

ในสมัยพุทธกาล พระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลว่า

นักบวชศาสนาอื่นเขามีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา แต่ว่าในศาสนาพุทธยังไม่มี

พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์ประชุมสนทนาและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ และ ๑๕ ค่ำ พุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะเพื่อกำหนดให้มีการประชุมพร้อมเพรียงกันฟังธรรม

ในสมัยพุทธกาลนั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประชุมพระสงฆ์สาวกเพื่อทรงสั่งสอนธรรม การประชุมสงฆ์ซึ่งเป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้นก็ได้นัดหมายไปประชุมกัน และจะมีพระสงฆ์รูปหนึ่งเป็นผู้สวดพระปาฏิโมกข์ พระภิกษุทุกรูปก็จะนั่งฟังด้วยอาการอันสำรวม และตั้งใจจนกระทั่งจบ

คำว่าสวนะ แปลว่า การฟัง และคำว่าธรรมสวนะ แปลว่า การฟังธรรม นั่นคือวันธรรมสวนะก็แปลว่า กำหนดประชุมฟังธรรม หรือพูดตามภาษาชาวบ้านทั่วไปว่า วันไปฟังเทศน์หรือวันพระ ในทางศาสนาก็ยังได้เรียกว่าวันอุโบสถ ซึ่งแปลว่า วันจำศีลของอุบาสกอุบาสิกาผู้ต้องการบุญกุศลเป็นกรณีพิเศษ

พิธีของชาวบ้าน โดยพุทธศาสนิกชนก็จะไปร่วมทำบุญตักบาตร ถวายอาหารหวานคาวแด่พระสงฆ์ สมาทานศีล (รับศีล) และฟังพระธรรมเทศนาที่วัด

ในวันธรรมสวนะ นี้ ชาวบ้านก็จะละเว้นการประพฤติกิจที่เป็นบาปต่างๆ การสมาทานศีลในวันนี้ เช่น รับศีล ๕ หรือ ศีล ๘ ซึ่งเรียกว่า อุโบสถศีล พระสงฆ์จะได้แสดงพระธรรมเทศนา หรือ ธรรมสากัจฉา หรือ สนทนาธรรมกัน ซึ่งนับว่าเกิดเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟังเป็นอย่างยิ่ง


เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับชื่อเรียกวันพระ

วันอัฏฐมี วัน ๘ ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มว่า อัฏฐมีดิถี

อัฏฐมี ปกติใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นอัฏฐมี ดิถีที่สิบสี่ แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...

จาตุทสี (อ่านว่า จาตุดทะสี) แปลว่า ดิถีเป็นที่เต็ม ๑๔ วัน คือ วัน ๑๔ ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มว่า จาตุทสีดิถี

จาตุทสี ปกติใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นจาตุทสี ดิถีที่สิบสี่ แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...

ปัณณรสี แปลว่า ดิถีเป็นที่เต็ม ๑๕ วัน คือ วัน ๑๕ ค่ำ ใช้เรียกทั้งข้างขึ้นและข้างแรม เรียกเต็มว่า ปัณณรสีดิถี

ปัณณรสี ปกติใช้ในการประกาศองค์อุโบสถในวันพระ ซึ่งหัวหน้าอุบาสกหรืออุบาสิกาจะประกาศก่อนที่จะรับศีลอุโบสถจากพระว่า

ขอประกาศเริ่มเรื่องความที่จะสมาทานรักษาอุโบสถ อันพร้อมไปด้วยองค์แปดประการให้สาธุชนที่ได้ตั้งจิตสมาทานทราบทั่วกันก่อนแต่สมาทาน ณ บัดนี้ ด้วยวันนี้เป็นปัณณรสี ดิถีที่สิบห้า แห่งกาฬปักษ์มาถึงแล้ว ก็แหละวันเช่นนี้เป็นกาลที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบัญญัติแต่งตั้งไว้ให้ประชุมกัน ฟังธรรม และเป็นกาลที่จะรักษาอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย...

นอกจากนี้คำว่าคืนวันปัณณรสี ยังสามารถใช้ได้กับวันออกพรรษาได้อีกด้วย

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา