วันวิสาขบูชา หรือวันเพ็ญเดือน ๖ นับเป็นวันที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธ เพราะเกิดเหตุการณ์สำคัญทางพุทธศาสนามากถึง ๓ เหตุการณ์ คือวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้นจึงมีคำเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่าวันพระพุทธเจ้า

วันวิสาขบูชา (อังกฤษ: Vesak, บาลี: Vesākha คำอ่าน วิสาขปุณฺณมีปูชา, สันสกฤต: Vaiśākha) เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนาสำหรับชาวพุทธทุกนิกายทั่วโลก ทั้งเป็นวันหยุดราชการในหลายประเทศ และวันสำคัญในระดับนานาชาติตามข้อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ๓ เหตุการณ์ด้วยกัน คือ การประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระโคตมพุทธเจ้า โดยทั้งสามเหตุการณ์ได้เกิด ณ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ หรือวันเพ็ญแห่งเดือนวิสาขะ (ต่างปีกัน) ชาวพุทธจึงถือว่า เป็นวันที่รวมเกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่าวิสาขบูชา ย่อมาจากวิสาขปุรณมีบูชา แปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

ตามปฏิทินของอินเดีย วันเพ็ญเดือนวิสาขะ นับเป็นเดือนที่สอง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย และมักตรงกับเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายนตามปฏิทินจันทรคติของไทย โดยในประเทศไทย ถ้าปีใดมีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๗ แต่ประเทศอื่นที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท และไม่ได้ถือคติตามปฏิทินจันทรคติไทย จะจัดพิธีวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ แม้ในปีนั้นจะมีเดือน ๘ สองหนตามปฏิทินจันทรคติไทยก็ตาม ส่วนในกลุ่มชาวพุทธมหายานบางนิกายที่นับถือว่า เหตุการณ์ทั้ง ๓ นั้นเกิดในวันต่างกันไป จะมีการจัดพิธีวิสาขบูชาต่างวันกันตามความเชื่อในนิกายของตน ซึ่งไม่ตรงกับวันวิสาขบูชาตามปฏิทินของชาวพุทธเถรวาท

ความเป็นมาและความสำคัญ

ภาพวาดการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของพระโคตมพุทธเจ้า ผลงานของ จิตรกร มาโนชญ์ เพ็งทอง

วันวิสาขบูชานั้นได้รับการยกย่องจากพุทธศาสนิกชนทั่วโลกให้เป็นวันสำคัญสากลทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเป็นวันที่บังเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๓ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าและจุดเริ่มต้นของศาสนาพุทธ ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดได้เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน ณ ดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล โดยเหตุการณ์แรก เมื่อ ๘๐ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในพระราชอุทยานลุมพินีวัน (อยู่ในเขตประเทศเนปาล ในปัจจุบัน) และเหตุการณ์ต่อมา เมื่อ ๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นวันที่เจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มโพธิ์พฤกษ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (อยู่ในเขตประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) และเหตุการณ์สุดท้าย เมื่อ ๑ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็น วันเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มสาลพฤกษ์ ในสาลวโนทยาน พระราชอุทยานของเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา (อยู่ในเขตประเทศอินเดีย ในปัจจุบัน) โดยเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนเกิดตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ หรือเดือนวิสาขะ นี้ทั้งสิ้น ชาวพุทธจึงนับถือว่าวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ เป็นวันที่รวมวันคล้ายวันเกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าไว้มากที่สุด และได้นิยมประกอบพิธีบำเพ็ญบุญกุศลและประกอบพิธีพุทธบูชาต่าง ๆ เพื่อเป็นการถวายสักการะรำลึกถึงแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบมาจนถึงปัจจุบัน

สำหรับพิธีกรรมทางพุทธศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชานั้น มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่าพุทธชยันตี หรือสัมพุทธชยันตี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ และพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๕ เช่นใน อินเดีย และศรีลังกา ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ เช่น ประเทศอินเดีย ประเทศไทย ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น (ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทมากที่สุด) ในฝ่ายของประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ได้รับคติการปฏิบัติบูชาในวันวิสาขบูชามาจากลังกา (ประเทศศรีลังกา) ส่วนประเทศไทยนั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีการจัดพิธีวิสาขบูชามาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

สัญลักษณ์ พุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วทั้งโลก (ซึ่งไม่เหมือนวันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา ที่เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่นิยมนับถือกันเฉพาะในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา) และด้วยเหตุนี้ ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล (อังกฤษ: International Day) ตามข้อมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๕๔/๑๑๒ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ ๓ เหตุการณ์ดังกล่าว ที่ถือได้ว่าเป็นวันคล้ายวันประสูติ ของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาได้ตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงกอปรไปด้วยพระบริสุทธิคุณ พระปัญญาคุณ ผู้ซึ่งได้ทรงสั่งสอนประกาศพระสัจธรรม คือ ความจริงของโลก แก่ชนทั้งปวงโดยพระมหากรุณาธิคุณ จวบจนทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในวาระสุดท้าย ทั้งสามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสืบเนื่องในวันเพ็ญเดือน ๖ นี้ ทำให้พระพุทธศาสนาได้บังเกิดและสืบต่อมาอย่างมั่นคงจนถึงปัจจุบัน

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (เดือน ๖) ตรงกันทั้ง ๓ คราว คือ

  • เช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ
  • เช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบัน สถานที่แห่งนี้เรียกว่าพุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
  • หลังจากตรัสรู้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงออกประกาศพระธรรมวินัยและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา ๔๕ ปี เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคระ รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย)

เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญทั้ง ๓ เหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น เกิดขึ้นตรงกันในวันเพ็ญ เดือน ๖ ชาวพุทธจึงเรียกการบูชาในวันนี้ว่าวันวิสาขบูชา ซึ่งแปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ (บางแห่งเรียกว่าวันพระพุทธเจ้า หรือพุทธชยันตี )

เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันวิสาขบูชาตามพุทธประวัติ

วันประสูติ

จากหลักฐานชั้นบาลี (พระไตรปิฎก) และอรรถกถา กล่าวว่า หลังจากพระโพธิสัตว์ผู้ดำรงอยู่ในดุสิตเทวโลกได้บำเพ็ญพระบารมีครบถ้วนแล้ว ได้ทรงรับคำอาราธนาเพื่อจุติลงมาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์จึงได้จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาสู่พระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา (ทรงเป็นพระราชมเหสีแห่งพระเจ้าสุทโธทนะศากยราชา แห่งกรุงกบิลพัสดุ์) เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี ระกา ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี

(ตามนัยอรรถกถา) พระนางสิริมหามายา ทรงประสูติพระโอรสพระนามว่าสิทธัตถะกุมาร ณ ใต้ร่มไม้สาละ ภายในพระราชอุทยานลุมพินีวัน ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ (แคว้นสักกะ หรือ ศากยะ) และกรุงเทวทหะ (แคว้นโกลิยะ)

เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรถ์ครบถ้วนทศมาส (๑๐ เดือน) ในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส (ตรงกับ วันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี) พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับไปประสูติพระราชบุตรยังเมืองเทวทหะอันเป็นเมืองบ้านเกิดของพระองค์ แต่ขณะเสด็จพระราชดำเนินได้เพียงกลางทางหรือภายในพระราชอุทยานลุมพินีวันซึ่งตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะต่อกัน พระองค์เกิดประชวรพระครรภ์จะประสูติ อำมาตย์ผู้ตามเสด็จจึงจัดร่มไม้สาละถวาย พระนางจึงประสูติพระโอรส ณ ใต้ร่มไม้สาละนั้น โดยขณะประสูติพระนางประทับยืน พระหัตถ์ทรงจับกิ่งสาละไว้ เมื่อพระโพธิสัตว์ประสูติแล้ว (โดยอาการที่พระบาทออกจากพระครรภ์ก่อน) พระโพธิสัตว์ได้ทรงพระดำเนินไปได้ ๗ ก้าว และได้ทรงเปล่งอาสภิวาจา (วาจาประกาศความเป็นผู้สูงสุด) ขึ้นว่า

อคฺโคหมสฺมึ โลกสฺส เชฏฺโฐหมสฺมึ โลกสฺส.

เสฏฺโฐหมสฺมึ โลกสฺส. อยมนฺติมา ชาติ. นตฺถิทานิ ปุนพฺภโว.

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. อจฺฉริยอพฺภูตธมฺมสุตฺต อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๙-๒๕๑/๓๖๖-๗-๘-๙, ๓๗๑

หมายความว่า

เราเป็นผู้เลิศแห่งโลก, เราเป็นผู้เจริญที่สุดแห่งโลก, เราเป็นผู้ประเสริฐที่สุดแห่งโลก. ชาตินี้ เป็นชาติสุดท้าย. บัดนี้ ภพใหม่ย่อมไม่มี ดังนี้

โดยการทรงเปล่งอาสภิวาจาเป็นอัศจรรย์นี้ นับเป็นบุรพนิมิตแห่งพระบรมโพธิญาณ ที่เจ้าชายน้อยผู้เป็นพระบรมโพธิสัตว์จักได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลอีกไม่นาน

การตรัสรู้

เหตุการณ์การตรัสรู้พระบรมสัมมาสัมโพธิญาณของเจ้าชายสิทธัตถะนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญลำดับที่สองของพระพุทธเจ้าที่ได้เกิดในวันเพ็ญ เดือนวิสาขมาส ซึ่งเหตุการณ์นี้ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดของพระพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนา โดยถือได้ว่าเป็นการเกิดครั้งที่สองของเจ้าชายสิทธัตถะ คือ ครั้งแรกนั้นเพียงเกิดเป็นมนุษย์ แต่การตรัสรู้นี้ถือว่าเป็นการเกิดใหม่อีกครั้ง เป็นการเกิดที่หาได้โดยยาก เป็นการเกิดที่สมบูรณ์พร้อมด้วยอริยผล รู้แจ้งซึ่งสรรพกิเลสทั้งปวง หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร คือ ทุกข์และสุขทั้งปวงได้หมดสิ้น เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็น "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า" แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง (ผู้ไม่ได้รับบัญชาจากใคร ผู้ไม่ได้รับโองการจากพระผู้สร้าง หรือเทพเทวดาองค์ไหน) เป็นการ "รู้แจ้งโลกทั้งปวง" ที่เจ้าชายสิทธัตถะในฐานะมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งพึงกระทำได้ และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะ "รู้" เหมือนที่พระองค์ทรงรู้ด้วยเหมือนกัน ดังนั้น จึงทำให้มีผู้เรียกพระธรรมวินัยหรือคำสั่งสอนของพระองค์ว่า "พระพุทธศาสนา" แปลว่า "ศาสนาของผู้รู้แจ้ง - ศาสนาของผู้ (ปฏิบัติเพื่อ) หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล"

การออกผนวช

(ตามนัยอรรถกถา) หลังจากเจ้าชายสิทธัตถะหนีออกจากพระราชวัง ทรงตัดพระเมาฬีที่ริมฝั่งแม่น้ำอโนมานทีเพื่ออธิษฐานเพศเป็นบรรพชิต

เหตุการณ์การออกผนวชจากหลักฐานชั้นต้น คือ พระไตรปิฎก กล่าวว่า เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะอายุได้ ๒๙ พรรษา ได้ทรงปรารภเหตุคือ ความแก่ เจ็บ ตาย ที่มีอยู่ทุกคนเป็นธรรมโลก ไม่มีใครจะรอดพ้นไปได้ แต่เพราะว่ามิได้ฟังคำสั่งสอนของผู้รู้ จึงทำให้มัวแต่มานั่งรังเกียจเหตุเหล่านั้นว่าเป็นของไม่ควรคิด ไม่ควรสนใจ ทำให้คนเราทั้งหลาย มัวมาแต่ลุ่มหลงอยู่ในกิเลสทั้งหลายเพราะความเมา ๓ ประการ คือ เมาว่าตัวยังหนุ่มยังสาวอยู่อีกนานกว่าจะแก่ ๑ เมาว่าไม่มีโรคอยู่และโรคคงจะไม่เกิดแก่เรา ๑ เมาว่าชีวิตเป็นของยั่งยืน ๑ มัวแต่ใช้ชีวิตทิ้งไปวัน ๆ กล่าวคือ ทรงดำริว่า

...มนุษย์ทั้งหลายมีความทุกข์เกิดขึ้นครอบงำอยู่ตลอดเวลาก็จริง เกลียดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาก็จริง
แต่ทำไมมนุษย์ทั้งหลายยังมัวแสวงหาทุกข์ร้อนใส่ตัวอยู่ตลอดเวลา แล้วทำไม เราต้องมามัวนั่งแสวงหาทุกข์ใส่ตัว (ให้โง่) อยู่อีกเล่า!

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค อุปริ. ม. มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้เจ้าชายสิทธัตถะถึงกับตั้งพระทัยออกผนวชด้วยดำริว่า

เมื่อรู้ว่าการเกิดมี (ทุกข์) เป็นโทษแล้ว เราพึงแสวงหา "นิพพาน" อันไม่มีความเกิด อันเป็นธรรมที่เกษมจากเครื่องร้อยรัด ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าเถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปาสราสิสุตฺต โอปทฺทมวคฺค มู. ม. ๑๒/๓๑๖/๓๑๖

นอกจากนี้ ในสคารวสูตร มีพระพุทธพจน์ตรัสสรุปสาเหตุที่ทำให้ทรงตั้งพระทัยออกบรรพชาไว้สั้น ๆ ว่า

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี, ส่วนบรรพชาเป็นโอกาสแสงสว่าง; ผู้อยู่ครองเรือนจะประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์โดยส่วนเดียว เหมือนสังข์ที่เขาขัดดีแล้ว, โดยง่าย นั้นไม่ได้. ถ้าไฉนเราพึงปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมน้ำฝาดออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีประโยชน์เกี่ยวข้องด้วยเรือน เถิด

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. สคารวสุตฺต พฺราหฺมณวคฺค ม. มู.๑๓/๖๖๙/๗๓๘

ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหลายนี้พระองค์จึงทรงตั้งพระทัยเสด็จออกผนวช โดยการเสด็จออกผนวชตามนัยพระไตรปิฎกนั้น มิได้ทรงหนีออกจากพระราชวัง แต่เสด็จออกผนวชต่อหน้าพระราชบิดาและพระราชมารดาเลยทีเดียว ดังในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค ว่า

...เรายังหนุ่มเทียว เกสายังดำจัด บริบูรณ์ด้วยเยาว์อันเจริญในปฐมวัย, เมื่อบิดามารดาไม่ปรารถนาด้วย กำลังพากันร้องไห้ น้ำตานองหน้าอยู่ เราได้ปลงผมและหนวด ครองผ้าย้อมฝาด ออกจากเรือน บวชเป็นผู้ไม่มีเรือนแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺต ราชวคฺค ม. มู. ๑๓/๔๔๓/๔๘๙

แสวงหาอาจารย์

เมื่อทรงออกผนวชแล้ว พระองค์ทรงเข้าศึกษาในสำนักลัทธิต่าง ๆ เช่น สำนักอาฬารดาบส รามบุตร และสำนักอุทกดาบส รามโคตร ได้บรรลุสมาบัติ สิ้นความรู้เจ้าสำนักทั้งสอง แต่พระองค์ยังไม่ทรงพอพระทัยเพราะสมาบัติทั้ง ๘ นั้น ไม่สามารถทำให้พระองค์ตรัสรู้ได้ จึงทรงออกจากสำนักของอาจารย์ทั้งสอง เสด็จไปถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เป็นสถานที่รมณียสถาน มีป่าชัฏ แม่น้ำใสสะอาด และมีโคจรคาม (สถานที่บิณฑบาต) อยู่โดยรอบ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะบำเพ็ญเพียรอยู่ ณ ที่แห่งนี้

บำเพ็ญทุกกรกิริยา

พระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกกรกิริยาไม่เสวยพระกระยาหารจนพระวรกายผอมเหลือถึงกระดูก (ตามนัยอรรถกถา) พระอินทร์ดีดพิณถวายข้ออุปมา

ในช่วงแรกนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรทางกาย คือ "ทุกกรกิริยา" คือ การบำเพ็ญเพียรที่นักพรตผู้บำเพ็ญตบะในสมัยนั้นยกย่องว่าเป็นยอดของการบำเพ็ญเพียรทั้งปวง ๓ ประการ โดยในระหว่างบำเพ็ญเพียร ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ ผู้เป็นพราหมณ์ (โกณฑัญญะ) และบุตรแห่งพราหมณ์ (ปัญจวัคคีย์ที่เหลือ) ที่ได้ร่วมงานทำนายลักษณะมหาบุรุษแห่งเจ้าชายสิทธัตถะ (ในคราว ๕ วันหลังจากประสูติ) ว่า "ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะออกผนวช จักได้เป็นศาสดาเอกของโลก" เมื่อท่านเหล่านั้นได้ทราบข่าวการออกผนวชของเจ้าชายสิทธัตถะ จึงชักชวนกันออกบวชเพื่อตามหาเจ้าชาย และได้พบเจ้าชายสิทธัตถะในขณะกำลังบำเพ็ญทุกกรกิริยาจึงคอยเฝ้าอยู่ปฏิบัติ ต่อมา เมื่อพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเพียรถึงขั้นยวดยิ่งแล้วแต่ยังไม่ตรัสรู้ พระองค์ได้ทราบอุปมาแห่งพิณ ๓ สาย ว่าการปฏิบัติเช่นนี้เป็นหนทางอันสุดโต่งเกินไป จึงได้ละทุกกรกิริยาเสีย หันกลับมาเสวยอาหาร เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ จึงคิดว่าพระองค์ทรงคลายความเพียรทางกายด้วยทุกกรกิริยา ไม่มีโอกาสตรัสรู้ได้ จึงพาพวกละทิ้งพระองค์ไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

วันตรัสรู้

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะกลับมาเสวยพระกระยาหารจนพระวรกายกลับมามีพระกำลัง ขึ้นเหมือนเดิมแล้ว จึงทรงเปลี่ยนมาเริ่มบำเพ็ญเพียรทางใจต่อไป จนล่วงเข้าเช้าวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขมาส หลังบรรพชาได้ ๖ ปี นางสุชาดา ธิดานายบ้านอุรุเวลาเสนานิคม ได้นำข้าวมธุปายาสไป ถวายพระองค์ขณะประทับอยู่ ณ ต้นไทรใกล้กับบ้านของนาง ด้วยคิดว่าพระองค์เป็นเทวดา เพราะวันนั้นพระองค์มีรัศมีผ่องใส จนเมื่อทรงรับเสวยข้าวมธุปายาสแล้วจึงได้ทรงนำถาดทองคำไปอธิษฐานลอยในแม่น้ำ เนรัญชรา

(ตามนัยอรรถกถา) พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี ๑๐ ทัศ แม่พระธรณีบิดพระเกศา เกิดเป็นสมุทรธารา พระยามารก็พ่ายแพ้แก่พระบารมี

จวบจนเวลาเย็น ได้ทรงรับถวายหญ้าคา (หญ้ากุศะ) ๘ กำมือ จากนายโสตถิยะพราหมณ์ ทรงนำไปปูลาดเป็นโพธิบัลลังก์ ณ ใต้ต้นอัสสถะพฤกษ์ (หลังจากการตรัสรู้จึงได้ชื่อใหม่ว่า "ต้นพระศรีมหาโพธิ์" หรือ "ต้นโพธิ์") ต้นหนึ่ง ริมฝั่งน้ำเนรัญชรา ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก หันพระปฤษฏางค์ (หลัง) ไปทางลำต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงอธิษฐานในพระทัยว่า

...หนัง เอ็น กระดูก จักไม่เหลืออยู่ เนื้อและเลือดในสรีระ จักเหือดแห้งไปก็ตามที เมื่อยังไม่ลุถึงประโยชน์อันบุคคลจะลุได้ด้วยกำลังของบุรุษ (การตรัสรู้) ด้วยความเพียรของบุรุษ (มนุษย์) ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักหยุดความเพียรนั้นเสีย เป็นไม่มีเลย...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ปญิจมสุตฺต กมฺมกรณวคฺค ทุก. อํ ๒๐/๖๔/๒๕๑

จากนั้น พญามารได้ยกพลเสนามารมาผจญ พระองค์ต้องต่อสู้ด้วยพระบารมี ๑๐ ทัศ กล่าวในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ ทรงต่อสู้กับกิเลสภายในใจจนทรงเอาชนะได้ด้วยพระบารมี คือ ความลำบากในการบำเพ็ญความดีทั้งปวง อันทรงได้สั่งสมมาตลอดแต่ครั้งเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงต่อสู้จนพญามารพ่ายแพ้ไปตอนพระอาทิตย์จะตกแล้ว พระองค์จึงทรงเริ่มเจริญสมถภาวนา ทำจิตใจให้เป็นสมาธิ จนบรรลุปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน ตามลำดับ แล้วทรงทำให้ฌานอันเป็นองค์แห่งปัญญา ๓ ประการ เกิดขึ้นในยามทั้ง ๓ คือ

๑. ปฐมยาม ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงสามารถระลึกชาติได้

(ตามนัยอรรถกถา) พระพุทธองค์ทรงเอาชนะพญามาร (กิเลส) พอรุ่งอรุณก็ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เทวดาฟ่ายฟ้อนร่อนรำถวายเป็นพุทธบูชา

๒. มัชฌิมยาม ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ รู้การตายการเกิดของสัตว์ทั้งปวง หรืออีกนัยหนึ่งเรียกว่าได้ ทิพยจักษุญาณ คือ ตาทิพย์

๓. ปัจฉิมยาม พระองค์ได้ทรงพิจารณาปฏิจจสมุปบาท คือ ธรรมที่อาศัยซึ่งกันและกัน เกิดขึ้นเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันต่อเนื่องเสมือนกับลูกโซ่ จนได้รู้แจ้งซึ่งอริยสัจธรรม ๔ ประการ คือ

ทุกข์ ความทุกข์ สภาวะที่ทนได้ยาก ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ (ปัญหา)
สมุทัย สาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (สาเหตุของปัญหา)
นิโรธ ความดับไปซึ่งต้นเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ (จุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา)
มรรค หนทางที่จะดับทุกข์ได้ (วิธีการแก้ปัญหา)

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๒๘/๑๖๖๔

แล้วพระองค์จึงทรงบรรลุซึ่ง "อาสวักขยญาณ" คือ ความรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวกิเลสทั้งปวง เมื่อนั้นจิตของพระองค์ก็หลุดพ้นจากกิเลสและอาสวะทั้งปวง ไม่มีความยึดถือมั่นด้วยตัณหาอุปาทาน อันเป็นการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ สำเร็จเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างสมบูรณ์ ในยามที่ ๓ แห่งคืนวิสาขมาส ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี

ตั้งแต่นั้น พระองค์ทรงได้รับการถวายพระนามบัญญัติโดยคุณนิมิตแห่งพระองค์ว่า "อรหํ" เป็นพระอรหันต์ผู้ห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง และ "สมฺมาสมฺพุทฺโธ" เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ได้ตรัสรู้ชอบได้โดยลำพังพระองค์เอง หามีผู้ใดเป็นครูอาจารย์ไม่ ต่อมา พระองค์ได้ทรงนำสิ่งที่พระองค์ทรงรู้แจ้งในวันตรัสรู้นี้มาเผยแก่หมู่ชนทั้ง หลาย พระองค์จึงทรงได้รับขนานพระนามว่า "สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า" สืบมา

วันปรินิพพาน

ทรงปลงพระชนมายุสังขาร

ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี สถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร

พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติดำรงตนในฐานะพระบรมศาสดา เผยแผ่พระธรรมวินัย คือ พระพุทธศาสนาแก่พหูชนชาวชมพูทวีปเป็นเวลากว่า ๔๕ ปี ทำให้พระศาสนาตั้งหลักฐานอย่างมั่นคง ณ ชมพูทวีปกว่าพันปี และพระพุทธศาสนาได้ขยายออกไปทั่วแผ่นดินเอเชียนับแต่นั้นมา จวบจนพระพุทธองค์มีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา มีพระวรกายชราภาพเสมือนคนทั่วไป พระองค์ตรัสว่า ศาสนาของพระองค์ได้ทรงตั้งมั่นแล้ว ทรงทำหน้าที่แห่งพระพุทธเจ้าบริบูรณ์แล้ว ในเวลาสามเดือนก่อนจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ขณะพระองค์ประทับอยู่ ณ ปาวาลเจดีย์ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน เมืองเวสาลี ได้ตรัสอภิญญาเทสิตธรรมแก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วพระองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขารว่า

...ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนท่านทั้งหลาย: สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา..., ตถาคตจักปรินิพพาน โดยกาลล่วงไปแห่งสามเดือนจากนี้...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๒/๑๐๙

เสด็จไปเมืองกุสินารา

(ตามนัยอรรถกถา) เช้าวันเพ็ญเดือน ๖ ทรงเสวยสูกรมัททวะ ที่บ้านนายจุนทะ นับเป็นปัจฉิมบิณฑบาต

จากนั้น พระองค์เสด็จไปบ้านภัณฑคาม, บ้านหัตถิคาม จนเสด็จถึงเมืองปาวา โดยลำดับ ที่นี่พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้ (ต่อจากนี้ พระองค์ประชวรด้วยโรคปักขันธิกาพาธอย่างกล้าจวบจนสิ้นพระชนมายุ)

พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า

“อานนท์ ต่อไปภายหน้าหากจะพึงมีใครทำความร้อนใจ แก่นายจุนทกัมมารบุตร ว่าเพราะบิณฑบาตที่ท่านถวายพระผู้มีพระภาค ครั้งสุดท้ายแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน พึงทำความสบายใจให้แก่นายจุนทะว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสสรรเสริญว่า บิณฑบาตที่ถวายพระตถาคต ๒ ครั้ง คือ ครั้งที่พระตถาคตเสวยแล้วได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และครั้งที่พระตถาคตเสวยแล้วเสด็จดับขันธปรินิพพาน เป็นทานมีผลมาก มีอานิสงส์มากกว่า บิณฑบาตทานทั้งหลายเป็นกุศลกรรม ทำให้เจริญอายุ วรรณะ สุข ยศ และสวรรค์ ดังนี้เถิด”

จากนั้น ได้เสด็จไปสู่เมืองกุสินารา ในกลางทางทรงพักที่ร่มไม้แห่งหนึ่ง รับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดสังฆาฏิเพื่อเสวยน้ำดื่มและทรงสนทนากับปุกกุสสะ มัลละบุตร จนเกิดศรัทธาถวายผ้าเนื้อดีสองผืน ทรงรับสั่งให้นำมาห่มคลุมพระองค์ผืนหนึ่ง อีกผืนหนึ่งรับสั่งให้ถวายแก่พระอานนท์ เมื่อปุกกุสสะถวายผ้านั้นแล้วหลีกไป พระอานนท์ได้น้อมถวายผ้าของตนแก่พระพุทธเจ้า ได้เห็นพระวรกายของพระองค์ว่ามีพระฉวีผ่องใสยิ่งจึงได้ทูลถาม พระองค์ตรัสตอบว่า

...อานนท์! เป็นอย่างนั้น, กายของตถาคต ย่อมมีฉวีผุดผ่องในกาลสองครั้งคือ ในราตรีที่ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ, และราตรี ที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. อานนท์! การปรินิพพานของตถาคตจักมีในระหว่างต้นสาละคู่ ในสวนสาละอันเป็นที่พัก ของพวกมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา ในตอนปัจฉิมยามคืนนี้...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑๗

ประทับสีหไสยาสน์

เมื่อเสด็จถึงพระราชอุทยานของมัลลกษัตริย์ พระองค์ทรงให้พระอานนท์จัดที่บรรทมระหว่างต้นสาละคู่ ขณะทรงประทับสีหเสยยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ได้เกิดอัศจรรย์ คือ ดอกาละผลิดอกผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ ดอกมณฑารพ จุรณ์ไม้จันทร์ ตกลงและดนตรีทิพย์บรรเลงขึ้นเพื่อบูชาแก่พระพุทธเจ้า เทวดาทั่วโลกธาตุได้มาประชุมกันเพื่อเห็นพระพุทธเจ้า บางองค์คร่ำครวญเสียใจด้วยอาการต่าง ๆ

ประทานพระปัจฉิมโอวาท

จากนั้น พระองค์ทรงอนุญาตให้พวกมัลละกษัตริย์เข้าเฝ้าและได้ตรัสแก้ปัญหาของสุภัททะ ปริพาชก จนเกิดศรัทธาขอบรรพชาด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาเป็นพระสาวกองค์สุดท้ายในบรรดา สาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์ แล้วตรัสให้พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์เป็นผู้สืบศาสดาไว้ว่า

...อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑๗

จากนั้นตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ อีก ๔-๕ เรื่อง จนในที่สุดตรัสพระปัจฉิมโอวาทเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า

...หนฺททานิ ภิกฺขเว อามนฺตยามิ โว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ...

แปลว่า : ภิกษุทั้งหลาย! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอทั้งหลายว่า "สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา. พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด"

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑๗

ปรินิพพาน

(ตามนัยอรรถกถา) ทรงยกพระธรรมวินัยไตรปิฎกเป็นศาสดา ประทานปัจฉิมโอวาทแล้วปรินิพพาน

จากนั้น พระองค์ทรงนิ่งเงียบ หลับตา ทรงเข้าอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ มีรูปฌาน ๔ คือ ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน จากนั้นเป็นอรูปฌาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ (เรียกรวมเป็น สมาบัติ ๘) และ นิโรธสมาบัติ ๑ ชื่อเต็มคือสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วย้อนลงมาตามลำดับจนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกเป็น ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌานเป็นปัจฉิมสมาบัติ เมื่อออกจากจตุตถฌานจึง เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสถึงความดับสมุทัยอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ (เสด็จดับขันธปรินิพพาน) ไว้เมื่อคราวทรงพระชนม์อยู่ว่า

...ต้นไม้ เมื่อโคนต้นยังอยู่ ไม่มีอุปัทวะ แม้ถูกตัด (ส่วนบน) แล้วก็งอกได้อีกอยู่นั่น ฉันใดก็ดี แม้ทุกข์นี้ก็ฉันนั้น เมื่อตัณหานุสัยยังมิได้ถูกถอนทิ้งแล้ว ก็ได้เกิดร่ำไป...

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. ขุ. ธ. ๒๕/๓๓๘/๑๓๘

กล่าวคือ พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานเพราะความดับไปแห่งสมุทัย คือ ได้ทรงถอนเสียสิ้นซึ่งต้นและราก กิเลสตัณหาอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวงนี้แล้วเมื่อในวันตรัสรู้ การเสด็จดับขันธปรินิพพานนี้จึงเป็นการตายครั้งสุดท้ายของพระพุทธองค์ โดย "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ" (สิ้นตัณหาเมื่อคราวตรัสรู้ และสิ้นขันธ์ห้า เมื่อคราวปรินิพพาน)

เมื่อนั้นได้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ โลมชาติลุกขึ้นชูชัน กลองทิพย์บรรลือลั่นไปในอากาศ ไว้อาลัยแด่การจากไปของพระพุทธองค์ ผู้ทรงเป็นบรมครูของโลก กายของพระองค์สิ้นเชื้อคือตัณหาที่จะนำไปเกิดในภพใหม่ ครั้นกายแตกดับแล้ว ถึงความเป็นของว่าง ไม่มีอะไรเหลือสำหรับส่วนผสมของกายในภพต่อไป พระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานในปัจฉิมราตรี วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี ตามการนับของไทย (หากเป็นกัมพูชาหรือพม่า จะนับเป็น พ.ศ. ๑ ทันที ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)

พุทธสังเวชนียสถานเนื่องด้วยวันวิสาขบูชา

เหตุการณ์สำคัญทั้ง ๓ เหตุการณ์ที่เกิดในวันวิสาขบูชา เกิดภายในบริเวณที่เรียกว่าชมพูทวีป (อังกฤษ: Jambudvipa แปลว่าทวีปแห่งไม้หว้า ) ในสมัยพุทธกาล หรือประเทศอินเดียและเนปาลในปัจจุบัน โดยสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงประสูติ อยู่ที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาลในปัจจุบัน, สถานที่ตรัสรู้ อยู่ที่พุทธคยา และสถานที่ปรินิพพาน อยู่ที่กุสินารา ประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดย ๒ ใน ๓ ของพุทธสังเวชนียสถานที่เกี่ยวข้องกับวันวิสาขบูชาได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลก (อังกฤษ: World Heritage Site)

สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ (ลุมพินีวัน)

แผ่นทองเหลืองที่ถอดคำจารึกด้วยอักษรพราหมี (อ่านว่า พราม - มี) จากเสาอโศก ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

ลุมพินีวัน (บาลี: Lumbinī, โรมัน: Lumbini Vana) เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญแห่งที่ ๑ ใน ๔ สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ (บาลี: Siddhārtha Gautama, สิทธัตถะ โคตมะ) ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดียแต่เดิมนั้น ลุมพินีวันเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานที่ร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว พระเจ้าอโศกมหาราชได้โปรดให้สร้างเสาหินขนาดใหญ่มาปักไว้ เมื่อครั้งเสด็จมานมัสการ ณ สถานที่ประสูติ ครั้งนั้นได้นำเสด็จนมัสการพุทธสถาน พระองค์ได้โปรดให้สร้างอนุสรณ์สถานไว้เป็นเสาศิลา เรียกว่าเสาอโศก (อังกฤษ: Pillars of Ashoka) ที่จารึกข้อความเป็นอักษรพราหมี (อังกฤษ: Brahmi, อ่านว่า พราม - มี) และในปี ค.ศ. ๑๘๙๖ ดร.ฟือห์เรอร์ (อังกฤษ: Alois Anton Führer) นักโบราณคดีชาวเยอรมัน เป็นผู้ค้นพบและถอดความจารึกนี้ ความว่า

เทวาน ปิเยน ปิยทสิน ลาชิน วีสติวสาภิสิเตน

อตน อาคาจ มหียิเต หิท พุเธ ชาเต สกฺยมุนีติ

ลีลาวิคฑภี จา กาลาปิต สิลาถเก จ อุสปาปิเต

หิท ภควํ ชาเต ลุมินิคาเม อุพลิเก กเฏ อฐ ภาคิเย จ ฯ

เสาศิลาจารึกของพระเจ้าอโศก ค.ศ. ๑๙๓๐

หมายความว่า

พระเจ้าเทวานัมปิยทัสสี (หมายถึง พระเจ้าอโศกมหาราช)

เมื่อทรงได้รับอภิเษกแล้ว ๒๐ ปี ได้เสด็จมานมัสการ ณ ที่นี้

ด้วยพระองค์เอง ด้วยว่าพระศากยมุนีได้ประสูติ ณ ที่นี้

โปรดให้สร้างรูปวิคฑะ และประดิษฐานหลักศิลาไว้เป็นที่หมาย

โดยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ประสูติ ณ สถานที่นี้

จึงโปรดให้ยกเว้นภาษีแก่หมู่บ้านลุมพินีนี้

และทรงให้เสียแต่เพียง ๑ ใน ๘ ของผลผลิตเป็นค่าภาษีที่ดิน

ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล

ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ (เมืองหลวงของแคว้นสักกะ หรือศากยะ ) และกรุงเทวทหะ (เมืองหลวงของแคว้นโกลิยะ ) บนฝั่งแม่น้ำโรหิณี เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

เสาอโศก (Pillars of Ashoka) เครื่องหมายสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตั้งอยู่ติด ๆ กับมหามายาเทวีวิหาร (Maya Devi Temple) ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล แต่เดิมนั้น ตัวอาคารมหามายาเทวีวิหาร เป็นสีแดง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนทาสีเป็นสีขาวแล้ว

ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ
— ที่มา: วิสุทฺธชนวิลาสินี ๑, หน้า ๖๔

หมายความว่า

ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ

หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายเท่านั้น หาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวัน อีกไม่ คาดว่า สาเหตุที่พระพุทธองค์ไม่ได้เสด็จมายังลุมพินีอีกนั้น เนื่องจากลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยาน ไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

ซากโบราณสถานที่ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ในสภาพหลังจากการบูรณะแล้ว

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ ๒๙๔ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้ เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ นำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน

หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ ๗๐๐ ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. ๙๐๐ หลวงจีนฟาเหียน (อังกฤษ: Fa-hsien) ได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๑๔ - ๑๖ กิโลเมตร

สระโบกขรณี เป็นสระน้ำที่พระนางสิริมหามายา ได้ทรงสรงสนาน (อาบน้ำ) ชำระพระวรกายในวันให้ประสูติกาลพระมหาบุรุษ

ต่อมา ในปี พ.ศ. ๑๑๘๑ สมณะเฮี้ยนจัง หรือพระถังซัมจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้ทำการการจดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ ๒๔ ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด

ในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ - ๒๔๓๙ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม นักโบราณคดีชาวอังกฤษ และคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมี ระบุว่า ที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า ๕๐ องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. ๓๐๐ - พ.ศ. ๙๕๐)

ด้านนอกของพระอุโบสถ ในวัดไทยลุมพินี วัดไทยแห่งแรกในประเทศเนปาล

ในปัจจุบัน ลุมพินีวันอยู่ในเขตประเทศเนปาล ติดชายแดนประเทศอินเดียทางเหนือเมืองโคราฆปุระ ห่างจากเมืองติเลาราโกต (อังกฤษ: Tilaurakot หรือนครกบิลพัสดุ์ ) ทางทิศตะวันออก ๑๑ กิโลเมตร และห่างจากสิทธารถนคร (หรือนครเทวทหะ ) ทางทิศตะวันตก ๑๑ กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ

ปัจจุบันนี้ ลุมพินีวันมีเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ ไร่ ทางการเรียกสถานที่นี้ว่ารุมมินเด (อังกฤษ: Rummindei) มีสภาพเป็นชนบท มีผู้อาศัยอยู่ไม่มาก มีสิ่งปลูกสร้างเป็นพุทธสถานเพียงเล็กน้อย แต่มีวัดพุทธอยู่ในบริเวณนี้หลายวัด รวมทั้งวัดไทยลุมพินี (อังกฤษ: Royal Thai Monastery Lumbini Nepal) ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๐

สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้ (พุทธคยา)

พระมหาโพธิเจดีย์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ

พุทธคยา (อังกฤษ: Bodh Gaya, บาลี: พุทฺธคยา, ฮินดี: बोधगया) คือคำเรียกกลุ่มพุทธสถานสำคัญในอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นพุทธสถานที่มีความสำคัญที่สุด ๑ ใน ๔ แห่ง ของชาวพุทธ เนื่องจากเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพุทธสังเวชนียสถาน ที่มีความสำคัญที่สุดของชาวพุทธทั่วโลก ปัจจุบัน บริเวณพุทธศาสนสถานอันเป็นที่ตั้งของสถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าวัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ซึ่งในขณะนี้ อยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธและฮินดู

พุทธคยาในปัจจุบันตั้งอยู่ด้านตะวันตกของแม่น้ำเนรัญชรา ไกลจากฝั่งแม่น้ำประมาณ ๓๕๐ เมตร (นับจากพระแท่นวัชรอาสน์) พุทธคยามีสัญลักษณ์ที่สำคัญคือ องค์เจดีย์สี่เหลี่ยมที่สูงใหญ่ โดยสูงถึง ๕๑ เมตร ฐานวัดโดยรอบได้ ๑๒๑.๒๙ เมตร ล้อมรอบด้วยโบราณวัตถุ โบราณสถานสำคัญ เช่น ต้นพระศรีมหาโพธิ์ พระแท่นวัชรอาสน์ ที่ประทับตรัสรู้ และอนิมิสสเจดีย์ เป็นต้น ซึ่งนอกจากพุทธสถานโบราณแล้ว บริเวณโดยรอบพุทธคยายังเป็นที่ตั้งของวัดพุทธนานาชาติ รวมทั้งวัดไทยคือวัดไทยพุทธคยา (อังกฤษ: Thai Buddhist temples in Bodh Gaya) ซึ่งเป็นวัดไทยแห่งแรกในประเทศอินเดีย

สำหรับชาวพุทธแล้ว พุทธคยานับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลกที่ต้องการมาสักการะสังเวชนียสถานสำคัญ ๑ ใน ๔ แห่งของพระพุทธศาสนา โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ วัดมหาโพธิ์ (พุทธคยา) สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ขององค์การยูเนสโก

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล

ภาพวาดพระมหาบุรุษ (นามบัญญัติของเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากออกบวช และก่อนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ) ขณะที่ทรงมาถึงอุรุเวลาเสนานิคม แคว้นมคธ ดินแดนชมพูทวีป (สร้างสรรค์ภาพโดย ครูเหม เวชกร)

ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา (อังกฤษ: Uruwela) ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.

— ที่มา: สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ ๗ สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา ๗ สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะ และภัลลิกะ ๒ พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผง และสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก

หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่าอานันทโพธิ์ และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เหนือพระแท่นวัชรอาสน์ หรือโพธิบัลลังก์ ที่พุทธคยา ในอำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย สถานที่ตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ต้นโพธิ์ที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ

บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณ์สถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล

สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรก เป็นสหชาติ กับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ ๓๕๒ ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระมเหสีองค์ที่ ๔ ของพระเจ้าอโศกมหาราช พระนามว่ามหิสุนทรี หรือพระนางติษยรักษิต (อังกฤษ: Tissarakkha) ได้รับสั่งให้นางข้าหลวงนำยาพิษและน้ำร้อนแอบไปรดที่โคนต้นพระศรีมหาโพธิ์เพื่อทำลาย บางแห่งบอกว่า พระนางเอาเงี่ยงกระเบนมีพิษมาทิ่มรากต้นพระศรีมหาโพธิ์ จนทำให้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ตายไปในที่สุด เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ ๘๗๑ - ๘๙๑ ปี จนถูกทำลายในประมาณ พ.ศ. ๑๑๔๓ - พ.ศ. ๑๑๖๓ ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอล พระนามว่าสาสังการ ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ กล่าวกันว่า ๗ วันหลังจากนั้น พระเจ้าสาสังการ ทรงได้รับผลกรรมจากการสั่งให้ทำลายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทั่วพระวรกายเกิดแผลพุพอง เน่าเปื่อยเนื้อหลุดเป็นชิ้น ๆ อาเจียนเป็นพระโลหิต และสิ้นพระชนม์อย่างอนาถที่พุทธคยา

ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้น ปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา พระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ชาวพุทธแห่งแคว้นมคธ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า ๑,๒๕๘ - ๑,๒๗๘ ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๓

ภาพวาดสีน้ำพระมหาโพธิ์เจดีย์ (ไม่ปรากฏนามศิลปินผู้วาด) ได้รับการเผยแพร่เป็นส่วนหนึ่งในแม็คเคนซี่ คอลเล็คชั่น (MacKenzie Collection) เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. ๑๗๘๙ - ค.ศ. ๑๘๒๐

สำหรับความเป็นไปของพระมหาโพธิเจดีย์ นั้น พระเจ้าหุวิษกะ (อังกฤษ: Huviṣka ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๖๘๓ - พ.ศ. ๗๒๓ รวมระยะเวลา ๔๐ ปี) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ใน พ.ศ. ๖๙๔ เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ (อังกฤษ: Vajrashila หรือ The Diamond throne) ทางทิศตะวันออก มี ๒ ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่า ๒,๐๐๐ ปี

ในบางช่วง พระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้างและถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง และได้แปลงมหาโพธิเจดีย์เป็นเทวสถาน

เหตุการณ์เริ่มขึ้นใน พ.ศ. ๒๑๓๓ จากการที่นักบวชฮินดู หรือพราหมณ์มหันต์ (อังกฤษ: Mahant) ชื่อว่าโคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่อาศัยไปนาน ๆ เข้า จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย มีผู้กล่าวว่าพราหมณ์มหันต์ นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่า ติดอันดับมหาเศรษฐี ๑ ใน ๕ ของรัฐพิหาร และผู้นำของมหันต์องค์ที่ ๑๕ ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์ การที่พวกมหันต์ มาครอบครองพุทธคยานั้น ก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไรทั้งสิ้น เพียงใช้พื้นที่ เพื่อหาประโยชน์เท่านั้นเอง

สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากข้อความในบทความของเซอร์ เอ็ดวิน อาร์โนลด์ (อังกฤษ: Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่าเป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ และน่าเลื่อมใสมาก คือประทีปแห่งเอเชีย (อังกฤษ: The Light of Asia, กล่าวกันว่า เมื่อหนังสือพุทธประวัตินี้ได้ตีพิมพ์ไปทั่วโลก เป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลก เริ่มเข้ามาหาทางบูรณะพุทธสถานต่าง ๆ ในอินเดีย) ซึ่งท่านเซอร์ ได้เดินทางไปที่พุทธคยา และได้พบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความไว้ตอนหนึ่งว่า

ตะวันตกและตะวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์
(EAST and West : A Splendid Opportunity)

ภาพวาดสีน้ำ เมื่อปี ค.ศ. ๑๘๐๐ โดยกัปตัน เจมส์ คร็อคแคท (Capt. James Crockatt) บ่งบอกถึงสภาพของพระมหาโพธิ์เจดีย์ ในสมัยที่ยังไม่ได้รับการดูแล

ไม่มีข้อกังขาสงสัยใด ๆ ในความเป็นจริงของสถานที่สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ของชาวพุทธ คือกบิลพัสดุ์ (ปัจจุบัน Bhuila) ซึ่ง เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ, ป่าอิสิปตนะ ภายนอกเมืองพาราณสี ซึ่งพระพุทธองค์ได้แสดงธรรมเทศนา, กุสินารา ที่พระองค์ได้ปรินิพพาน และสถานที่ตรัสรู้ ซึ่งมีต้นโพธิ์ เป็นเครื่องหมาย ในวันเพ็ญเดือน ๖ เมื่อ ๒๓๘๓ ปี มาแล้ว พระองค์ได้บำเพ็ญเพียรทางจิตและมีศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งพระองค์ได้นำความเจริญทางอารยธรรมมาสู่เอเชีย

บรรดาสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่พุทธคยา คือ สิ่งที่มีค่าและศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั่วทั้งเอเชีย ทำไมหรือ เพราะว่า ปัจจุบันตกอยู่ในมือของนักบวชพราหมณ์ ผู้ไม่ได้ดูแลวัดเลย นอกจากว่าจะถือเอาเป็นกรรมสิทธิ์เท่านั้น และพวกเขาได้ตักตวงเอาผลประโยชน์เป็นอย่างมาก

ความจริงในเรื่องนี้ ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๓ กล่าวคือ ๑,๔๐๐ ปีมาแล้ว สถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่พิเศษสุดและชาวพุทธรักษาไว้ แต่ได้ทรุดโทรมลงและถูกปล่อยปละละเลย เหมือนกับวัดพุทธศาสนาแห่งอื่น ๆ จากการอันตรธานสูญหายของพุทธศาสนาจากอินเดีย ๓๐๐ ปีต่อมา นักบวชศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะมาถึงที่นี้ และตั้งหลักปักฐาน ณ ที่ตรงนี้ ได้เริ่มครอบครองสิ่งที่อยู่รอบ ๆ ซึ่งได้เห็นและก่อตั้งโรงเรียนสอนศาสนาขึ้นมา พวกเขามีกำลังมากจึงเข้ายึดครองเป็นเจ้าของวัดพุทธคยา ซึ่งรัฐบาลเบงกอลได้เข้ามาบูรณะ และพื้นที่รอบพุทธคยา ในปี พ.ศ. ๒๔๒๓ (ค.ศ. ๑๘๘๐) และได้ขอส่วนหนึ่งของรั้วเสาหินสมัยพระเจ้าอโศก จากพวกมหันต์ ซึ่งพวกเขาได้นำไปสร้างบ้าน เพื่อนำกลับมาตั้งไว้ ณ ที่เดิม แต่พวกมหันต์ไม่ได้คืนมา และท่านเซอร์ อาชเลย์ เอเดน (Sir Ashley Eden) ก็ไม่สามารถผลักดันการบูรณะให้แล้วเสร็จได้

ภาพปกหนังสือประทีปแห่งเอเชีย เรียบเรียงโดยเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์

ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมคืนที่ดี และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่ของศรัทธา ดังเช่นนครเมกกะ และเยรูซาเลม (Mecca and Jeruzaiem) เป็นศูนย์กลางศรัทธาของผู้ศรัทธานับล้านคน

เมื่อข้าพเจ้าได้พักที่โรงแรมที่พุทธคยาปีสองปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ารู้สึกเศร้าใจที่เห็นเครื่องบูชาสาร์ท (Shraddh) ของพวกฮินดูในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ และวัตถุโบราณที่มีค่าจำนวนมากหลายพันชิ้น ซึ่งจารึกด้วยภาษาสันสกฤตได้ถูกทิ้งจมอยู่ในดิน

ข้าพเจ้าได้ถามนักบวชฮินดูว่า “ข้าพเจ้าจะขอใบโพธิ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ศักดิ์สิทธิ์ได้หรือไม่”

“เจ้านาย จงหักเอาเท่าที่คุณชอบ มันไม่มีค่าอะไรสำหรับเรา” นี้เป็นคำตอบจากพวกเขา

ไม่มีความละอายจากอาการที่พวกเขาไม่สนใจใยดี ข้าพเจ้าเก็บใบโพธิ์ ๓ - ๔ ใบอย่างเงียบ ๆ ซึ่งพวกมหันต์ได้หักมาจากกิ่งบนหัวของพวกเขา และข้าพเจ้าได้นำใบโพธิ์ไปยังศรีลังกา เมื่อได้คัดลอกจารึกที่เป็นภาษาสันสกฤต ที่นั้น (ศรีลังกา) ข้าพเจ้าได้พบว่า ใบโพธิ์เป็นสิ่งมีค่าสำหรับชาวพุทธที่ศรีลังกา ซึ่งต้อนรับด้วยความกระตือรือร้นและศรัทธา ใบโพธิ์ที่ข้าพเจ้าถวาย ได้ถูกนำไปที่เมืองแคนดี้ และได้ใส่ไว้ในผอบที่มีค่าและได้รับการบูชาทุก ๆ วัน

— — ที่มา: ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia) เรียบเรียงโดย เซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์, กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๒๒

พระมหาโพธิเจดีย์ ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๗ ในคราวที่พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะพระมหาเจดีย์ หลังถูกทิ้งร้างไปกว่าพันปี

ในปี พ.ศ. ๒๔๑๗ พระเจ้ามินดง (อังกฤษ: Mindon Min, ทรงครองราชย์ระหว่าง ๑๘ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๘๕๓ - ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๗๘) กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอุปราชแห่งอินเดียเพื่อขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงเริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งเซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิงแฮม (อังกฤษ: Sir Alexander Cunningham, ๒๓ มกราคม ค.ศ. ๑๘๑๔ - ๒๘ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๘๙๓) กับดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ เมื่อคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ใน พ.ศ. ๒๔๒๗

หลังจากบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกแล้ว บทความของท่านเซอร์ นับเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งเพราะในเวลาต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๔ อนาคาริก ธรรมปาละ (บาลี: Anagārika Dharmapāla, สิงหล: අනගාරික ධර්මපාල, ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๗ - ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๖) ชาวพุทธศรีลังกา ได้จัดตั้งสมาคมมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Society) และเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้พุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศพระพุทธศาสนาทั่วโลกให้ความสนใจในการบูรณะและฟื้นฟูพุทธคยา

จนกระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๐ รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕๐๐ (วิสาขบูชากึ่งพุทธกาล) โดยชวาหะร์ลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๐ และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ โดยรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่อง จนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

สถานที่เนื่องด้วยการปรินิพพาน (กุสินารา)

มหาปรินิพพานวิหาร (The Parinirvana Temple) อยู่ติด ๆ กับมหาปรินิพานสถูป (The Parinirvana Stupa) ซึ่งสร้างมาแต่เดิม ภายในสาลวโนทยาน เมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย

กุสินารา (ฮินดี: कुशीनगर, อูรดู: کُشی نگر‎, อังกฤษ: Kusinaga, Kushinagar) เป็นที่ตั้งของสังเวชนียสถานแห่งที่ ๔ ในสมัยพุทธกาล เป็นเมืองเอกหนึ่งในสองของแคว้นมัลละ (อังกฤษ: Malla) อยู่ตรงข้ามฝั่งแม่น้ำคู่กับเมืองปาวา (อังกฤษ: Pava) เป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน (คือสวนป่าไม้สาละ ) มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่ามาถากุนวะระกาโกฎ ซึ่งแปลว่าตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง (จีน: 玄奘; พินอิน: Xuánzàng ประมาณ ค.ศ. ๖๐๒ - ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๖๖๔) ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราว พ.ศ. ๑๓๐๐ ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า

...เมืองกุสินาราเต็มไปด้วยป้อมปราการ หอสูง และสังฆาราม อยู่ห่างจากเมืองเวสาลี ๑๙ โยชน์ กุสินาราเป็นเมืองหลวงของมัลละกษัตริย์ อยู่ในสภาพปรักหักพัง มองเห็นตัวเมืองและหมู่บ้านเป็นสถานที่รกร้าง หาคนอยู่อาศัยมิได้ กำแพงเมืองเก่าที่ก่อไว้โดยอิฐ มองดูโดยรอบยาวประมาณ ๑ ลี้ มีคนอาศัยอยู่ในกำแพงเมืองเก่าเพียงเล็กน้อย ตามถนนสายเล็ก ๆ ของเมืองเป็นที่ร้าง ... ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง ห่างไป ๓ - ๔ ลี้ เราข้ามแม่น้ำอชิตวดีไปทางตะวันตกของแม่น้ำนั้น ไม่ไกลนักเป็นสาลวโนทยาน มีไม้สาละขึ้นเป็นหมู่ใหญ่ ลักษณะของไม้เป็นเปลือกสีขาว ส่วนใบสะอาดเป็นเงาไม่มีขรุขระ ในป่าไม้สาละนั้น มีสาละใหญ่อยู่ ๔ ต้น ที่มีลักษณะใหญ่กว่าไม้อื่น ๆ ...

จุนทสถูป (Cunda's Stupa) บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ (Cunda's house) อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน

เมื่อพระโคตมพุทธเจ้า มีพระชนมายุราว ๘๐ พรรษา พระวรกายได้เสื่อมทรุดไปตามสังขารวัยของพระองค์ นอกจากนี้ยังมีพระโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและยังมีพระอาการปวดเรื้อรัง ในปีสุดท้ายของพระองค์นั้น พระองค์ประชวรพระนาภีอย่างรุนแรงจนเกือบจะปรินิพพาน และเมื่อทรงเสด็จถึงเมืองปาวา ที่นี่ พระองค์ได้ประทับที่สวนมะม่วงของนายจุนทะ กัมมารบุตร ทรงแสดงธรรมแก่นายจุนทะ และเสด็จไปรับบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้น พระองค์ทรงอนุญาตรับบิณฑบาตเสวยสูกรมัททวะที่นายจุนทะจัดไว้

ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านเกี่ยวกับบ้านนายจุนทะ ความว่า

...ประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมือง มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าผู้สร้างคือพระเจ้าอโศกมหาราช สถานที่แห่งนี้เป็นซากบ้านของนายจุนทะบุตรของนายช่างทอง (จุนทะกัมมารบุตร) คนที่ได้ถวายภัตตาหารครั้งสุดท้ายแก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า กลางหมู่บ้าน มีบ่อแห่งหนึ่ง เป็นบ่อที่ขุดฝังอาหารที่เหลือจากเศษเสวยของพระพุทธองค์ และพระพุทธองค์รับสั่งให้ฝังเสีย ไม่ทรงยอมให้ภิกษุอื่นบริโภค น้ำในบ่อนั้นล่วงเลยมานานเพียงใดก็ดี ก็ยังมีน้ำสะอาดใสอยู่เสมอ...

กุสินาราในสมัยพุทธกาล

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเวลา ๗ วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณมกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ ๘ อันเป็นที่มาของวันอัฏฐมีบูชา วันสำคัญอีกวันหนึ่งของชาวพุทธ

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยาน อยู่ในแคว้นมัลละ โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่าโกสินารกา และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่าปาเวยยมัลลกะ ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง ๑๒ กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคอย่าเสด็จ ปรินิพพาน ในเมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมืองนี้เลย นครใหญ่เหล่าอื่น มีอยู่คือ เมืองจัมปา เมืองราชคฤห์ เมืองสาวัตถี เมืองสาเกต เมืองโกสัมพี เมืองพาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคจงเสด็จปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์มหาศาล พราหมณ์มหาศาล คฤหบดีมหาศาล ที่เลื่อมใสพระตถาคตอย่างยิ่ง มีอยู่มากใน เมืองเหล่านี้ ท่านเหล่านั้นจักกระทำการบูชาพระสรีระของพระตถาคต ดังนี้ ฯ

— ที่มา: มหาสุทัสสนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

สถานที่สันนิษฐานว่าเป็นที่โทณพราหมณ์แจกพระบรมสารีริกธาตุแก่เจ้าผู้ครองนครทั้ง ๘ ในกุสินารานคร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกรอานนท์ เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ว่า เมืองเล็ก เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลย ดูกรอานนท์ แต่ปางก่อน มีพระเจ้าจักรพรรดิ ทรงพระนามว่า มหาสุทัสสนะ เป็นกษัตริย์ผู้ได้มูรธาภิเษก เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร ๔ เป็นขอบเขต ทรงชนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง ดูกรอานนท์ เมืองกุสินารานี้ มีนามว่า กุสาวดี เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัสสนะ โดย ยาวด้านทิศบูรพาและทิศประจิม ๑๒ โยชน์ โดยกว้างด้านทิศอุดรและทิศทักษิณ ๗ โยชน์ ดูกรอานนท์ กุสาวดี ราชธานีเป็นเมืองที่มั่งคั่งรุ่งเรือง มีชนมาก มนุษย์หนาแน่นและมีภิกษาหาได้ง่าย...
— ที่มา: มหาสุทัสสนสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค

หลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า ๗ วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ (อังกฤษ: Ramabhar Stupa) ในวันที่ ๘ หลังพุทธปรินิพพาน

มกุฏพันธนเจดีย์ (Ramabhar Stupa) เมืองกุสินารา สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า

ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านเกี่ยวกับมกุฏพันธนเจดีย์ ความว่า

...ทางทิศเหนือของเมืองกุสินารา (ในมหาปรินิพพานสูตรว่าทางทิศตะวันออก) เราเดินข้ามแม่น้ำสายหนึ่ง เดินไปประมาณ ๓๐๐ ก้าว ได้พบพระสถูปองค์หนึ่ง สถานที่นี้เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พื้นดินตรงที่ถวายพระเพลิง บางแห่งเป็นสีเหลืองปนดำ บางแห่งร่วนเหมือนกับถ่านไฟ...

สาเหตุสำคัญที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินารา เป็นสถานที่ปรินิพพาน คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน

หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆ สถูปใหญ่คือมหาปรินิพานสถูป (อังกฤษ: Parinirvana Stupa) อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

พระพุทธรูปปางมหาปรินิพพาน ในพระวิหารแห่งมหาปรินิพพานสถูป

ในบันทึกของพระถังซัมจั๋ง ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านเกี่ยวกับมหาปรินิพานสถูป ความว่า

...ในสาลวโนทยาน มีสถูปแห่งหนึ่งเหลือแต่ซาก มีหลักฐานว่าสร้างโดยพระเจ้าอโศก ทางตะวันออกเฉียงเหนือมีแม่น้ำหิรัญญวดี (ในบันทึกบอกว่าอชิตวดี) มีน้ำเปี่มอยู่ มีไม้สาละขึ้นอยู่เต็มทั้งป่า วิหารใหญ่ก่ออิฐถือปูน มีพระพุทธรูปไสยาสน์ปางปรินิพพานหันเศียรไปทางทิศเหนือ มีลักษณะเหมือนบรรทมหลับ ข้าง ๆ มีสถูปใหญ่ มีจารึกว่าพระเจ้าอโศกมหาราชเป็นผู้สร้าง แม้จะทรุดโทรม แต่ก็ยังเหลือความสูงถึง ๒๐๐ ฟุต ข้างสถูปมีศิลาจารึกว่า ที่นี่ เป็นที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระตถาคต...

พระมหาธาตุเฉลิมราชย์ศรัทธา ภายในวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา

ต่อมา เมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ (อังกฤษ: Magadha, บาลี: मगध คำอ่าน มะคะธะ) ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองหลวงคือปาตลีบุตร (อังกฤษ: Pataliputra บ้างก็เขียนปาฏลีบุตร ) ปัจจุบันคือปัฏนา (อังกฤษ: Paṭnā ฮินดี: पटना เป็นเมืองหลวงของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย) สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า

พระเจ้าอโศกมหาราช เสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. ๓๑๐ ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ ๑๐๐,๐๐๐ กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี

หลวงจีนฟาเหียน (อังกฤษ: Faxian บ้างก็เขียน Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิ ระหว่าง พ.ศ. ๙๔๒ - ๙๔๗ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (อักษรโรมัน: Chandragupta II บ้างก็เรียกพระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์ ) แห่งราชวงศ์คุปตะ (อังกฤษ: Gupta Dynasty) ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า

เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก ๒ หลัก ปักปรากฏอยู่ ๒ แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์

ซากปรักหักพังของพระสถูปจำนวนมากในเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย

ในพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ราชวงศ์สกลจุรี ได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. ๑๗๔๓ ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ภิกษุมหาวีระสวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเน ซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่ามหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา

ใน พ.ศ. ๒๓๙๗ นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนใน พ.ศ. ๒๔๐๔ - ๒๔๒๐ เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (อังกฤษ: Sir Alexander Cunningham) ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนใน พ.ศ. ๒๔๑๘ - ๒๔๒๐ นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ

หลักธรรมในวันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญ ๆ ของพระพุทธเจ้าถึง ๓ เหตุการณ์ คือ การประสูติ การตรัสรู้ และการปรินิพพาน ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเหตุการณ์เหล่านั้น คติธรรมหลักคือไตรลักษณ์ หรืออนิจจลักษณะ อันได้แก่ความเป็นธรรมดาของโลก ๓ ประการ คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์คือตั้งอยู่ในสภาพเดิมมิได้ และอนัตตา ความที่สังขารทั้งหลายไม่สามารถบังคับบัญชาให้เป็นไปตามที่เราต้องการได้ (เช่น บังคับไม่ให้แก่ไม่ได้ บังคับไม่ให้ตายไม่ได้) ซึ่งทุกสรรพสิ่งในโลก ล้วนตกอยู่ในสภาพ ๓ ประการนี้ แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของโลก ก็ยังต้องทรงตกอยู่ในกฎเหล่านี้ ไม่มีใครสามารถพ้นไปได้

สำหรับหลักธรรมคติเทียบเคียงกับเหตุการณ์ทั้ง ๓ ที่สามารถนำมาประพฤติปฏิบัติได้ ๓ อย่าง คือ

ความกตัญญู

(ตามนัยอรรถกถา) เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะ (พระพุทธบิดา) ทรงประชวร พระพุทธองค์เสด็จโปรด กระทั่งพระเจ้าสุทโธทนะสำเร็จพระอรหันต์แล้วนิพพาน

ในเหตุการณ์วันประสูติ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "หลักความกตัญญู" เพราะในพระพุทธประวัติ แม้พระนางสิริมหามายา ผู้เป็นพระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะจะสิ้นพระชนม์ไปหลังที่เจ้าชายประสูติ ได้เพียง ๗ วัน แต่เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้แล้ว ก็ได้เสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนดาวดึงสเทวโลก ถึงแม้พระเจ้าสุทโธทนะ ผู้เป็นพระราชบิดา พระพุทธองค์ก็เสด็จไปโปรดถึงพระราชวังที่ประทับ จนพระเจ้าสุทโธทนะประชวรหนักใกล้สวรรคต พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จเข้าไปโปรดจนพระราชบิดาได้บรรลุสำเร็จเป็นพระอรหันต์ และนิพพานในพระราชวังในวันนั้นเอง

ซึ่งในเรื่องความกตัญญูต่อบิดามารดา และผู้มีอุปการะก่อนนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้หลายพระสูตรด้วยกัน เช่นใน หลักทิศ ๖ เป็นต้น ซึ่งความกตัญญูนั้นไม่ได้จำกัดเฉพาะกับบุคคลเท่านั้น แต่รวมไปแม้กระทั่งต้นไม้ที่ให้ร่มเงาด้วย ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

"บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาต้นไม้ใด ไม่ควรหักกิ่งต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตร เป็นคนเลวทราม"

— ที่มา: พระไตรปิฏก ขุททกนิกาย ชาดก. ๒๘/๒๖

ความกตัญญู จึงนับได้ว่าเป็นหลักสำคัญในพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง มีตัวอย่างหลายเรื่องในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าพระพุทธองค์ทรง ยกย่องผู้มีความกตัญญูต่อบิดามารดา เช่น เรื่องพระภิกษุเลี้ยงบิดามารดาในมหานิบาต เป็นต้น ซึ่งทำให้พระพุทธองค์ตรัสว่า

"นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา"

แปลว่า: "ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี"

— ที่มา: พระไตรปิฏก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต "ปุตตสูตร"

กล่าวโดยสรุป เหตุการณ์ประสูตินี้เป็นเครื่องเตือนให้พุทธศาสนิกชนระลึกถึงความกตัญญู กตเวที ที่ทุกคนควรมีในตนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม

อริยสัจ ๔

ในเหตุการณ์วันตรัสรู้ สามารถยกหลักธรรมมาเทียบเคียงได้ คือ "อริยสัจ ๔" อันเป็นหลักธรรมในการแก้ปัญหาชีวิตที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ คือ

๑. "ทุกข์" ความไม่สบายกายไม่สบายใจ สภาวะที่ทนได้ยากทั้งหลาย (ปัญหา)

๒. "สมุทัย" ต้นเหตุของความทุกข์ คือกิเลสตัณหา (ต้นเหตุของปัญหา)

๓. "นิโรธ" จุดหมายที่จะดับทุกข์ คือนิพพาน (วางเป้าหมาย)

๔. "มรรค" แนวทางในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ (ลงมือแก้ไข)

— ที่มา: พระไตรปิฏก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๕๒๘/๑๖๖๔

ความไม่ประมาท

ในเหตุการณ์วันปรินิพพาน พระพุทธองค์ตรัสปัจฉิมโอวาทไว้บทหนึ่ง อันเป็นยอดของคำสอนในพระพุทธศาสนาที่ทุกคนควรนำมาปฏิบัติ คือ การมีสติอยู่ทุกเมื่อ ไม่ให้ความทุกข์ร้อนใจอันเกิดจากอำนาจกิเลสเข้าครอบงำ กล่าวคือ ความไม่ประมาทในกาลทุกเมื่อ โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

"...อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ..."

แปลว่า: "พวกเธอทั้งหลาย จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วย ความไม่ประมาท เถิด"

— ที่มา: สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. มหาปรินิพฺพานสุตฺต มหา. ที. ๑๐/๑๔๙/๑๑๗

การประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย

วันวิสาขบูชา นี้ ปรากฏตามหลักฐานว่า ได้มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี ซึ่งสันนิษฐานว่า คงจะได้แบบอย่างมาจากลังกา กล่าวคือ เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาอย่างมโหฬาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา กษัตริย์ลังกาในรัชกาลต่อ ๆ มา ก็ทรงดำเนินรอยตาม แม้ปัจจุบันก็ยังถือปฏิบัติอยู่

สมัยสุโขทัยนั้น ประเทศไทยกับประเทศลังกา มีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนาใกล้ชิดกันมาก เพราะพระสงฆ์ชาวลังกา ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนา และเชื่อว่าได้นำการประกอบพิธีวิสาขบูชามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย

ในหนังสือนางนพมาศ ได้กล่าวบรรยากาศการประกอบพิธีวิสาขบูชาสมัยสุโขทัยไว้ พอสรุปใจความได้ว่า "เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัยทั่วทุกหมู่บ้าน ทุกตำบล ต่างช่วยกันทำความสะอาด ประดับตกแต่งพระนครสุโขทัยเป็นการพิเศษ ด้วยดอกไม้ของหอม จุดประทีปโคมไฟแลดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นการอุทิศบูชาพระรัตนตรัย เป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืน พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน

ส่วนชาวสุโขทัยชวนกันรักษาศีล ฟังธรรมเทศนา ถวายสลากภัต ถวายสังฆทาน ถวายอาหารบิณฑบาต แด่พระภิกษุ สามเณร บริจาคทรัพย์แจกเป็นทานแก่คนยากจน คนกำพร้า คนอนาถา คนแก่ คนพิการ บางพวกก็ชวนกันสละทรัพย์ ปล่อยสัตว์ ๔ เท้า ๒ เท้า และเต่า ปลา เพื่อชีวิตสัตว์ให้เป็นอิสระ โดยเชื่อว่าจะทำให้คนอายุยืนยาวต่อไป"

ในสมัยอยุธยา สมัยธนบุรี และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ด้วยอำนาจอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ เข้าครอบงำประชาชนคนไทย และมีอิทธิพลสูงกว่าอำนาจของพระพุทธศาสนา จึงไม่ปรากฎหลักฐานว่า ได้มีการประกอบพิธีบูชาในวันวิสาขบูชา จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ทรงดำริกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สำนักวัดราชบูรณะ มีพระราชประสงค์จะให้ฟื้นฟูการประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชา ขึ้นใหม่ โดย สมเด็จพระสังฆราช ถวายพระพรให้ทรงทำขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ พ.ศ. ๒๓๖๐ และให้จัดทำตามแบบอย่างประเพณีเดิมทุกประการ เพื่อมีพระประสงค์ให้ประชาชนประกอบการบุญการกุศล เป็นหนทางเจริญอายุ และอยู่เย็นเป็นสุขปราศจากทุกข์โศกโรคภัย และอุปัทวันตรายต่างๆ โดยทั่วหน้ากัน

ฉะนั้น การประกอบพิธีในวันวิสาขบูชาในประเทศไทย จึงได้รื้อฟื้นให้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ และถือปฏิบัติมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน

พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีพุทธชยันตี ๒,๕๐๐ ปี หรืองานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

การจัดงานเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกยุคทุกสมัย คงได้แก่การจัดงานเฉลิมฉลอง วันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ซึ่งทางราชการเรียกว่างานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๘ พฤษภาคม รวม ๗ วัน ได้จัดงานส่วนใหญ่ขึ้นที่ท้องสนามหลวง ส่วนสถานที่ราชการ และวัดอารามต่างๆ ประดับธงทิวและโคมไฟสว่างไสวไปทั่วพระราชอาณาจักร ประชาชนถือศีล ๕ หรือศีล ๘ ตามศรัทธาตลอดเวลา ๗ วัน มีการอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์รวม ๒,๕๐๐ รูป ประชาชน งดการฆ่าสัตว์ และงดการดื่มสุรา ตั้งแต่วันที่ ๑๒ ถึง ๑๔ พฤษภาคม รวม ๓ วัน มีการก่อสร้างพุทธมณฑล จัดภัตตาหาร เลี้ยงพระภิกษุสงฆ์วันละ ๒,๕๐๐ รูป ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารแก่ประชาชน วันละ ๒๐๐,๐๐๐ คน เป็นเวลา ๓ วัน ออกกฎหมาย สงวนสัตว์ป่าในบริเวณนั้น รวมถึงการฆ่าสัตว์ และจับสัตว์ในบริเวณวัด และหน้าวัดด้วย และได้มีการปฏิบัติธรรมอันยิ่งใหญ่อย่างพร้อมเพรียงกัน เป็นกรณีพิเศษ ในวันวิสาขบูชาปีนั้นด้วย

ในอดีตตั้งแต่สมัยสุโขทัย สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธีวิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน (ในภาพ) ขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อประดิษฐานยังท้องสนามหลวงให้ประชาชนสักการบูชา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชา

ความจากหนังสือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ดังกล่าวมานี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเกี่ยวกับเค้าโครงของหนังสือนี้ว่า มีเค้าโครงมาจากสมัยสุโขทัยจริง แต่รายละเอียดบางส่วนอาจจะมีการแต่งเสริมกันขึ้นมาในสมัยอยุธยาหรือรัตนโกสินทร์ อย่างไรก็ดี จากหลักฐานดังกล่าว (แม้จะไม่แน่ชัด) การพิธีวิสาขบูชา ย่อมเริ่มมีมาแต่สมัยสุโขทัย เพราะในสมัยนั้น กรุงสุโขทัยได้สืบพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากลังกาประเทศ ซึ่งเป็นเมืองที่มั่นทางพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช และขนาดของการจัดพิธีบูชาเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของชาวศรีลังกานั้น นับเป็นพิธีใหญ่และสำคัญมากของอาณาจักรมาตั้งแต่แรกรับพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การจัดพิธีเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาของประเทศศรีลังกานั้น มีความสำคัญและส่งอิทธิพลต่อประเทศพุทธศาสนาอื่นเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาณาจักรสุโขทัยที่รับสืบพระพุทธศาสนามาจากประเทศศรีลังกาโดยตรง

หลังการเสื่อมอำนาจของอาณาจักรสุโขทัย จนถึงในสมัยอยุธยาก็สันนิษฐานว่าคงมีการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาอยู่ แต่ลดความสำคัญลงไปมาก จนไม่ปรากฏหลักฐานในพระราชพงศาวดารหรือจารึกใด จนมาในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ พิธีวิสาขบูชาจึงได้รับการฟื้นฟูอีกครั้ง หลังจากความเสื่อมของพระพุทธศาสนาหลังยุคสุโขทัยล่มสลาย เพราะหลังจากสิ้นยุคอาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรอยุธยาได้ถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางคติพราหมณ์ซึ่งได้รับจากการซึมซับ วัฒนธรรมฮินดูแบบขอม (นครวัด) จนในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒) พระองค์ได้มีพระราชประสงค์ให้ทำการฟื้นฟูการประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น พระองค์ได้ทรงปรึกษากับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) ให้วางแนวปฏิบัติการพระราชพิธีวิสาขบูชา และพระราชพิธีวันวิสาขบูชาครั้งแรกในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ได้จัดขึ้นเป็นการพระราชพิธีใหญ่ ๓ วัน ๓ คืน นับตั้งแต่วันศุกร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึง วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ. ๒๓๖๐) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) ได้ทรงเพิ่มจัดให้มีการเทศน์ปฐมสมโพธิกถา (พระพุทธประวัติ) ในวันวิสาขบูชาด้วย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชารอบระเบียงพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) ปรากฏหลักฐานว่าได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการจุดดอกไม้เพลิงถวายเป็นพุทธบูชา และให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการฝ่ายใน และหน่วยราชการต่าง ๆ เดินเวียนเทียน จัดโคมประทีป และสวดมนต์ที่พระพุทธรัตนสถาน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีการจัดพิธีวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

จากความเป็นมาของการจัดพิธีวิสาขบูชาในประเทศไทยจากสมัยสุโขทัยจนถึงปัจจุบันดังกล่าว กล่าวได้ว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้พิธี วิสาขบูชาแพร่หลายในหมู่ประชาชน ซึ่งปัจจุบันการพิธีวิสาขบูชาก็ได้แพร่หลายในประเทศไทยและได้รับการปฏิบัติ สืบมาอย่างเข้มแข็ง วันวิสาขบูชากลายเป็นวันหยุดราชการโดยพฤตินัยมาแต่โบราณ ทั้งภาครัฐภาคเอกชนประชาชนและคณะสงฆ์ได้กลายเป็นผู้มีส่วนร่วมในการจัด กิจกรรมเฉลิมฉลองในวันวิสาขบูชาเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาพร้อม ๆ กับชาวพุทธทั่วทั้งโลก และเป็นการช่วยกันสนับสนุนในการรักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปพร้อม ๆ กันด้วยอีกทางหนึ่ง

การกำหนดวันวิสาขบูชาในแต่ละประเทศนั้น บางประเทศที่นับถือพุทธศาสนาอาจกำหนดวันไม่ตรงกับของไทยในบางปี เนื่องจากประเทศเหล่านั้นอยู่ในตำแหน่งบนโลกที่ต่างไปจากประเทศไทย ทำให้วันเวลาคลาดเคลื่อนไป

ปี วันที่ วันที่
ปีชวด ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๓
ปีฉลู ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ๒๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๔
ปีขาล ๒๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๕
ปีเถาะ ๑๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ ๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๖๖
ปีมะโรง ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๕ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗
ปีมะเส็ง ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๘
ปีมะเมีย ๑๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๙
ปีมะแม ๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๗๐
ปีวอก ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๙ ๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๗๑
ปีระกา ๑๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ ๑๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๗๒
ปีจอ ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๗๓
ปีกุน ๑๘ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๗๔

พระราชพิธี

พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

โคมตราเทียนรุ่งเทียนราย จุดตามประทีปเป็นพุทธบูชาในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลที่ ๗

พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานี้ มีปรากฏในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วย โดยได้ทรงกล่าวถึงการพระราชพิธีในเดือนหก คือพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันวิสาขบูชาไว้ เรียกว่าพิธีไพศาขย์ จรดพระราชนังคัล คือในเดือน ๖ มีพระราชพิธีสำคัญสองพระราชพิธีคือพระราชพิธีวิสาขบูชา (ในหนังสือพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือนใช้ศัพท์สันสกฤต และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปัจจุบันนี้โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฯ และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีหลักจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อการพระราชกุศลวิสาขบูชาและกาลานุกาล หรือการพระราชกุศลกาลานุกาลวิสาขบูชา ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่นหมายกำหนดการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา พุทธศักราช ๒๕๕๑

รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา อาจพิจารณาได้จากราชกิจจานุเบกษาประกาศหมายกำหนดการวิสาขบูชาในปีนั้น ๆ ได้ ในอดีต การประกอบพระราชพิธีวันวิสาขบูชาจัดว่าเป็นพิธีใหญ่ ดังตัวอย่างความในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓ หน้า ๑๐๕ ที่ประกาศในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗ เรื่องการพระราชกุศลวิสาขบูชาและกาลานุกาล ความว่า

...วันจันทร์เพ็ญ เสวยวิสาขนักษัตรฤกษ ซึ่งนิยมสืบมาแต่โบราณว่า เป็นมหามงคลสมัย คล้ายกับวันประสูติแลวันตรัสรู้ วันดับขันธปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น ในรัตนโกสินทร์ศก ๑๑๓ นี้ ตกในวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ได้มีการพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันที่ ๑๘ พฤษภาคม ตลอดไป ๓ วันตามเคย คือเวลาเช้า วันที่ ๑๘ ที่ ๑๙ พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ ๒๐ รูป วันที่ ๒๐ พฤษภาคม มีการเลี้ยงพระสงฆ์ ๓๔ รูป ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย เวลาค่ำในวันทั้ง ๓ นั้น พระบรมวงศานุวงศ์แลข้าราชการ ได้จัดโคมตราตำแหน่งแลเทียนรุ่งมาจุด จัดพวงดอกไม้ต่าง ๆ มาแขวน ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม บูชาพระรัตนไตรย มีจำนวนโคมตรา ๒๙๖ โคม เทียนรุ่ง ๕๗ เล่ม พวงดอกไม้ ๑๐๐๕ พวง รวมทั้ง ๓ คืน ของหลวงมีดอกไม้เพลิงบูชา แลเทศนาประถมสมโพธิ์ด้วย วันที่ ๑๘ พฤษภาคม พระอมรโมลีถวาย คัพโภกกันติกถา ๑ กัณฑ์ วันที่ ๑๙ พฤษภาคม พระเมธาธรรมรส ถวายอภิสัมโพธิกถา ๑ กัณฑ์ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม พระวิเชียรมุนี ถวายปรินิพพานกถา ๑ กัณฑ์ ก่อนแต่มีเวลาเทศน์ ในวันที่ ๑๙ ที่ ๒๐ มีการเดินเทียนด้วย แลในวันที่ ๑๙ นั้น พระสงฆ์ ๒๔ รูป (ซึ่งได้รับพระราชทานฉันในวันที่ ๒๐) ได้เจริญพระพุทธมนต์ ที่พระที่นั่งดุสิตาภิรมย์ด้วย ส่วนการวิสาขบูชาตามพระอารามหลวงบางพระอาราม ได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานเทียนรุ่งเทียนราย และเทียนประจำกัณฑ์ไป เช่นทุกปีมา อนึ่ง วันที่ ๒๐ พฤษภาคม นี้ เปนวันสดับปกรณ์กาลานุกาลด้วย พระสงฆ์ ๓๔ รูปนั้น เมื่อรับพระราชทานฉันแล้ว ได้สดับปกรณ์ โดยที่จัดอนุโลมในพระบรมอัฏฐิแลพระอัฏฐิ ที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ๒๙ รูป ขึ้นไปสดับปกรณ์ ที่พระราชวังบวร ๕ รูปแล้ว มีสดับปกรณ์รายร้อย ๔๐๐ รูป...

— ที่มา: ราชกิจจานุเบกษา การพระราชกุศลวิสาขบูชา และกาลานุกาล, เล่ม ๑๓, ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๓๗, หน้า ๑๐๕

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ทรงประเคนผ้าไตร ประกาศนียบัตร และพัดยศ ในการตั้งภิกษุและสามเณรเปรียญ เนื่องในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรม มหาราชวัง เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๒๕

ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น งดการพระราชพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ลดวันประกอบพระราชพิธีจากสามวันคงเหลือสองวัน ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ หรือการจุดเทียนโคมเทียนราย เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชาและทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่น ๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนาขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

พระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม

การพระราชพิธีสำคัญอีกพระราชพิธีหนึ่งที่เนื่องด้วยพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันวิสาขบูชานั้น คือพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรม แก่พระสงฆ์และสามเณรซึ่งสอบไล่ได้ประโยคบาลีในสนามหลวง พระราชพิธีนี้ เป็นพระราชภาระแห่งองค์พระมหากษัตริย์ไทยมาแต่โบราณ เป็นการยกย่องแก่พระสงฆ์สามเณรผู้มีความอุตสาหะเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

ในสมัยรัตนโกสินทร์ พระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ก็ได้รับเป็นพระราชภาระธุระ ในการส่งเสริมการศึกษาภาษาบาลีอันเป็นภาษาที่บันทึกพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาตลอดมา โดยพระสงฆ์สามเณรที่สอบไล่ได้ประโยคบาลีในชั้นใด ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานพัดยศตั้งสมณศักดิ์สายเปรียญธรรม ได้รับคำยกย่องนำหน้านามประดุจบรรดาศักดิ์ของฝ่ายฆราวาสว่าพระมหา และจะได้รับพระราชทานนิตยภัตรเป็นประจำทุกเดือน

ในอดีต การตั้งเปรียญจะตั้ง ณ ที่ใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจจะเป็น ณ พระที่นั่งองค์ใดก็ได้ ภายในพระบรมมหาราชวังหรือพระราชวัง หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในรัชกาลปัจจุบัน พระสงฆ์สามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม ตั้งแต่เปรียญธรรม ๖ ประโยค ขึ้นไป จะได้รับพระราชทานให้เข้ารับพระราชทานผ้าไตรพัดยศตั้งเปรียญธรรม ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาเย็นของวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ของทุกปี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาพระราชทานพัดยศตั้งเปรียญธรรมด้วยพระองค์เอง หรือในบางครั้งอาจจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ หรือผู้แทนพระองค์ประกอบพระราชพิธีทรงตั้งเปรียญธรรมแทน

พิธีสามัญ

พุทธศาสนิกชนร่วมเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

โดยทั่ว พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญในการบำเพ็ญกุศล และปฏิบัติบูชาตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ชาวพุทธในประเทศไทยตั้งใจไปวัดเพื่อบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟัง พระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตามแต่จะเห็นสมควร

การประกอบพิธีวันวิสาขบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตรฯ ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันวิสาขบูชา ณ ท้องสนามหลวง (กรุงเทพมหานคร) พุทธมณฑล (จังหวัดนครปฐม) หรือตามวัดในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น

การเวียนเทียน

แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน

การเวียนเทียน เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสฬหบูชา

การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น และชาวต่างประเทศ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้

  • การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
    • ๑. การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
    • ๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
    • ๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
    • ๔. ควรเดินทางมาถึงวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
    • ๕. เมื่อเดินทางมาถึงวัด ควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย เพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
  • การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
    • ๑. เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมกาย วาจา ใจให้สงบเรียบร้อย
    • ๒. ควรรักษาระยะการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น เพราะจะให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้บาดเจ็บได้
    • ๓. ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป หรือเดินแซงกัน
    • ๔. เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบที่สอง และพระสังฆคุณในรอบที่สาม
    • ๕. ไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกืดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
    • ๖. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้

ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน

พระภิกษุและพุทธศาสนิกชน ถือดอกไม้ธูปเทียน ร่วมเวียนเทียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

การเวียนทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบการปฏิบัติดังนี้

๑. เมื่อถึงกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่า จะประกอบเวลาไหนจะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้ แล้วแต่สะดวก

๒. เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือลานพระเจดีย์อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ

ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุด อุบาสกอุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด

ทุกคนถือดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามแต่จะหาได้ และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน

๓. เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้ว ถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุด แล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ ตามประธานสงฆ์จนจบ

๔. ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถว ไปทางขวามือของสถานที่เวียนเทียนนั้นจนครบ ๓ รอบ

การเดินขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยพุทธกาล

ในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตามลำดับ ดังนี้

รอบแรก ระลึกถึงพระพุทธคุณ

อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ

วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ

สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ

คำแปล

เพราะเหตุอย่างนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส

เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง

ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า

ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม

เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้

รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณ

สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม

สันทิฏฐิโก อะกาลิโก

เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)

คำแปล

พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว

เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

เป็นสิ่งปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล

เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด

เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ

สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา

เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ

อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย

อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ

คำแปล

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด

ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว

ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่

นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ

พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา

เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ

เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน

เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี

เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้

๕. เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ หรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด

เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติ และเรื่องที่เกี่ยวกับ วันมาฆบูชา ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี

หมายเหตุ

๑. ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นพุทธบูชา

๒. ลำดับพิธีกรรมปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม

คำบูชาในวันวิสาขบูชา (สำหรับพระสงฆ์และประชาชน)

ยะมัมหะ โข มะยัง ภะคะวันตัง สะระณัง คะตา, โย โน ภะคะวา สัตถา, ยัสสะ จะ มะยัง ภะคะวะโต ธัมมัง โรเจมะ, อะโหสิ โข โส ภะคะวา มัชฌิเมสุ ชะนะปะเทสุ อะริยะเกสุ มะนุสเสสุ อุปปันโน, ขัตติโย ชาติยา โคตะโม โคตเตนะ, สักยะปุตโต สักยะกุลา ปัพพะชิโต สะเทวะเก โลเก สะมาระเก สะพรัหมะเก สัสสะมะณะพราหมะณิยา ปะชายะ สะเทวะมะนุสสายะ อะนุตตะรัง สัมมาสัมโพธิ อะภิสัมพุทโธ

นิสสังสะยัง โข โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ สัตถาเทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวา

สวากขาโต โข ปะนะ เตนะ ภะคะวะตา ธัมโม, สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก, ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ

สุปะฏิปันโน โข ปะนัสสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสะ

อะยัง โข ปะนะ ปะฏิมา ตัง ภะคะวันตัง อุททิสสะ กะตา ยาวะเทวะ ทัสสะเนนะ ตัง ภะคะวันตัง อะนุสสะริตวา ปะสาทะ สังเวคะปะฏิลาภายะ

มะยัง โข เอตะระหิ อิมัง วิสาขะปุณณะมี ตัสสะ ภะคะวะโต ชาติสัมโพธินิพพานะกาละ สัมมะตัง ปัตวา อิมัง ฐานัง สัมปัตตา, อิเม ทัณฑะทีปะธูปาทิ สักกาเร คะเหตวา อัตตะโน กายัง สักการุปะธานัง กะริตวา ตัสสะ ภะคะวะโต ยะถาภุจเจ คุเณ อะนุสสะรันตา, อิมัง ปะฏิมัง ติกขัตตุง ปะทักขิณัง กะริสสามะ อิมัง ยะถา คะหิเตหิ สักกาเรหิ ปูชัง กุรุมานา

สาธุ โน ภันเต ภะคะวา สุจิระปะรินิพพุโตปิ ญาตัพเพหิ คุเณหิ อะตีตารัมมะณะตายะ ปัญญายะ มาโน, อิเม อัมเหหิ คะหิเต สักกเร ปะฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ.

คำแปล

เราทั้งหลายได้ถึงซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์ใดว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก, พระผู้มีพระภาคพระองค์ใดเป็นศาสดาของเราทั้งหลาย แลเราทั้งหลายชอบซึ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์ใด, พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นแล ได้อุบัติแล้วในหมู่มนุษย์ ชาวอริยกะในมัชฌิมชนบท, พระองค์เป็นกษัตริย์โดยพระชาติ เป็นโคดมโดยพระโคตร, เป็นศากยบุตรเสด็จออกบรรพชาแล้วแต่ศากยสกุล เป็นผู้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะแล้วซึ่งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์ทั้งสมณพราหมณ์เทวดาแลมนุษย์

พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีแห่งบุรุษควรฝึกได้ ไม่มีผู้อื่นยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้มีโชค โดยไม่ต้องสงสัยแล

อนึ่ง พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นตรัสดีแล้ว อันผู้บรรลุจะพึงเห็นเอง ไม่ประกอบด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชนพึงรู้เฉพาะตน

และพระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้วแล เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติเป็นธรรม, เป็นผู้ปฏิบัติสมควร, นี้คือคู่แห่งบุรุษสี่ บุรุษบุคคลแปด, นี่พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาค, เป็นผู้ควรของคำนับ เป็นผู้ควรของต้อนรับ เป็นผู้ควรของทำบุญ เป็นผู้ควรทำอัญชลี (ประนมมือไหว้) เป็นนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า

(พระสถูป, พระพุทธปฏิมา) นี้ ได้สร้างไว้อุทิศเฉพาะพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เพียงเพื่อจะให้ได้ความเลื่อมใสและสังเวช ในเมื่อได้ระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นด้วยด้วยญาณทัสนะ

บัดนี้เราทั้งหลายมาถึงกาลวิสาขปุรณมี อันเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า เป็นวันที่ประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น เราทั้งหลายจึงมาประชุมกันแล้ว ณ ที่นี้ ได้ถือเครื่องสักการบูชา มีธูป เทียน เป็นต้น ทำกายของตนให้เป็นดั่งภาชนะรองรับเครื่องสักการบูชา น้อมระลึกถึงพระคุณตามที่เป็นจริงของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จักกระทำประทักษิณ (พระสถูป, พระพุทธปฏิมา) นี้ ๓ รอบ ถวายสักการบูชาแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ด้วยเครื่องสักการบูชาตามที่ถือไว้นี้

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จดับขันธปรินิพพานไปนานนักแล้ว แต่ยังปรากฏอยู่ด้วยพระคุณ ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายทราบได้โดยเป็นอตีตารมณ์ ขอได้ทรงอนุเคราะห์รับเครื่องสักการบูชาที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลายถือถือบูชาอยู่นี้ เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ.

การจัดงานเฉลิมฉลองเนื่องในวันวิสาขบูชาในต่างประเทศ

โคมไฟเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชา ชาวลังกา

ปัจจุบันวันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางศาสนาหรือวันหยุดราชการในหลายประเทศ เช่น อินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ ไทย พม่า บังคลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย (เป็นวันสำคัญ ไม่ใช่วันหยุดราชการ) เนปาล เกาหลีใต้ กัมพูชา ภูฏาน เป็นต้น

ในประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเช่นที่ประเทศศรีลังกา จะกำหนดวันทางจันทรคติตรงกันกับประเทศไทย คือกำหนดในวันเพ็ญเดือน ๖ โดยงานวิสาขบูชาในศรีลังกานั้น ถือได้ว่าเป็นงานใหญ่ระดับประเทศ รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ มีการปล่อยนักโทษให้ได้รับอิสรภาพถวายเป็นพุทธบูชา ตามบ้านเรือนจะมีการตั้งโรงทาน และประดับประดาธงทิว และโคมไฟต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของศรีลังกา โดยจะทำเป็นรูปเรื่องราวในพุทธประวัติหรืออรรถกถาชาดกต่าง ๆ

ทั้งนี้ งานวิสาขบูชาในประเทศศรีลังกานั้นจะจัดติดต่อกันถึง ๗ วัน ๗ คืน ซึ่งในประเทศไทยคงจัดงานวิสาขบูชาคล้ายกับศรีลังกา มีการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการเช่นเดียวกัน แต่ต่างตรงที่ในปัจจุบัน งานวิสาขบูชาในไทยที่จัดไม่ใหญ่โตมากนักเมื่อเทียบกับศรีลังกา แม้จะมีการจัดงาน ๗ วัน ๗ คืนเหมือนกัน แต่คงมีเฉพาะที่ส่วนกลาง คือที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวงและพุทธมณฑลเท่านั้น โดยพุทธศาสนิกชนชาวไทยส่วนใหญ่นิยมไปทำบุญในวันวิสาขบูชาเพียงวันเดียว

พุทธศาสนิกชนร่วมกิจกรรมเนื่องในวันวิสาขบูชา ที่บุโรพุทโธ ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับชาวพุทธ (มหายาน) เช่น ในประเทศสิงคโปร์ วันวิสาขบูชาได้ถูกกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการของประเทศ มีการจัดงานเฉลิมฉลองตามวัดพุทธต่าง ๆ โดยการกำหนดวันวิสาขบูชาของสิงคโปร์นั้นกำหนดตามปฏิทินเถรวาท

แต่ในจีน เกาหลี และญี่ปุ่น จะกำหนดวันวิสาขบูชาแตกต่างจากประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาทมาก เช่น ที่ประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน นั้น จะอยู่ต่างเดือนกัน เดิมญี่ปุ่นกำหนดว่าวันที่ ๘ ของเดือนที่ ๔ เป็นวันประสูติ วันที่ ๘ ของเดือน ๑๒ เป็นวันตรัสรู้ และวันที่ ๑๕ เดือนที่ ๒ เป็นวันปรินิพพาน โดยกำหนดวันตามเดือนในปฏิทินจันทรคติจีน จนมาในสมัยเมจิ ญี่ปุ่นได้รับคตินิยมปฏิทินสุริยคติจากประเทศตะวันตก จึงมีการปรับเปลี่ยนให้กำหนดตามปฏิทินจันทรคติแทน เช่น วันปรินิพพาน จะอยู่ในวันที่ ๑๕ กลางเดือนกุมภาพันธ์ ตามปฏิทินสุริยคติที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก โดยไม่อิงปฏิทินจันทรคติจีน

ในปัจจุบันในประเทศญี่ปุ่น วันที่เกิดเหตุการณ์ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ไม่ได้ถูกประกาศให้เป็นวันหยุดราชการ และไม่ได้รับความสนใจจากชาวญี่ปุ่นเท่าใดนัก เมื่อถึงวันนี้จะมีการจัดงานเฉลิมฉลองโดยผู้ร่วมพิธีจะมีเพียงพระสงฆ์หรือชาวพุทธที่เคร่งครัด

วันวิสาขบูชาเคยถูกประกาศจากรัฐบาลห้ามจัดกิจกรรมทางพุทธศาสนาโดยเด็ดขาดในเวียดนามใต้ เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งของผู้ปกครอง (ซึ่งได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) ที่นับถือศาสนาคริสต์ มีการปราบปรามพุทธศาสนาอย่างหนัก กิจกรรมทางพุทธศาสนาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และผู้ฝ่าฝืนต้องได้รับโทษถึงจำคุก ปัจจุบันหลังจากกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ถูกเวียดกง (เวียดนามเหนือ) ตีแตก และเวียดนามเหนือใต้ได้รวมเป็นประเทศเดียวกัน ศาสนาพุทธก็ยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเท่าใด ในปัจจุบันยังคงมีการจัดงานวิสาขบูชาบ้างจากชาวพุทธเวียดนาม ซึ่งเป็นงานที่ไม่ใหญ่โตเหมือนประเทศอื่น ๆ ที่นับถือศาสนาพุทธเถรวาท

โคมไฟพุทธบูชาเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาของชาวเกาหลี

ในประเทศอินโดนีเซีย ที่ปัจจุบันเป็นประเทศที่มีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากที่สุด ก็ได้ให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชามาก เพราะเดิมนั้นศาสนาพุทธเคยเป็นศาสนาที่ชาวชวาหรืออินโดนีเซียนับถือมาก ที่สุด งานวิสาขบูชาในสมัยที่พศาสนาพุทธรุ่งเรืองคงเป็นพิธีใหญ่ แต่หลังศาสนาพุทธเสื่อมลงเนื่องจากการการเสื่อมของราชวงศ์ไศเลนทร์ ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่นับถือศาสนาพุทธ ผู้ปกครองต่อมาได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม งานวิสาขบูชาจึงไม่มีผู้สืบทอด ในปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินโดนีเซีย รัฐบาลเริ่มให้ความสำคัญกับชาวพุทธ โดยรัฐบาลประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ ซึ่งชาวพุทธส่วนใหญ่ในอินโดนีเซียนั้นเป็นคนอินโดนีเซียเชื้อสายจีนที่นับถือมหายาน ซึ่งมีชาวอินโดนีเซียส่วนหนึ่งที่นับถือพุทธศาสนาแบบเถรวาท การจัดงานวิสาขบูชาในระยะหลังจึงเป็นงานใหญ่ โดยศูนย์กลางจัดงานอยู่ที่พระมหาสถูปบุโรพุทโธ เกาะชวา ทุกปีประธานาธิบดีแห่งอินโดนีเซียจะมาเป็นประธานเปิดงาน โดยเชิญผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกมาร่วมงาน

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก

การกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก เริ่มต้นขึ้นจากการที่ผู้แทนจากประเทศที่มีประชากรนับถือศาสนาพุทธ คือ บังคลาเทศ จีน ลาว เกาหลีใต้ เวียดนาม ภูฎาน อินโดนีเซีย เนปาล กัมพูชา อินเดีย ปากีสถาน และไทย ได้มีมติร่วมกันที่จะเสนอให้สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติประกาศรับรองข้อมติ กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติ ในการประชุมพุทธศาสนาระหว่างประเทศ (International Buddhist Conference) ณ กรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของประเทศศรีลังกา ระหว่างวันที่ ๙ - ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๑

ต่อมา คณะทูตถาวรศรีลังกาประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก จึงได้จัดเตรียมร่างข้อมติ และได้ขอเสียงสนับสนุนจากประเทศต่าง ๆ เพื่อให้มีการรับรองข้อมติเรื่องการประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดของสหประชาชาติในที่ประชุมงสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๕ แต่คณะผู้แทนจากศรีลังกาเปลี่ยนเสนอให้ประกาศวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล แทน เนื่องจากวันหยุดของสหประชาชาติมีมากแล้ว และจะกระทบต่อการดำเนินงานของสหประชาชาติ และได้ดำเนินการให้คณะผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติจำนวน ๑๖ ประเทศ คือ ศรีลังกา บังคลาเทศ ภูฎาน กัมพูชา ลาว มัลดีฟส์ มองโกเลีย พม่า เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สเปน อินเดีย ไทย และยูเครน ให้ร่วมลงนามในหนังสือถึงประธานที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ระเบียบวาระของการประชุมใหญ่ฯ

จนเมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ ที่ประชุมใหญ่สมัชชาแห่งสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ ๕๕ จึงได้พิจารณาระเบียบวาระที่ ๑๗๔ ว่าด้วยการยอมรับวันวิสาขบูชาในระดับสากล (International recognition of the Day of Visak) โดยการเสนอของศรีลังกา ประธานที่ประชุมได้ให้ผู้แทนจากศรีลังกาเสนอร่างข้อมติ และเชิญให้ผู้แทนจาก ไทย สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฎาน สเปน พม่า เนปาล ปากีสถาน อินเดีย ขึ้นแถลง สรุปความได้ว่า

ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา

วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์ ด้วยกัน เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติ โดยถือว่าวันดังกล่าวเป็นที่สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติและที่ทำการ สมัชชาจะจัดให้มีการระลึกถึง (observance) ตามความเหมาะสม

นายวรวีร์ วีรสัมพันธ์ อุปทูตคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก ได้ให้เหตุผลในถ้อยแถลงมีใจความตอนหนึ่งว่า

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

เอกสารการรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล : องค์การสหประชาชาติ (ภาษาไทย)

เอกสารการรับรองให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล : องค์การสหประชาชาติ (ภาษาอังกฤษ)

ในที่สุด องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากล (ด้วยชื่อวันว่าVesak ) โดยการเสนอของประเทศศรีลังกาดังกล่าว ด้วยมติเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

  • ที่มา :
    • วันวิสาขบูชา วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาไทย)
    • Vesak วิกิพีเดีย พจนานุกรมเสรี (ภาษาอังกฤษ)
    • สมุดภาพพระพุทธประวัติ ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา โดย ครูเหม เวชกร
    • วันวิสาขบูชา แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
      กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๐.

เสาอโศก

เสาพระเจ้าอโศก ณ โบราณสถานเมืองเวสาลี รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

เสาอโศก (อังกฤษ: Pillars of Ashoka; ฮินดี: अशोक स्तंभ) เป็นเสาหินโบราณที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช พระมหาจักรพรรดิแห่งราชวงศ์เมารยะ ที่ปกครองอนุทวีปอินเดียในช่วงยุคพุทธศตวรรษที่ ๔ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างเสาหินทราย (ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเสาอโศก ) ขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเพื่อระบุสถานที่ตั้งของสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา

เสาหินเหล่านี้สร้างโดยหินทรายจากเมืองจุณนา เมืองทางตอนเหนือของอินเดีย ซึ่งถือได้ว่ามีคุณภาพดีที่สุดในสมัยนั้น โดยเสาทุกเสาจะมีหัวสิงห์แกะสลักประดิษฐานอยู่ เป็นสัญลักษณ์ถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่องอาจดุจราชสีห์ และแผ่ไปไกลดุจเสียงแห่งราชสีห์ โดยตัวเสาจะมีคำจารึกถึงความสำคัญของสถานที่ตั้งเสาหรือประกาศพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช

เสาอโศกที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่อารามหลวงแห่งเจ้ามัลละในเมืองเวสาลี เมืองสำคัญในสมัยพุทธกาล แต่เสาอโศกต้นที่ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือ เสาอโศกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา เป็นเสาที่หักเป็นสี่ท่อน แต่ว่ารูปสลักรูปสิงห์สี่ทิศบนเสายังคงมีสภาพสมบูรณ์ ในปัจจุบัน รัฐบาลอินเดียได้นำรูปสลักที่เสานี้มาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศ รูปพระธรรมจักร ๒๔ ซี่ ได้นำไปประดิษฐานในธงชาติอินเดีย และข้อความที่จารึกไว้โดยพระเจ้าอโศกว่าสตฺยเมว ชยเต (คำแปล: ความจริงชนะทุกสิ่ง) ได้กลายมาเป็นคำขวัญประจำชาติอินเดียในปัจจุบัน

เดิมนั้น เสาอโศกมีอยู่ทั่วพระราชอาณาจักรของพระเจ้าอโศกมหาราช แต่ต่อมาได้ถูกทำลายลงทั้งจากมนุษย์และภัยธรรมชาติ คงเหลือเพียงไม่กี่ต้นเท่านั้นที่ยังคงมีสภาพสมบูรณ์ในปัจจุบัน

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา