(ตามนัยอรรถกถา) หลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่ยังโลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ) ประเทศอินเดีย หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับพระบาทยังพื้นดินเท่านั้น ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก “โลกรวิวรรณ” กล่าวคือ เนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ได้มองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก เพื่อให้ชนเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท ศรัทธาในพระรัตนตรัย

"วันออกพรรษา" (ตามที่เข้าใจกัน) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่งในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวันสิ้นสุดระยะเวลาจำพรรษา ๓ เดือนของพระสงฆ์เถรวาท โดยเป็นวันที่พระสงฆ์จะทำสังฆกรรม คือ การปวารณาในวันนี้ วันออกพรรษา (ออกปุริมพรรษา) จะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลังวันเข้าพรรษา ๓ เดือน ตามปฏิทินจันทรคติไทย

วันออกพรรษา” มีสาเหตุเนื่องมาจาก “วันเข้าพรรษา” ที่มีมาแล้วเมื่อวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ อันเป็นวันที่พระภิกษุทั้งหลายอธิษฐานใจเข้าอยู่พรรษาครบไตรมาส คือ ๓ เดือน ตามพระพุทธบัญญัติ โดยไม่ไปค้างแรมค้างคืนนอกสถานที่ที่ท่านตั้งใจอยู่ไว้ เมื่อมีวันเข้าพรรษาก็จำเป็นต้องมีวันออกพรรษา ซึ่งวันออกพรรษาตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๑ (เพ็ญเดือน ๑๑) ของทุกปี วันออกพรรษา เป็นวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษาของพระภิกษุสงฆ์ หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ได้จำพรรษาครบกำหนดไตรมาส ตามพระพุทธบัญญัติแล้ว ท่านมีสิทธิ์ที่จะจาริกไปพักค้างคืนที่อื่นได้ ไม่ผิดพระพุทธบัญญัติและยังได้รับอานิสงส์ (ผลดี) คือ

๑. ไปไหนไม่ต้องบอกลา

๒. ไม่ต้องถือผ้าไตรครบชุด

๓. ลาภที่เกิดขึ้นแก่ท่านมีสิทธิ์รับได้

๔. มีโอกาสได้อนุโมทนากฐินและได้รับอานิสงส์คือได้รับการขยายเวลาของอานิสงส์นั้น ออกไปอีก ๔ เดือน

อนึ่ง มีชื่อเรียกวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งว่า "วันปวารณา" หรือ "วันมหาปวารณา" คำว่า "ปวารณา" แปลว่า "อนุญาต" หรือ "ยอมให้" การปวารณา ถือเป็นข้อปฏิบัติตามพระวินัยสำหรับพระภิกษุโดยเฉพาะ เรียกว่า เป็นญัตติกรรมวาจา (สังฆกรรม) ประเภทหนึ่ง มีความหมายว่า พระภิกษุทั้งหลายทั้งพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อยที่จำพรรษาอยู่ร่วมกันตลอดไตรมาส (๓ เดือน) ต่างเปิดโอกาส อนุญาตแก่กันและกันให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ เพื่อให้พระสงฆ์ที่ถูกตักเตือนมีโอกาสรับรู้ข้อบกพร่องของตนและนำข้อบกพร่องไปแก้ไขปรับปรุงตัวให้ดียิ่งขึ้น มีคำกล่าวปวารณาเป็นภาษาลี ว่า

"สังฆัมภันเต ปะวาเรมิ ทิฎเฐนะ วา สุเตนะ วาปะริสังกายะ วา วะทันตุ มัง อายัส์มันโต อะนุกัทปัง อุปาทายะ ปัสสันโต ปฎิกะริสสามิ"

แปลว่า

ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ กระผมขอปวารณาต่อสงฆ์ ด้วยได้เห็นหรือได้ฟังก็ตาม ขอท่านทั้งหลายโปรดอนุเคราะห์ ว่ากล่าวตักเตือนกระผมด้วย เมื่อกระผมมองเห็นแล้ว จักประพฤติตัวเสียเลยใหม่ให้ดี

วันมหาปวารณา เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนา ตรงกับวันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา ๓ เดือน คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้พระภิกษุทำการปวารณา คือ ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกัน หมายถึง ยอมมอบตนให้สงฆ์กล่าวตักเตือนในข้อบกพร่องที่ภิกษุทั้งหลายได้เห็นได้ยิน หรือมีข้อสงสัย ด้วยจิตเมตตา เพื่อจักได้สำรวมระวังปรับปรุงแก้ไขตนเอง เพื่อความเจริญของพระธรรมวินัยและความผาสุกในการอยู่ร่วมกัน วันที่พระสงฆ์ทำมหาปวารณานี้ เรียก "ตามที่เข้าใจกันทั่วไป" ว่า วันออกพรรษา

ความเป็นมาของวันมหาปวารณา

ครั้งหนึ่ง มีภิกษุที่จำพรรษาในแคว้นโกศล ตั้งกติกาว่า จะไม่พูดกัน แต่ใช้วิธีบอกใบ้ หรือใช้มือแทนคำพูด เมื่อออกพรรษาแล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถาม ทรงติเตียน และทรงอนุญาตการปวารณา คือ การอนุญาตให้ภิกษุอื่นว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ภิกษุจำพรรษาแล้ว ย่อมปวารณากันด้วยเหตุ ๓ ประการคือ

๑. โดยได้เห็น

๒. โดยได้ยิน ได้ฟัง

๓. โดยสงสัย

วิธีปวารณา

ภิกษุเถระพึงห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณา ๓ ครั้งเพื่อให้ภิกษุนวกะกล่าวปวารณาตอบ ภิกษุนวกะก็ห่มผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่า นั่งกระโหย่งประคองอัญชลีแล้วกล่าวปวารณา ๓ ครั้ง ต่อมา พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้นั่งกระโหย่งในระหว่างที่ยังปวารณา และทรงอนุญาตให้ภิกษุที่ปวารณาแล้วนั่งบนอาสนะ เพราะเคยมีภิกษุชราภาพนั่งกระโหย่งคอยนานจนเป็นลมล้มลง

ปวารณาสูตร พระพุทธเจ้าทรงปวารณาแก่หมู่สงฆ์

คราวหนึ่งในพระวิหารบุพพาราม กรุงสาวัตถี พระพุทธเจ้าประทับอยู่กับภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ล้วนเป็นพระอรหันต์ในวันอุโบสถขึ้น ๑๕ ค่ำเพื่อจะทรงทำปวารณา พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแก่เหล่าภิกษุนั้นว่า จะติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจาของพระองค์บ้างหรือไม่ พระสารีบุตรตอบปฏิเสธเพราะพระองค์ยังทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น จากนั้นพระสารีบุตรก็กล่าวปวารณาให้พระพุทธเจ้าติเตียนท่าน พระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวปฏิเสธ เพราะพระสารีบุตรเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก พระสารีบุตรทูลถามอีกว่า พระองค์จะไม่กล่าวติเตียนการกระทำทางกาย ทางวาจา ของเหล่าภิกษุบ้างหรือ พระองค์กล่าวปฏิเสธ เพราะเหล่าภิกษุได้บรรลุวิชชา ๓ อภิญญา ๖ ได้อุภโตภาควิมุตติ และได้ปัญญาวิมุติเป็นพระอรหันต์

เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์ผู้อยู่จำครบพรรษาจะได้รับอานิสงส์พรรษาหลายอย่าง และพระสงฆ์บางส่วนจะถือโอกาสในช่วงออกพรรษา ๙ เดือน ออกจาริกเพื่อปฏิบัติธรรม และโปรดพุทธศาสนิกชนตามสถานที่ต่าง ๆ ก่อนจะกลับเข้าจำพรรษาอีกครั้งในปีถัดไป

เหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายากและว่าง่าย

อนุมานสูตร ธรรมที่ทำให้เป็นผู้ว่ายาก ๑๖ ประการ ดังนี้

๑. เป็นผู้มีความปรารถนาลามก

๒. เป็นผู้ยกตนข่มผู้อื่น

๓. เป็นผู้มักโกรธ มีความโกรธครอบงำแล้ว

๔. เป็นผู้มักโกรธ ผูกโกรธ

๕. เป็นผู้มักโกรธ มักระแวง

๖. เป็นผู้มักโกรธ เปล่งวาจาใกล้ต่อความโกรธ

๗. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับโต้เถียงโจทก์

๘. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับรุกรานโจทก์

๙. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับเอาเรื่องอื่นมากลบเกลื่อนพูดนอกเรื่อง แสดงความโกรธ ความมุ่งร้าย ความไม่เชื่อฟังปรากฏ

๑๐. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง ไม่พอใจตอบในความประพฤติ

๑๑. เมื่อภิกษุผู้เป็นโจทก์ฟ้อง กลับปรักปรำโจทก์

๑๒. ภิกษุเป็นผู้ลบหลู่ ตีเสมอ

๑๓. ภิกษุเป็นผู้ริษยา ตระหนี่

๑๔. ภิกษุเป็นผู้โอ้อวด เจ้ามายา

๑๕. ภิกษุเป็นผู้กระด้าง ดูหมิ่นผู้อื่น

๑๖. ภิกษุเป็นผู้ถือแต่ความเห็นของตน ถือรั้นถอนได้ยาก

การที่พระท่านกล่าวปวารณา (ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน) กันไว้ ในเมื่อต่างองค์ต่างต้องจากกันไปองค์ละทิศละทางท่านเกรงว่าอาจมีข้อประพฤติ ปฏิบัติที่ไม่ดีไม่งามเกิดขึ้น โดยตัวท่านเองรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือมองไม่เห็นเหมือนผงเข้าตาตัวเอง แม้ผลจะอยู่ชิดติดกับลูกนัยน์ตา เราก็ไม่สามารถมองเห็นผลนั้นได้ จำเป็นต้องไหว้วานขอร้องผู้อื่นให้มาช่วยดูหรือต้องใช้กระจกส่องดู เพราะฉะนั้น พระท่านจึงใช้วิธีการกล่าวปวารณาตัดไว้เพื่อท่านรูปอื่นได้เห็นหรือแม้แต่ ได้ยินได้ฟัง เรื่องดีไม่ดีไม่งามอะไรก็ตามให้กล่าวแนะนำตักเตือนได้ โดยไม่ต้องเกรงใจกันทั้งผู้ใหญ่และผู้น้อยด้วยเจตนาดีต่อกัน คือ พระผู้ใหญ่ก็กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้และพระผู้มีอาวุโสน้อยก็สามารถกล่าว ชี้แนะถึงข้อไม่ดีของพระผู้ใหญ่ได้เช่นกัน โดยที่พระผู้ใหญ่คือผู้มีอาวุโสท่านก็มิได้สำคัญตนผิดคิดว่าท่านทำอะไรแล้ว ถูกไปหมดทุกอย่าง

การกล่าวปวารณา เท่ากับเป็นการช่วยระมัดระวังข้อประพฤติปฏิบัติที่ไม่ดีของพระรูปหนึ่ง ซึ่งเป็นจุดน้อยๆ นี้ที่จะลุกลามก่อความเสื่อมเสียไปถึงพระหมู่มาก และลุกลามไปถึงพระพุทธศาสนาอันเป็นจุดศูนย์ที่ใหญ่ได้ ท่านจึงใช้วิธีป้องกันไว้ก่อน ดีกว่าการแก้ไขในภายหลัง

ตัวอย่างวันออกพรรษาหรือวันมหาปวารณาที่พระภิกษุทั้งหลายกระทำเช่นนี้ เป็นเครื่องมือชี้ให้เห็นวิธีการคอยสังวร คือ ตามระวัง ไม่ประมาท ไม่ยอมให้ความเลวร้ายเกิดขึ้นได้ เหมือล้อมรั้วไว้ก่อนที่วัวจะหายไม่ว่าจะอยู่ในเทศกาลเข้าพรรษาหรือออกพรรษา พระท่านจะประพฤติดี ปฏิบัติชอบตามระบอบของพระธรรมวินัยอยู่ตลอดเวลา

ความมุ่งหมายของการปวารณากรรม

ปวารณากรรม มีความมุ่งหมายชัดเจนปรากฏอยู่ในคำที่สงฆ์ใช้ปวารณาซึ่งกันและกัน ดังนี้

- เป็นกรรมวิธีลดหย่อนผ่อนคลายข้อขุ่นข้องคลางแคลงที่เกิดจากความระแวงสงสัย ให้หมดไปในที่สุด

- เป็นทางประสานรอยร้าว ที่เกิดจากผลกระทบกระทั่งในการอยู่ร่วมกัน ให้มีโอกาสกลับคืนดีด้วยการให้โอกาสได้ปรับความเข้าใจซึ่งกันและกัน

- เป็นทางสร้างเสริมความสามัคคีในหมู่ให้กลมเกลียวอยู่ร่วมกันอย่างสนิทใจ

- เป็นแนวปฏิบัติให้เกิดความเสมอภาคกันในการแสดงความคิดว่ากล่าวตักเตือนได้โดยไม่จำกัดด้วย ยศ ชั้น พรรษา วัย

- ก่อให้เกิด "ภราดรภาพ" รู้สึกเป็นมิตรชิดเชื้อปรารถนาดี เอื้อเฟื้ออาทรเป็นพื้นฐาน นำไปสู่พฤติกรรมอันพึงประสงค์ที่ดีงานคล้าย ๆ กัน เรียกว่า ศีลสามัญญุตา

เมืองสังกัสสะ สถานที่ทรงเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

ที่ตั้งและลักษณะภูมิประเทศ

สังกัสสะ (Sankassa) เรียกตามสำเนียงสันสฤตว่า สังกัศยะ (Sankasya) หรือในปัจจุบันเรียกว่า สังกิสสะ (Sankissa) หรือสังกิสสะ บะสันตะปุระ (Sankissa Basantapura) เป็นเมืองอยู่ในแคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ)

สังกัสสะ (Sankassa) คือเมืองโบราณอยู่ในแคว้นปัญจาละในสมัยพุทธกาล มีความสำคัญในฐานะเป็นเมืองที่เสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่ยังมนุษย์โลกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หลังจากตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณและเสด็จไปประกาศพระศาสนาในแคว้นต่างๆ แล้ว ในพรรษาที่ ๗ ทรงรำลึกถึงพระพุทธมารดา จึงทรงดำริที่จะสนองคุณของพระพุทธมารดา ดังนั้น จึงได้เสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดสันดุสิตเทพบุตร อดีตพระพุทธมารดา (ซึ่งบังเกิดอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) และเทวดาทั้งหลายอยู่ ๑ พรรษา

ครั้นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน พระพุทธองค์จึงได้เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มาประทับ ณ เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ) โดยเสด็จลงตรงประตูเมือง พระบาทแรกที่ทรงเหยียบพื้นมนุษย์โลกนั้น ต่อมาได้กลายเป็นสถานที่ระลึกเรียกว่า “อจลเจดีย์” เรียกอย่างไทยเราก็เรียกว่า “รอยพระพุทธบาท” ตามตำนานว่าที่นี่เป็นที่แห่งหนึ่งซึ่งมีรอยพระพุทธบาทปรากฏอยู่

ปัจจุบัน เมืองสังกัสสะ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองสาวัตถีไปประมาณ ๙๐ ไมล์ ระหว่างเมืองลัคเนาว์กับเมืองอักรา ห่างจากเมืองกานปุร์, กานบุรี (Kanpur) ไป ๘๗ ไมล์ เป็นหมู่บ้านขนาดย่อม ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านสังกิสสะ บะสันตะปุระ (Sankissa Basantapura) หรือสังกิสสะ (Sankissa) ใกล้แม่น้ำกาลี ในจังหวัดฟารุกาหบาท, ฟาร์รุกฮะบาด (Farrukahabad) รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย เมืองแห่งนี้ไม่ค่อยมีผู้แสวงบุญไปจาริกเท่าใดนัก เนื่องจากการเดินทางไปยังหมู่บ้านแห่งนี้ในปัจจุบันเป็นไปด้วยความยากลำบาก

ตามประวัติศาสตร์ของอินเดียบันทึกไว้ว่า สังกัสสะเป็นเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนาอีกแห่งหนึ่งที่มั่นคง ครั้นเมื่อถึงกาลอวสาน สภาพเมืองกลับกลายเป็นป่าในที่สุด ซึ่งเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๗๒๖ (ค.ศ. ๑๑๘๓) บรรดาพราหมาณ์พากันยุยง ราชาไชยจันทร์แห่งเมืองกาเนาซ์ (หรือกาโนชน์) ว่าพระพุทธศาสนาเป็นภัยร้ายแรงต่อฮินดู หากขืนปล่อยไว้บ้านเมืองจะล่มสลาย ราชาไชยจันทร์จึงกรีฑาทัพมาเผาทุบทำลายเสียราบคาบ สังกัสสะจึงกลายสภาพเป็นเศษกองอิฐ และเสื่อมสลายกลายเป็นแผ่นดินท้องทุ่งโล่งในที่สุด

ดร.รามรุท สิงห์ นักประวัติศาสตร์ทางพระพุทธศาสนาแห่งมหาวิทยาลัยมคธ (Magadh University) รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ความจริงพราหณ์เองก็ถือว่า “สังกัสสะ” เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งหนึ่งของเขาเหมือนกัน ในคัมภีร์รามายณะ เรียกสังกัสสะว่า “สังคัสสะ” การที่พวกพราหมณ์ต้องทำลายสังกัสสะเสียนั้น คงเนื่องมาจากพระพุทธศาสนารุ่งเรืองมาก ไม่กระนั้นพวกพราหมณ์คงจะหมดอาชีพไป

ความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติ

หลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มาสู่ยังโลกมนุษย์ ณ ประตูเมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ (แคว้นปัญจาบ) ประเทศอินเดีย หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อโปรดพระพุทธมารดา เมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับพระบาทยังพื้นดินเท่านั้น ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก “โลกรวิวรรณ” กล่าวคือ เนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ได้มองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก เพื่อให้ชนเหล่านั้นตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท ศรัทธาในพระรัตนตรัย

เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์ ณ นครสาวัตถี แล้วเสด็จขึ้นไปจำพรรษา ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาอภิธรรม ๗ คัมภีร์โปรดสันดุสิตเทพบุตร อดีตพระพุทธมารดา (ซึ่งบังเกิดอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) ตลอดเวลา ๓ เดือน

เมื่อถึงวันมหาปวารณาออกพรรษาจึงได้เสด็จลงมาสู่มนุษย์โลก พระมหาโมคคัลลานะแสดงปาฏิหาริย์เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ณ บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ทูลถามว่าพระองค์จะเสด็จมาสู่มนุษย์โลก ณ ที่ใด พระพุทธองค์ตรัสถามว่า พระสารีบุตรและเธอจำพรรษาที่ใด เมื่อทราบคำกราบทูลว่า ท่านทั้งสองจำพรรษาอยู่ที่นครสังกัสสะ พระพุทธองค์จึงทรงตกลงพระทัยเสด็จลงสู่มนุษย์โลกที่ใกล้ประตูเมืองนครสังกัสสะ ท่ามกลางเทพพรหมซึ่งแวดล้อมเป็นบริวาร

วันนั้นเมื่อพระพุทธองค์เสด็จประทับพระบาทยังพื้นดินเท่านั้น ก็ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปิดโลก “โลกรวิวรรณ” โดยทรงเนรมิตให้เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก สามารถมองเห็นกันและกันตลอดทั้ง ๓ โลก เสมือนนั่งอยู่พร้อมหน้ากันเป็นที่อัศจรรย์ กล่าวคือ ญาติที่เสียชีวิตถ้าอยู่บนสวรรค์ก็สามารถเห็นญาติในเมืองมนุษย์ได้ ญาติที่ตกนรกอยู่ก็สามารถเห็นญาติในเมืองมนุษย์ได้ ส่วนมนุษย์ก็สามารถเห็นญาติของตนทั้งในนรกและบนสวรรค์ได้เช่นกัน อีกทั้งวันนี้การลงโทษในเมืองนรกได้ยุติลงชั่วคราว จึงเรียกว่า “วันพระ (พุทธ) เจ้าเปิดโลก” ทำให้ผู้ที่ไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้วยิ่งเลื่อมใสยิ่งขึ้น

เมืองสังกัสสะหลังพุทธกาล

เทโวโรหนสถูป เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ สถานที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ในปัจจุบันมีเหลือแต่เพียงซากพระอุโบสถ หรือซาก “เทโวโรหนสถูป” เป็นเสมือนกองดินเป็นเนินสูงขึ้นไปขนาดใหญ่

ในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช กล่าวกันว่า คราวเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จลงมาจากดาวดึงส์เทวโลกมาสู่ยังมนุษย์โลกหลังวันออกพรรษานั้น มีพระพรหม-เทพยดาจำนวนมากได้ตามส่งเสด็จอย่างสมพระเกียรติ ท้าวสักกเทวราชก็ได้เนรมิตบันไดทิพย์ ๓ บันได คือ บันไดแก้ว บันไดทอง บันไดเงิน ขึ้นมา โดยพระบรมศาสดาเสด็จลงสู่เมืองสังกัสสะทางบันไดแก้ว ส่วนบันไดเงินทางด้านขวาเป็นที่ลงของพระพรหม และบันไดทองด้านทางซ้ายเป็นที่ลงของเทพยดา ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาทรงเสด็จเหยียบพื้นดินบนมนุษย์โลก บันไดทั้ง ๓ ก็อันตรธานไปเหลือให้เห็นเพียง ๗ ขั้น พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้ขุดดูลึกลงไปถึงบาดาลก็ยังไม่สิ้นสุด พระองค์ทรงมีพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงสร้างพระอุโบสถคลุมบันไดไว้ พร้อมกับโปรดให้สร้างพระพุทธรูปสูง ๑๖ ฟุต ปักเสาศิลาจารึกและประดิษฐานรูปช้างไว้บนยอดเสา

เมื่อปี พ.ศ. ๙๔๓ ท่านหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) เรียกเมืองสังกัสสะว่า “กังเกียส” ประวัติศาสตร์ในยุคหลังพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานไม่ชัดเจนนัก ทราบเพียงส่วนที่กล่าวไว้ในอรรถกถาสังคีติสูตร คือ พ.ศ. ๑๐๐ การทำสังคายนาครั้งที่ ๒ มีพระเถระชื่อว่า เรวตะ มาพักที่เมืองสังกัสสะ แล้วค่อยเดินทางไปร่วมประชุม ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ตามบันทึกยังกล่าวอีกว่า บริเวณเมืองสังกัสสะมีอาณาเขตถึง ๒,๐๐๐ ลี้ มีวัดในทางพระพุทธศาสนาถึง ๔ วัด พระสงฆ์อีก ๑,๐๐๐ รูป ทั้งหมดเป็นพระสงฆ์ทางฝ่ายมหายาน นิกายสัมมิติยะ มีเทวาลัยอยู่ ๑๐ แห่ง และในเมืองนี้ยังมีนักบวชนอกพระพุทธศาสนาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ท่านพระถังซัมจั๋ง (หลวงจีนเฮียงจัง, Xuanzang, พ.ศ. ๑๓๐๐) ได้บันทึกถึงจดหมายเหตุถึงเมืองสังกัสสะว่า พลเมืองที่อยู่อาศัยที่สังกัสสะ มีกิริยานุ่มนวล พวกผู้ชายตั้งหน้าตั้งตาเล่าเรียน มีสังฆารามขนาดใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูปอันงดงามวิจิตร ในบริเวณสังฆารามมีบันได ๓ ชั้นตั้งเรียงกัน เป็นที่หมายว่าพระบรมศาสดาเสด็จลงจากดาวดึงส์เทวโลกมามนุษย์โลก ณ ที่แห่งนั้น ซึ่งปัจจุบันนี้มีเหลือแต่เพียงซากพระอุโบสถ หรือ “เทโวโรหนสถูป” เป็นเสมือนกองดินเป็นเนินสูงขึ้นไป เบื้องล่างใกล้เคียงกัน มี “ยอดเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช” บนยอดเสาเป็นรูปช้าง ซึ่งได้ถูกกองทัพมุสลิมเผาทุบทำลายจนในปัจจุบันเหลือแต่เพียงตอเสากับรูปช้างชำรุดเท่านั้น

ยอดเสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ บนยอดเสาแกะสลักเป็นรูปช้างตัวเดียว แต่งวงหักไป เนื่องจากถูกกองทัพของราชาไชยจันทร์แห่งเมืองกาเนาซ์ทุบทำลาย จนในปัจจุบันเหลือเพียง “ยอดเสา” กับ “รูปช้างชำรุด” เท่านั้น

ท่านพระถังซัมจั๋ง กล่าวถึงเสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชว่า ขณะที่ท่านพบ มีความสูงประมาณ ๗๐ ฟุต ตั้งอยู่ข้างพระวิหาร ยามเมื่อต้องแสงพระอาทิตย์ เสาหินนี้จะสะท้อนเป็นสีชมพูส่องแสงแวววับ ด้วยว่าสร้างจากหินอย่างดีบดละเอียด มีช้างหมอบตั้งอยู่บนยอดเสา หันหน้าไปทางบันไดทั้งสามนั้น ข้างเสาหินได้เห็นพระสถูปและพระวิหารที่พระพุทธองค์เสด็จเข้าสมาธิ ข้างพระวิหารมีกำแพงยาว ๕ ก้าว สูง ๒ ฟุต เป็นที่พระพุทธองค์ทรงเดินจงกรม มีรูปดอกบัวเป็นเครื่องหมายอยู่บนกำแพงอย่างเดียวกับที่พุทธคยา

ท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham) ได้เดินทางมาสำรวจโบราณสถานที่เมืองสังกัสสะ เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๘๕ ได้พบซากพระวิหารกำแพงและพระพุทธปฏิมากรบางส่วนเท่านั้น

ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับวันออกพรรษา

(ตามนัยอรรถกถา) หลังมหาปวารณา หรือวันออกพรรษา พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ประทับ ณ เมืองสังกัสสะ แคว้นปัญจาละ อันเป็นที่มาของ ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

๑. ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ

มีการทำบุญอันเป็นประเพณีที่นิยมกระทำกันมานานแล้วในวันออกพรรษา ซึ่งเรียกว่า "ตักบาตรเทโว" หรือเรียกชื่อเต็มตามคำพระว่า "เทโวโรหนะ" แปลว่า การหยั่งลงจากเทวโลก เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตักบาตรดาวดึงส์" มีปรากฏในอรรถกถาธรรมบทว่า

...พระพุทธเจ้าทรงประกาศจำพรรษาที่สรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าทำกันมา เมื่อพระพุทธเจ้าทรงลาบริษัทแล้วก็เสด็จไป ณ ดาวดึงส์เทวโลก เพื่อโปรดพุทธมารดา ด้วยพระอภิธรรม ๗ พอครบเวลา ๓ เดือนของการโปรดพระพุทธมารดาด้วยพระอภิธรรมทั้ง ๗ ในวันเพ็ญเดือน ๑๑ ก็เสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ ณ ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร

ท้าวสักกเทวราชพร้อมด้วยบริวาร ตามส่งเสด็จทางบันไดสวรรค์จนถึงขั้นพิภพ พระพุทธเจ้าจึงทรงใช้อิทธิฤทธิ์บันดาลให้โลกทั้ง ๓ มีเทวโลก, มนุษย์โลก, ยมโลก มองเห็นกันทั้งหมด จึงเรียกวันนั้นว่า วันพระเจ้าเปิดโลก

พอวันรุ่งขึ้นเป็นวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ผู้คนในชมพูทวีปพากันมาใส่บาตรพระสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข การตักบาตรในครั้งนั้นมิได้นัดหมายกันมาก่อนเลย ต่างคนก็ต่างมาด้วยศรัทธาจึงทำให้คนมามากมาย เมื่อมีมามากทำให้ไม่ถึงบาตรพระภิกษุสงฆ์ จึงเอาข้าวของตนห่อหรือปั้นเป็นก้อนโยนใส่บาตรพระ ด้วยเหตุนี้ต่อมาภายหลังจึงนิยมทำข้าวต้มลูกโยนใส่บาตรพระในวันเทโวณหณะ...

การตักบาตรเทโวนี้ จะกระทำในวันขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ หรือ วันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ได้สุดแท้แต่จะเห็นพร้อมกัน

พิธีตักบาตรเทโวโรหณะในสมัยปัจจุบัน ตอนรุ่งอรุณของวันตักบาตรเทโว พระภิกษุสามเณรลงทำวัตรในพระอุโบสถ พอพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่า พระลงมาจากบันใดสวรรค์ บางที่ก็มีดนตรีบรรเลงเพลงไทยเดิม สมมุติว่าเป็นพวกเทวดาบรรเลง ขับกล่อมตามส่งพระพุทธเจ้า ยังมีพวกแฟนตาซีอีก แต่งเป็นพวกยักษ์ เทวดา พระอินทร์ พรหม นางเทพธิดา นำหน้าขบวนพระภิกษุสามเณร ชาวบ้านก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มมัด จึงเป็นสัญลักษณ์ของพิธีนี้

ภาคกลาง

จังหวัดนครปฐม ที่พระปฐมเจดีย์ พระภิกษุสามเณรจะมารวมกันที่องค์พระปฐมเจดีย์ แล้วก็เดินลงมาจากบันใดนาคหน้าวิหารพระร่วง สมมติว่าพระเดินลงมาจากบันใดสวรรค์ชาวบ้านก็คอยใส่บาตร

จังหวัดอุทัยธานีซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขาสูง ณ วัดสะแกกรัง พระภิกษุจะเดินลงมาจากเขารับบิณฑบาตรจากชาวบ้าน

บันไดขึ้นสู่ยอดเขาสะแกกรัง (เขาแก้ว) จำนวน ๔๔๙ ขั้น ณ วัดสังกัสรัตนคีรี บ้านวังยาง ต.น้ำซึม อ.เมือง จ.อุทัยธานี สถานที่จัดงานประเพณีตักบาตรเทโวฯ ที่เลื่องชื่อที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือหลังจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน

อนึ่ง ขบวนพระภิกษุสงฆ์นั้นที่ลงมาจากบันใดนั้นนิยมให้มีพระพุทธรูป นำหน้าสมมติว่าเป็นพระพุทธเจ้าจะใช้พระปางอุ้มบาตร ห้ามมาร ห้ามสมุทร รำพึง ถวายเนตร หรือปางลีลา โดยตั้งบนรถ หรือตั้งบนคานหาม มีที่ตั้งบาตรสำหรับอาหารบิณฑบาต

สำหรับบางที่ไม่นิยมตักบาตรเทโว แต่นิยมตักบาตรตอนเช้าถวายอาหารพระภิกษุแล้ว ฟังเทศน์รักษา อุโบสถศีล

สำหรับที่นิยมตักบาตรเทโว จะทำบุญเป็น ๒ วันคือวันออกพรรษากับวันเทโว ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ในวันออกพรรษานั้น ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ก็มีการฟังเทศน์ตอนสาย และรักษาอุโบสถศีล

พิธีรับพระภาคกลาง

พิธีรับพระเป็นพิธีบูชาพระพุทธเจ้า ในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากการจำพรรษา ณ ดาวดึงส์เทวโลก พิธีนี้มักจะปรากฏในภาคกลางที่อยู่ติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ที่เป็นคมนาคมทางน้ำ เช่น อำเภอบางบ่อ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ทางวัดจะอัญเชิญพระพุทธรูปยืนลงบุษบกในตัวเรือแล้วแห่ไปตามลำคลอง ชาวบ้านก็จะโยนดอกบัวจากฝั่งให้ตกในเรือหน้าพระพุทธรูป แล้วโยนข้าวต้ม ยังมีการแข่งขันเรือชิงรางวัลอีกด้วย

ประเพณีตักบาตรพระร้อย

ประเพณีตักบาตรพระร้อย” หรือ ใส่บาตรพระร้อยรูป เป็นบุญพิธีที่จัดขึ้นทางน้ำเป็นส่วนมาก เนื่องด้วยแต่เดิมบ้านอยู่ติดริมน้ำลำคลอง จึงใช้เรือสัญจร พระส่วนมากจึงใช้เรือบิณฑบาต

เนื่องมาแต่ความเชื่อเดิมว่าหลังวันเสด็จลงจากเทวโลก คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ หรือวันตักบาตรเทโว

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงนำพระภิกษุสงฆ์จำนวนเป็นร้อยออกบิณฑบาต ชาวประชาจึงหลั่งไหลมาถวายสักการะต้อนรับด้วยดอกไม้และบิณฑบาตทาน จึงมีพิธีตักบาตรเทโวขึ้น แต่ชาวปทุมธานีนิยมกำหนดเอาพระบิณฑบาตจำนวนร้อยรูป จึงเรียกว่า ตักบาตรพระร้อย สืบมา

ภาคใต้

ประเพณีชักพระ (พระพุทธรูป) ทางภาคใต้เรียกว่า พิธีลากพระมีสองกรณี คือ ชักพระทางบก และชักพระทางน้ำ

ถึงแม้ภาคนี้จะมีความแตกต่างไปจากภาคอื่น ภาคใต้ก็มีจุดประสงค์ปรารภเหตุ การเสด็จลงมาของพระพุทธเจ้าจากเทวโลกมาถึงพื้นโลก ในวันปวารณาออกพรรษาเช่นเดียวกัน ก็จัดให้มีประเพณีแห่พระพุทธรูปในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงนำมากล่าวในที่นี้ด้วยประเพณีชักพระ มี ๒ ประเภท คือ ชักพระทางบก และ ชักพระทางน้ำ

๑.๑) พิธีชักพระทางบก

จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนวันชักพระ ๒ วันจะมีพิธีใส่บาตรหน้าล้อ นอกจากอาหารคาวหวาน ยังมีสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของงาน “ปัด” คือข้าวต้มผัด น้ำกะทิห่อด้วยใบมะพร้าว บางที่ห่อด้วยใบกะพ้อ (ปาล์มชนิดหนึ่ง)

ในภาคกลางเขาเรียกว่า ข้าวต้มลูกโยน ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ๑-๒ สัปดาห์ทางวัดจะทำเรือบก คือเอาท่อนไม้ขนาดใหญ่ ๒ ท่อนมาทำเป็นพญานาค ๒ ตัว เป็นแม่เรือที่ถูกยึดไว้อย่างแข็งแรง แล้วปูกระดาน วางบุษบก (ร้านม้า) บนบุษบก จะนำพระพุทธรูปยืนรอบบุษบกก็วางเครื่องดนตรี ไว้บรรเลงเวลาเคลื่อนพระไปสู่บริเวณงาน

พอเช้าวัน ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ชาวบ้านจะช่วยกันชักพระ โดยถือเชือกขนาดใหญ่ ๒ เส้นที่ผูกไว้กับพญานาคทั้ง ๒ ตัว เมื่อถึงบริเวณงานจะมีการสมโภช และมีการเล่นกีฬาพื้นเมืองต่างๆ กลางคืนมีงานฉลองอย่างมโหฬาร การชักพระที่ปัตตานี มีอิสลามร่วมด้วย

๑.๒) พิธีชักพระทางน้ำ

ก่อนถึงวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ทางวัดที่อยู่ริมน้ำ ก็จะเตรียมการต่างๆ ก็จะนำเรือมา ๒-๓ ลำ มาปูด้วยไม้กระดานเพื่อตั้งบุษบก หรือพนมพระประดับประดาด้วยธงทิว

ในบุษบกก็ตั้งพระพุทธรูปในเรือบางที่ ก็มีเครื่องดนตรีประโคมตลอดทาง ที่เรือเคลื่อนที่ไปสู่จุดกำหนด คือบริเวณงานท่าน้ำที่เป็นบริเวณงานจะมีเรือพระหลายๆ วัดมาร่วมงาน

ปัจจุบันจะนิยมใช้เรือยนต์จูง แทนการพาย เมื่อชักพระถึงบริเวณงานทั้งหมดทุกวัดที่มาร่วม จะมีการฉลองสมโภชพระ มีการเล่นต่างๆ อย่างสนุกสนาน เช่นแข่งเรือปาโคลน ซัดข้าวต้ม เป็นต้น

เมื่อฉลองเสร็จ ก็จะชักพระกลับวัด บางทีก็จะแย่งเรือกัน ฝ่ายใดชนะก็ยึดเรือ ฝ่ายใดแพ้ต้องเสียค่าไถ่ให้ฝ่ายชนะ จึงจะได้เรือคืน

๒. พิธีทอดกฐิน

ปะรำพิธี มหากฐิน วัดธงชัย อ.พล จ.ขอนแก่น เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๕๕

ดูบทความหลักที่: พิธีทอดกฐิน

ดูบทความหลักที่: บุญเดือนสิบสอง(กฐิน)

การทอดกฐิน เป็นประเพณีสำหรับพุทธศาสนิกชนที่มีศรัทธาเลื่อมใส ประสงค์จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และส่งเสริมให้พระภิกษุได้ปฏิบัติตามพระวินัย ซึ่งถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลกระทั่งถึงปัจจุบัน เป็นการเพิ่มพูนบุญกุศลซึ่งนำความสุขมาให้ เป็นงานบุญที่มีปีละครั้ง เป็นบุญพิเศษที่ทำได้ยากยิ่ง จัดเป็นการถวายสังฆทานชนิดหนึ่ง คือถวายแก่คณะสงฆ์โดยมิได้เฉพาะเจาะจงแก่พระภิกษุสงฆ์รูปใดรูปหนึ่ง

กฐิน (คำอ่านบาลี: กฐินะ) เป็น ผ้าพิเศษ ที่พระพุทธเจ้าทรงพุทธานุญาตเฉพาะ กฐินกาล ในปีหนึ่งมีเขตกฐินเพียง ๑ เดือน คือตั้งแต่วันออกพรรษา แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึง ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ กฐินไม่ได้หมายถึงเงินหรือทอง ตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมากในปัจจุบัน ตามศัพท์ กฐิน แปลว่า ไม้สะดึง คือไม้แบบสำหรับตัดจีวร ในทางพระวินัย ใช้เป็นชื่อเรียก สังฆกรรม อย่างหนึ่ง ทั้งนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตกฐินให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ๕ รูปขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึง ขึ้น ๑๕ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษา เพื่อแสดงออกถึงความสามัคคีของภิกษุสงฆ์

กฐินเป็นกาลทาน หมายถึง มีกำหนดระยะเวลาถวาย จะถวายตลอดไปเหมือนผ้าชนิดอื่นมิได้ ตามพระธรรมวินัยกำหนดกาลไว้ คือ มีกำหนดเวลาถวายที่จำกัดเพียง ๑ เดือนหลังจากออกพรรษาแล้ว กล่าวคือ ตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ระยะเวลานี้เรียกว่า กฐินกาล คือระยะเวลา ทอดกฐิน หรือ เทศกาลทอดกฐิน บ้างก็เรียก เขตกฐิน (ถ้าพ้นเขตกฐินแล้ว แม้จะไปทอดกฐินก็ไม่เป็นกฐิน ไม่ได้อานิสงส์กฐิน จะได้แต่เป็นอานิสงส์ของสังฆทาน หรือ ผ้าบังสกุล) โดยแต่ละวัดสามารถรับกฐินได้เพียงปีละครั้งเดียวเท่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพุทธานุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ๕ รูป ขึ้นไป ซึ่งอยู่ในวัดเดียวกัน และเป็นผู้จำพรรษาครบถ้วนไตรมาส (๓ เดือน) ตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยไม่ขาดพรรษาเพื่อแสดงออกซึ่งความสามัคคีของพระภิกษุสงฆ์ โดยพระภิกษุสงฆ์พร้อมใจกันมอบผ้าผืนใดผืนหนึ่งใน ๓ ผืน (ไตรจีวร : สบง จีวร สังฆาฏิ) ที่เกิดขึ้นแก่สงฆ์ ให้แก่พระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้มีคุณสมบัติสมควรแก่การรับผ้ากฐินผืนนั้น พระภิกษุผู้รับผ้ากฐิน ควรเป็นภิกษุผู้รู้ธรรม ๘ ประการ มีบุพพกรณ์ เป็นต้น ได้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นผู้ดำเนินการกรานกฐินในท่ามกลางระหว่างสงฆ์ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีเจ้าภาพถวายผ้ากฐินสำเร็จรูปก็ตาม พระภิกษุผู้เป็นองค์ครองกฐินจะต้องมีคุณสมบัติอันสมควรนี้ และเมื่อทำผ้าจีวรได้สำเร็จแล้ว จะต้องประกาศให้คณะสงฆ์รับทราบเพื่ออนุโมทนา เมื่อคณะสงฆ์อนุโมทนาแล้ว พระภิกษุองค์ครองจึงจะมีสิทธิในผ้ากฐินนั้น และพระภิกษุในวัดทุกรูปมีสิทธิได้รับอานิสงส์กฐิน ๕ ประการ ตามพระพุทธานุญาต

๓. พิธีทอดผ้าป่า

การทอดผ้าป่า เป็นประเพณีการทำบุญอีกอย่างหนึ่งของพุทธศาสนิกชน คล้ายกับการทอดกฐิน แต่ไม่มีกำหนดระยะเวลาจํากัด คือสามารถทำได้ทุกฤดูกาล ไม่จำกัดเวลา คือทำได้ตลอดทั้งปี และวัดหนึ่งๆ ในแต่ละปีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่ากี่ครั้งก็ได้เช่นกัน ผู้ปรารถนาจะทำเมื่อไรย่อมทำได้ตามกำลังศรัทธา ซึ่งอาจจะผสมผสานหรือผนวกเข้ากับเทศกาลประเพณีประจำท้องถิ่นอื่นๆ ก็ได้ อีกทั้ง ยังไม่เจาะจงเกี่ยวกับพระภิกษุที่จะรับผ้าป่าแต่อย่างใด

คำว่า “ผ้าป่า” มีชื่อเรียกตามภาษาบาลีว่า “ปังสุกุละ” ภาษาไทยใช้คำว่า “บังสุกุล” หมายถึง ผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน หรือผ้าที่ประชาชนเขาไม่ใช้แล้วนำไปทิ้งที่กองขยะ หรือผ้าที่เขาใช้ห่อศพแล้วนำไปทิ้งไว้ในป่าช้า

พระภิกษุที่ต้องการผ้ามาทำจีวรผลัดเปลี่ยน ก็ต้องไปหาผ้าบังสุกุล พอพบแล้วท่านก็จะชักผ้าบังสุกุลนั้นว่า

อิมัง ปังสุกุละจีวะรัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ

แปลว่า

ผ้าบังสุกุลผืนนี้เป็นผ้าที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ย่อมตกเป็นของข้าพเจ้า

แล้วนำผ้านั้นมาซัก ตัด เย็บ ย้อมทำเป็นจีวร เรียกว่า “บังสุกุลจีวร

๔. ประเพณีเทศน์มหาชาติ

ดูบทความหลักที่: บุญผะเหวด

การเทศน์มหาชาติ เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ นิยมทำกันหลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐินแล้ว ในภาคอีสานนั้นนิยมทำกันในเดือน ๔ เรียกว่า “งานบุญผะเหวด” ซึ่งเป็นช่วงที่เสร็จจากการทำบุญลานเอาข้าวเข้ายุ้ง ในภาคกลางบางท้องถิ่นทำกันในเดือน ๕ ต่อเดือน ๖ ก็มี บางแห่งนิยมทำกันในเดือน ๑๐ ส่วนทางดินแดนล้านนาทางภาคเหนือจะเรียกการเทศน์มหาชาติว่า “การตั้งธรรมหลวง” ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนยี่เพง (ยี่เป็ง) คือ วันเพ็ญเดือน ๑๒ เรื่องที่นำมาใช้ในการเทศน์มหาชาตินั้น เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเวสสันดร อันเป็นพระชาติสุดท้ายของพระบรมโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาประสูติเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ และออกบวชจนตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

๕. งานบั้งไฟพญานาค

บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นใน “วันออกพรรษา” ของทุกๆ ปี ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ มีลักษณะเป็นดวงไฟพวยพุ่งขึ้นจากน้ำสู่อากาศ พุ่งสูงประมาณ ๒๐-๓๐ เมตร แล้วหายไปโดยไม่มีการโค้งตกลงมายังพื้นเช่นบั้งไฟทั่วๆ ไป ขนาดของบั้งไฟพญานาคนั้นมีตั้งแต่ขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ ไปจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็นหรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จำนวนดวงไฟมีระหว่างหลายสิบถึงหลายพันลูกต่อคืน

บั้งไฟพญานาคจะเกิดขึ้นในเวลากลางคืน โดยบั้งไฟจะเอนเข้าหาฝั่งหากขึ้นกลางแม่น้ำโขง แต่หากขึ้นริมฝั่งบั้งไฟจะเอนออกไปกลางแม่น้ำโขง คลื่นมนุษย์หลายแสนคนแห่กันไปชมบั้งไฟพญานาคที่สองริมฝั่งแม่น้ำโขง ทั้งฝั่งไทย จ.หนองคาย, จ.บึงกาฬ และฝั่งลาว

เทศกาลบั้งไฟพญานาค อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ประเพณีช่วงวันออกพรรษาที่เลื่องชื่อที่สุดในประเทศไทย ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑

งานบั้งไฟพญานาคถือเป็นงานเทศกาลประเพณีที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารของอังกฤษว่า เป็น ๑ ใน ๕ กิจกรรมในประเทศไทยที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกไม่ควรพลาด บั้งไฟพญานาคยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้แน่ชัด แต่มีคำอธิบายเป็น ๓ แนวทาง คือ

๕.๑) เป็นปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติตามตำนาน...จริงหรือไม่ที่พญานาคกลั่นดวงประทีปเพื่อบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ?

๕.๒) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ

๕.๓) เป็นการกระทำของมนุษย์

ประโยชน์เนื่องในวันออกพรรษา

๑. เมื่อวันออกพรรษามาถึงเป็นการเตือนใจชาวพุทธว่า เวลาที่ผ่านไป ชีวิตก็ใกล้ตายเข้าไปทุกขณะแล้ว ควรเร่งทำกุศล และยังได้ถึงความปีติที่ได้บำเพ็ญกิจมาตลอดพรรษา และเป็นการเตือนสติอย่าให้จิตของตนละเลิกการทำอกุศล ไม่ให้ตกไปสู่ทางอบายมากเกินไป

๒. ประโยชน์ที่โดดเด่นคือประโยชน์ของการปวารณาที่สงฆ์การกระทำกันในวันออกพรรษา เพื่อให้สงฆ์ดำรงค์ความเป็นปึกแผ่นแน่นเหนียวยากแก่การทำลาย

ปกติคนเราคบกันนานๆ ก็จะเผย “สันดาน” ที่แท้ออกมา อาจจะไม่ดีนักแต่ตนเองไม่รู้ตัวแล้วมองไม่เห็น แต่ผู้อยู่ข้างๆ มองเห็นแต่ไม่กล้าเตือน ดังนั้น ตนเองต้องปวารณาตัวให้ผู้อื่นชี้แนะได้ ความสัมพันธ์ก็จะดีขึ้นและยั่งยืน

ถ้าคนในชาติเราทุกฝ่ายหันมาปวารณากัน คือ เปิดใจกัน เปิดเผยซึ่งกันและกัน หันหน้ามารวมพลังกันพัฒนาประเทศความทุกข์ก็จะบรรเทาเบาบางลง

๓. ได้ข้อคิดที่ว่าคนเราส่วนใหญ่มักจะลำเอียงเข้าข้างตนเองเป็นฝ่ายถูก ความผิดของคนอื่นเห็นง่ายส่วนตนเองนั้นความผิดนั้นเห็นยาก นี่แหละสัญชาตญาณของคนเรา

๔. เป็นการให้รู้ถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในการเปิดใจซึ่งกันและกัน โดยไม่มีเล่ห์เหลี่ยมลับลมคมในใดๆ ต่อกัน ในการคบหาหรืออยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข


เพื่อความเข้าใจ: วันสุดท้ายของการอยู่จำพรรษา ๓ เดือน ของพระภิกษุ ตามคัมภีร์เรียกว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา นั้น ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เราเรียกกันว่า "วันออกพรรษา" ตามที่เข้าใจกันทั่วไป แต่ตามพระวินัยบัญญัติ พระภิกษุทั้งหลายยังต้องอยู่ในจำพรรษาในคืนวันนั้น (วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑) อีกคืนหนึ่ง จะไปค้างแรมที่อื่นเลยไม่ได้ ต้องให้ผ่านอรุณเข้าวันใหม่ (วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑) เสียก่อน


หมายเหตุ: ออกปุริมพรรษา คือ การออกพรรษาต้น เป็นการเข้าและออกพรรษาตามปกติตามพระวินัยพุทธานุญาต พระสงฆ์ที่ออกพรรษาต้นจะได้รับกรานกฐินและได้รับอานิสงส์กฐิน แต่สำหรับพระสงฆ์ที่ออกพรรษาในกรณียกเว้นคือ ออกปัจฉิมพรรษา จะไม่มีโอกาสได้รับกฐินและอานิสงส์กฐิน เพราะจำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ จึงต้องจำครบ ๓ เดือน และต้องออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เป็นเวลาหมดกฐินกาลพอดี (วันรับกฐินได้จะนับวัน วันถัดจากวันออกพรรษาแล้ว ๑ วัน)

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา