วันมาฆบูชา (บาลี:มาฆปูชา , อักษรโรมัน:Magha Puja , เขมร: មាឃបូជា , ลาว: ມະຄະບູຊາ , สิงหล: නවම් පොහොය) เป็นวันสำคัญของชาวพุทธเถรวาทและวันหยุดราชการในประเทศไทย คำว่ามาฆบูชา ย่อมาจากมาฆปูรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย หรือ เดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ตกช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม) ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน (ปีอธิกมาส) ก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๓ หลัง (วันเพ็ญเดือน ๔)
วันมาฆบูชาได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ ๒,๕๐๐ กว่าปีก่อน คือ พระโคตมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา ในคัมภีร์ปปัญจสูทนี ระบุว่า ครั้งนั้นมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป ได้มาประชุมพร้อมกันยังวัดเวฬุวัน โดยมิได้นัดหมาย, พระภิกษุทั้งหมดนั้นเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา หรือผู้ได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าโดยตรง, พระภิกษุทั้งหมดนั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา ๖ และวันดังกล่าวตรงกับวันเพ็ญเดือน ๓ ดังนั้น จึงเรียกวันนี้อีกอย่างหนึ่งว่าวันจาตุรงคสันนิบาต หรือ วันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔
นอกจากนี้แล้ว ในวันดังกล่าวนี้ยังเป็นวันคล้ายวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร เป็นครั้งสุดท้าย กล่าวคือ ในพรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้ายแห่งการดำเนินพุทธกิจ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่เวฬุวคาม แขวงเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างพรรษานี้พระพุทธองค์ทรงประชวรอย่างหนัก มีอาการอาพาธอย่างรุนแรง ครั้นถึงวันมาฆบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงปลงพระชนมายุสังขาร โดยตั้งพระทัยว่า"นับแต่นี้ต่อไปอีกสามเดือน วันเพ็ญในกลางเดือนหก (วิสาขะ) ปีจอ ตถาคตจักดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา"
ด้วยเหตุดังกล่าว การปลงอายุสังขารของพระพุทธองค์ จึงมีความหมายในภาษาสามัญว่า เป็นการกำหนดวันตายไว้ล่วงหน้านั่นเอง การปลงอายุสังขารนี้มีขึ้น ณ ร่มไม้แห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์ บ้านเวฬุวคาม แขวงเมืองไพศาลี (เมืองไวสาลี ในปัจจุบัน) เวลากลางวัน
แต่เดิมนั้น ยังไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศที่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท จนมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน ๓ ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลเนื่องในวันมาฆบูชาขึ้น การประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งในช่วงแรก ๆ นั้น พิธีในวันมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร
ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) นั้น พระองค์ให้จัดพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชาขึ้นในพระราชวัง โดยโปรดให้มีการประกอบพระราชกุศลในเวลาเช้า ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ และฉันภัตตาหารในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในเวลาค่ำ พระองค์จะเสด็จออกฟังพระสงฆ์ทำวัตรเย็น สวดโอวาทปาติโมกข์ และทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ จำนวน ๑,๒๕๐ เล่ม พระภิกษุเทศนาโอวาทปาติโมกข์ พระสงฆ์จำนวน ๓๐ รูป สวดมนต์รับเทศนา เป็นเสร็จพิธี
เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์ทรงนำพิธีบูชาเนื่องในวันมาฆบูชา ไปประกอบในสถานที่อื่นๆ นอกพระบรมมหาราชวัง ในคราวเสด็จประพาสต้น เช่นบางปะอิน พระพุทธบาท พระพุทธฉาย พระปฐมเจดีย์ และพระแท่นดงรัง เป็นต้น
ปัจจุบัน วันมาฆบูชาได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ และประชาชน ประกอบพิธีต่าง ๆ เช่น การตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน เป็นต้น เพื่อบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญดังกล่าวที่ถือได้ว่า เป็นวันที่พระพุทธเจ้าประทานโอวาทปาฏิโมกข์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส เพื่อเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชาตามพุทธประวัติ
จาตุรงคสันนิบาต
จากอรรถกถาในคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี อรรถกถามหาปทานสูตร ระบุว่าหลังจากพระพุทธเจ้า เทศนาเวทนาปริคคหสูตร (หรือทีฆนขสูตร) ณถ้ำสูกรขาตา เขาคิชฌกูฎ จบแล้ว ทำให้พระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล จากนั้นเสด็จมาประทับที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ประเทศอินเดียในปัจจุบัน วันนั้นตรงกับวันเพ็ญเดือนมาฆะหรือเดือน ๓ ในเวลาบ่าย พระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า มาประชุมพร้อมกัน ณ ที่ประทับของพระพุทธเจ้า นับเป็นเหตุอัศจรรย์ แล้วทรงประกาศโอวาทปาติโมกข์ แก่พระภิกษุจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยจำนวนนี้เป็นบริวารของชฏิลสามพี่น้อง ๑,๐๐๐ รูป และบริวารของพระอัครสาวก ๒๕๐ รูป
คัมภีร์ปปัญจสูทนี ระบุว่า การประชุมสาวกครั้งนั้นประกอบด้วยองค์ประกอบอัศจรรย์ ๔ ประการ คือ
- ๑. เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหาร ในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
- ๒. พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
- ๓. พระภิกษุสงฆ์ทุกองค์ที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นผู้ได้บรรลุพระอรหันต์แล้วทุก ๆ องค์
- ๔. เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ (วันเพ็ญเดือน ๓)
ด้วยเหตุการณ์ประจวบกับ ๔ อย่าง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่าจาตุรงคสันนิบาต มาจากศัพท์บาลี
จาตุร หมายถึง ๔, องฺค หมายถึง ส่วน, สนฺนิปาต หมายถึง ประชุม แปลว่าการประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้ง ๔ ประการ หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว ๙ เดือน (๔๕ ปี ก่อนพุทธศักราช)
เหตุที่พระสาวกทั้ง ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมายนั้น เพราะวันเพ็ญเดือน ๓ ตามคติพราหมณ์เป็นวันพิธีมหาศิวาราตรีเพื่อบูชาพระศิวะ พระสาวกเหล่านั้นซึ่งเคยนับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อนจึงได้เปลี่ยนจากการรวมตัวกันทำพิธีชำระบาปตามพิธีพราหมณ์ มารวมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแทน
ประทานโอวาทปาติโมกข์
นิยามความหมาย
ปาติโมกข์ ตามรูปศัพท์ มีความหมายว่า ทำผู้รักษาให้พ้นจากกิเลส และทุกข์ แบ่งออกเป็นอาณาปาติโมกข์ กับโอวาทปาติโมกข์ ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะโอวาทปาติโมกข์
โอวาทปาติโมกข์ คือ โอวาทหรือคำแนะนำสั่งสอนที่ไม่มีการปรับโทษ ประกอบด้วยการกำหนดเป้าหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา อธิบายความหมายของสมณะและบรรพชิต หน้าที่ที่จะพึงทำ และวิธีการดำเนินชีวิตของสมณะและบรรพชิต
โอวาทปาติโมกข์ ให้แนวคิดว่า การเผยแผ่ของพระศาสนาของพระพุทธเจ้าในช่วงแรกไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากพระพุทธเจ้าเป็นพระศาสดาองค์ใหม่ ในท่ามกลางเจ้าลัทธิเก่าที่มีชื่อเสียง ๖ ท่าน และศาสนาของพระองค์ก็เป็นศาสนาใหม่ ในท่ามกลางลัทธิศาสนาเก่า ถึง ๖๒ ลัทธิ ทำให้พระองค์และพระสาวกได้รับผลกระทบอย่างมาก จากสังคมที่ไม่เข้าใจถึงเหตุผลที่มีกุลบุตรจำนวนมาก ซึ่งเป็นผู้ที่จะสืบตระกูล ได้ออกบวชตามพระพุทธเจ้า โดยพวกเขาคิดว่าเป็นการทำลายล้างตระกูล จึงพากันโจมตีพระพุทธเจ้าและพระสาวก ดังนั้นพระองค์จึงทรงสอนเชิดชูความอดทนเป็นตบะ (ธรรมเผากิเลส) ที่สูงสุด
ความอดทนที่พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่าตบะ มีความสำคัญต่อนักบวชที่เรียกว่าบรรพชิต บ้าง และสมณะ บ้าง การที่พระองค์ทรงสอนว่า บรรพชิตหรือสมณะจะทำร้ายหรือเบียดเบียนผู้อื่นไม่ได้ เป็นผลมาจากนักบวชบางนิกายได้มีการกระทำดังกล่าว แต่นักบวชในพระพุทธศาสนาต้องไม่ทำอย่างนั้น เพราะการบวชในพระพุทธศาสนามุ่งนิพพาน (การดับกิเลสเพื่อความสงบเย็น) นักบวชที่มุ่งนิพพานต้องไม่ทำบาปทั้งปวง ทำความดีถึงพร้อม และทำจิตให้บริสุทธิ์ การจะทำอย่างนั้นได้ นอกจากจะไม่กล่าวร้าย ไม่ทำร้ายใครแล้ว ต้องมีวิถีชีวิตเรียบง่าย คือ อยู่ในที่เสนาสนะอันสงบสงัด รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร อันเกื้อกูลต่อการฝึกฝนอบรมจิตในระดับสูง เพื่อบรรลุนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสสรรเสริญว่ายอดเยี่ยม
สาระสำคัญ
(ตามนัยอรรถกถา) พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันประกอบไปด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดงโอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย พระพุทธองค์จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ท่ามกลางมหาสังฆสันนิบาตนั้น มีใจความดังนี้
- คุณลักษณะของพระพุทธศาสนา
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในตอนต้น พระพุทธเจ้าและพระสาวกได้รับผลกระทบอย่างมากจากสังคมที่ไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความยากลำบาก ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาดังกล่าว จึงตรัสสอนพระสาวกให้มีความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค มุ่งมั่นไปส่จุดมุ่งหมายอย่างไม่ลดละ ความอดทน อดกลั้นที่พรั่งพร้อมเช่นนี้เอง ที่ถือว่าเป็นตบะ หรือเครื่องเผาผลาญกิเลสที่ยอดเยี่ยม
นอกจากตรัสสอนเรื่องความอดทนแล้ว พระพุทธเจ้ายังตรัสยกย่องนิพพาน เป็นเป้าหมายสูงสุด โดยมีแนวทางที่นักบวชหรือบรรพชิตหรือสมณะในทางพระพุทธศาสนา พึงปฏิบัติ คือการไม่เบียดเบียนผู้อื่น การไม่ทำร้ายผู้อื่น และการเป็นผู้สงบเยือกเย็น ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ซึ่งทำให้เห็นความแตกต่างจากนักบวชในศาสนาอื่น ที่มักปฏิบัติไปในทางสุดโต่ง
เนื้อหาทั้งหมดเกี่ยวกับการแสดงคุณลักษณะของพระพุทธศาสนาดังกล่าวมานี้ ปรากฏมีอยู่ในโอวาทปาติโมกข์ คาถาแรกที่ว่า
ความอดทน คือความอดกลั้น เป็นตบะ อย่างยิ่ง
พระพุทธเจ้าทั้งหลายตรัสว่านิพพาน เป็นธรรมอันยอดเยี่ยม
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
- หลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชน
พระพุทธเจ้าได้สรุปหลักธรรมคำสอน ที่พระสงฆ์จะนำไปสั่งสอนประชาชนให้ยึดถือปฏิบัติ ดังปรากฏอยู่ในโอวาทปาติโมกข์ คาถาที่สองว่า
การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
การทำความดีให้ถึงพร้อม
การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์
หลักการปฏิบัติของพระพุทธศาสนา หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า หัวใจของพระพุทธศาสนา ทั้ง ๓ ประการนี้ สรุปแล้วคือไตรสิกขา อันได้แก่ศีล สมาธิ และปัญญา นั่นเอง นอกจากนั้นการที่พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำในตอนท้ายของคาถาที่สองนี้ว่านี้คือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เป็นการสร้างความมั่นใจแก่พระสงฆ์สาวก ในการที่จะนำเอาหลักปฏิบัตินี้ไปเผยแผ่ว่า ไม่เพียงแต่พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เท่านั้นที่สอนอย่างนี้ แม้พระพุทธเจ้าในอดีตและในอนาคตก็ทรงสอนอย่างนี้เช่นกัน จึงเป็นการรับรองให้เกิดความเชื่อมั่นว่า หลักธรรมทั้ง ๓ ประการนี้เป็นหลักการที่ถูกต้อง
- คุณสมบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนาไว้ในคาถาที่สาม กับอีกครึ่งคาถาว่า
การไม่ว่าร้ายผู้อื่น
การไม่เบียดเบียน
การสำรวมในพระปาฏิโมกข์
อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร
การประกอบความเพียรในอธิจิต
นี้คือ คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงคุณสมบัติของนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยดี และประสบความสำเร็จว่า
- จะต้องไม่ว่าร้ายผู้อื่น มุ่งที่จะแสดงแต่หลักธรรมคำสอนที่ถูกต้องเท่านั้น
- จะต้องไม่ทำร้ายผู้อื่น แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เพราะบรรพชิตจะต้องมีความแมตตาต่อสรรพสัตว์
- ส่วนการสำรวมในพระปาฏิโมกข์ เป็นการระมัดระวังตัวเองอย่างเข้มงวดกวดขัน ควบคุมตัวเองให้อยู่ในหลักการอย่างเคร่งครัด
- บรรพชิตควรนั่งหรือนอนในที่อันสงัด ยินดีที่จะอยู่ในที่อันสงบ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ทำให้มีเวลาในการบำเพ็ญเพียรมากขึ้น
- นอกจากนั้นบรรพชิตยังจะต้องรู้จักประมาณการในการบริโภคอาหาร เป็นหลักการที่ให้พระสงฆ์ทำตัวเป็นผู้เลี้ยงง่าย ใช้ปัจจัย ตามที่ได้รับการถวาย เพราะพระสงฆ์จะต้องอาศัยพุทธบริษัทเพื่อการดำรงชีพ ไม่ควรทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่อุบาสกอุบาสิกาผู้อุปถัมภ์เหล่านั้น
- ยิ่งกว่านั้น บรรพชิตต้องประกอบความเพียรในอธิจิต หรือ การฝึกฝนพัฒนาจิตของตนให้มากขึ้น เพราะมีเวลามากกว่าฆราวาส ที่ต้องวุ่นวายกับการประกอบกิจการงาน และการเลี้ยงชีพ
ในท้ายของคาถานี้ พระพุทธเจ้าได้ทรงย้ำอีกครั้งว่านี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อให้พระสงฆ์ได้ทราบว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีงาม จึงได้รับการสั่งสอนสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน จึงควรนำไปปฏิบัติให้เป็นคุณสมบัติของตนเอง ในฐานะนักเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่จะต้องเดินทางไปเทศนาสั่งสอนชาวบ้านและชุมชนต่างๆ เพื่อประโยชน์สุขของคนเหล่านั้นเป็นสำคัญ สมดังพระพุทธดำรัสที่ว่า
...จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ...
คำแปล
...ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงจาริกไป เพื่อประโยชน์สุขแก่ชนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุขแก่เทวดาและมนุษย์...
โอวาทปาฏิโมกขคาถา
(หันทะ มะยัง โอวาทะปาฏิโมกขะคาถาโย ภะณามะ เส)
เอตัง พุทธานะสาสะนัง,
ธรรมสามอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย,
ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา,
ขันติ คือความอดกลั้น เป็นธรรมเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง
นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา,
ผู้รู้ทั้งหลาย กล่าวพระนิพพานว่าเป็นธรรมอันยิ่ง
นะ หิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี,
ผู้กำจัดสัตว์อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิตเลย
สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะยันโต,
ผู้ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย
เอตัง พุทธานะสาสะนัง,
ธรรมหกอย่างนี้ เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.
กรณีศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรม
หลักธรรมสำคัญของวันมาฆบูชามีหลายประการ หลักธรรมสำคัญประการหนึ่งที่ได้กล่าวถึงไว้ในโอวาทปาติโมกข์ และได้ถูกนำมาใช้ป็นข้อปฏิบัติของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงธรรมหรือทศพิธราชธรรม คือขันติ หรือความอดทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภุมิพลอดุลยเดช ทรงประกอบด้วยทศพิธราชธรรม ข้อที่ว่าขันติ เป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากพระราชจริยวัตรของพระองค์ท่าน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นผู้มีขันติธรรม คือ ความอดทนอดกลั้นอย่างสูงยิ่ง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือในชนบท ถิ่นทุรกันดารห่างไกลความเจริญเพียงใด และไม่ว่าจะมีภยันตรายและอุปสรรคมากเพียงใด พระองค์ก็ไม่ทรงท้อพระราชหฤทัย และไม่ทรงหวั่นไหวต่อปัญหา อุปสรรค ทั้งนี้เป็นเพราะพระองค์ทรงมีขันติธรรมอย่างสูงยิ่งนั่นเอง
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราโชวาทว่า ขันติเป็นคุณธรรมที่คู่กับวิริยะความเพียรหรือวิริยะอุตสาหะ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความพยายาม และความชำนาญในทักษะในความรู้ที่จำเป็น เพื่อให้งานที่ทำดำเนินไปได้ ขันติหรือความอดทนนั้น มีส่วนที่ทำให้ไม่เกิดความท้อใจง่ายๆ ความอดทนจึงมีส่วนที่ทำให้มีความพยายาม เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นต่อไปเรื่อยๆ ทั้งความขยันหมั่นเพียร และความอดทน เป็นคุณสมบัติที่ช่วยบังคับตัวเองให้ต้องสู้ เพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่ต้องการ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งมีใจความว่า
การดำรงชีวิตที่ดีจะต้องปรับปรุงตัวตลอดเวลา การปรับปรุงตัวจะต้องมีความเพียรและความอดทนเป็นที่ตั้ง ถ้าคนเราไม่หมั่นเพียร ไม่มีความอดทน ก็อาจจะท้อใจไปโดยง่าย เมื่อท้อใจไปแล้ว ไม่มีทางที่จะมีชีวิตเจริญรุ่งเรืองแน่ ๆ
จะเห็นได้ว่าขันติ หรือความอดทนอดกลั้น นั้น เป็นธรรมะที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับพระมหากษัตริย์ ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ทรงครองราชย์มานี้ ได้ทรงยึดถือคุณธรรมข้อขันติ นี้ ในการบำเพ็ญพระราชกรณียกิจมาโดยตลอด และพระราชกรณียกิจต่างๆ ล้วนบรรลุผลสำเร็จด้วยดี ก็โดยอาศัยความอดทนอดกลั้นอย่างสูงในการบำเพ็ญปฏิบัตินั่นเอง
สถานที่สำคัญเนื่องด้วยวันมาฆบูชา
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันมาฆบูชา เกิดภายในบริเวณที่ตั้งของกลุ่มพุทธสถานโบราณวัดเวฬุวันมหาวิหาร ภายในอาณาบริเวณของวัดเวฬุวันมหาวิหาร ซึ่งลานจาตุรงคสันนิบาต อันเป็นจุดที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในวันมาฆบูชานั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงและหาข้อสรุปทางโบราณคดีไม่ได้มาจนถึงปัจจุบัน
วัดเวฬุวันมหาวิหาร
วัดเวฬุวันมหาวิหาร (อังกฤษ: Venuvana Monastery) เป็นอาราม (วัด) แห่งแรกในพระพุทธศาสนา ตั้งอยู่ใกล้เชิงเขาเวภารบรรพต บนริมฝั่งแม่น้ำสรัสวดี ซึ่งมีตโปธานที (บ่อน้ำร้อนโบราณ) คั่นอยู่ระหว่างกลาง นอกเขตกำแพงเมืองเก่ากรุงราชคฤห์ (อดีตเมืองหลวงของแคว้นมคธ) รัฐพิหาร ประเทศอินเดียในปัจจุบัน (หรือแคว้นมคธในสมัยพุทธกาล)
วัดเวฬุวันในสมัยพุทธกาล
วัดเวฬุวันมหาวิหาร หมายถึงวัดที่เป็นสวนป่าไผ่ (อังกฤษ: The bamboo grove temple) วัดเวฬุวันมีอีกชื่อหนึ่งปรากฏในพระสูตรว่าพระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน หรือเวฬุวันกลันทกนิวาป หมายถึงสวนป่าไผ่ที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เหตุที่ได้ชื่อนี้เนื่องจาก วัดเวฬุวันแต่เดิมนั้นเป็นพระราชอุทยานสำหรับเสด็จประพาสของพระเจ้าพิมพิสาร เป็นสวนป่าไผ่ร่มรื่น มีรั้วรอบและกำแพงเข้าออก ครั้งหนึ่งพระเจ้าพิมพิสาร ทรงเคยรอดชีวิตจากงูเพราะการเตือนของกระแต ด้วยทรงสำนึกในบุญคุณของกระแต จึงให้สวนป่าไผ่เป็นเขตอภัยทาน และพระราชทานเหยื่ออาหารแก่กระแตทุกวัน ๆ
สวนป่าไผ่เวฬุวันแยกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่ากลันทกะนิวาปะ ที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแตดังที่ว่าไปแล้ว ต่อมาได้อุทิศถวายเป็นสังฆารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาต่อพระภิกษุทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข เมื่อคราวที่พระองค์เสด็จมาโปรดชาวเมืองกรุงราชคฤห์ ข้าราชบริพาร และพระเจ้าพิมพิสาร จนได้บรรลุธรรม
อีกส่วนหนึ่งของสวนป่าไผ่ เรียกว่าโมรนิวาปะ หมายถึงที่พระราชทานเหยื่อแก่นกยูง เป็นที่พักของพวกนักบวชปริพาชก ซึ่งเป็นการแสดงถึงความที่พระเจ้าพิมพิสารทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์ นอกจากจะทรงให้ความอุปถัมภ์ในพระพุทธศาสนาในฐานะทรงเป็นพุทธมามกะ ยังทรงเผื่อแผ่ถึงลัทธิศาสนาอื่นด้วย
เวฬุวันมหาวิหาร ยังมีความเป็นโรงพยาบาลสงฆ์แห่งแรกอีกด้วย เพราะหมอชีวกโกมารภัจจ์ นายแพทย์ประจำราชสำนักของพระเจ้าพิมพิสาร มีความเลื่อมใสในพระบรมศาสดาและพระภิกษุสงฆ์ ได้ปวารณาตนเป็นผู้ถวายการรักษาพระบรมศาสดาและพระภิกษุผู้ป่วยไข้ เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าทรงถูกพระเทวทัต ทำร้าย โดยการกลิ้งหินจะให้มาทับพระพุทธองค์ให้ถึงแก่ปรินิพพาน แต่หินใหญ่ถูกชะง่อนผาแตกละเอียด สะเก็ดหินกระเด็นมาถูกพระบาททำให้ห้อพระโลหิต พระภิกษุสงฆ์จึงกราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์มาที่เวฬุวันมหาวิหาร และหมอชีวกโกมารภัจจ์ จึงถวายการรักษาให้กับพระองค์
ครั้งหนึ่งในแคว้นมคธ มีโรคระบาด คนเป็นโรคลมบ้าหมู โรคเรื้อน โรคมงคร่อกันมาก ไปให้หมอชีวกรักษา แต่ท่านก็ไม่มีเวลารักษาให้ เพราะท่านมีหน้าที่ดูแลพระบรมศาสดาและพระภิกษุป่วยไข้ ตอนสายก็ต้องไปทำงานราชการในวัง พวกคนป่วยบางราย ได้ทราบก็เลยมาบวช จะได้ให้หมอชีวกรักษาให้ ปรากฏว่าคนเป็นโรคมาบวชกันเยอะ จนหมอชีวกท่านรักษาไม่หวาดไม่ไหว เห็นว่าเป็นคนป่วยที่มาบวชเพื่อให้รักษาแล้วก็จะสึก จึงได้ไปทูลขอพรจากพระพุทธองค์ว่า ขอภิกษุสงฆ์อย่าให้การบวชแก่คนเป็นโรคเรื้อน โรคติดต่อพวกมองคร่อ ลมบ้าหมู โรคกลาก โรคหืด พระองค์จึงทรงบัญญัติเป็นสิกขาบทให้พระภิกษุอย่าบวชให้บุคคลผู้เป็นโรค ๕ อย่างนี้บวช
เวฬุวันมหาวิหาร มีสระน้ำร้อนไหลผ่านชื่อว่าตโปทานที ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า แม่น้ำนี้ไหลผ่านโลหะกุมภีมหานรก จึงมีความร้อนอยู่ ครั้งพุทธกาลพระภิกษุสงฆ์มักจะมาสรงน้ำในตะโปทานที นี้เป็นประจำ พระเจ้าพิมพิสารจะเสด็จมาทรงสรงสนานก็เกรงใจพระ รอให้ท่านขึ้นก่อนกว่าจะได้ทรงสรงน้ำ ก็เลยเวลาประตูพระราชวังปิด เสด็จกลับไม่ทัน ชาวเมืองไปร้องเรียนพระพุทธเจ้าว่าพระภิกษุสรงน้ำในตโปทานทีนานเกินไป ทำให้พระราชาทรงรอนาน ทำให้เสด็จกลับพระราชวังไม่ทัน พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติสิกขาบทให้พระภิกษุสรงน้ำ ๑๕ วันได้ครั้งหนึ่ง ต่อมาทรงผ่อนผันเป็นอนุบัญญัติ เช่น หากอาพาธสรงน้ำได้ เหงื่อออกสรงน้ำได้ ไม่สบายตัวสรงน้ำได้ ฯลฯ
ปัจจุบันตโปทานที ก็ยังมีอยู่ พวกพราหมณ์ไปจับจองเป็นของศาสนาตัวเอง แล้วก็กำหนดให้คนในวรรณะต่าง ๆ อาบได้ลดหลั่นตามลำดับ คนที่เป็นวรรณะกษัตริย์ วรรณพราหมณ์ก็อาบที่ใกล้ ๆ ต้นแม่น้ำที่สูงกว่า คนวรรณะต่ำ ๆ ก็อาบลดหลั่นลงมา บางทีน้ำไหลมาออกดำ ๆ เขียว ๆ เขาก็อาบกันได้ มีนักวิทยาศาสตร์ตักน้ำในแม่น้ำตโปทาไปวิจัย ก็พบว่ามีแร่ธาตุหลายอย่าง เช่น กำมะถัน เหล็ก ทองแดง เรเดียม ปนอยู่ในน้ำ ถ้าใครไปอาบน้ำแช่น้ำในตโปทานที ก็จะเกิดประโยชน์ต่อร่างกายเหมือนไปอาบออนเซน (แช่น้ำพุร้อน) ยังไงยังงั้น
เวฬุวันมหาวิหาร เป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาหลายพระสูตรและชาดกบางเรื่อง เช่นทีฆลัฏฐสูตร นันทพสูตร จันทพสูตร อสัมปทานชาดก อุปหานชาดก และนิโครธชาดก เป็นต้น และยังทรงบัญญัติพระวินัยหลายสิกขาบทที่นี่ อีกทั้งยังเป็นที่ประดิษฐานพระสถูปที่บรรจุพระธาตุของพระอรหันต์สาวกชั้นผู้ใหญ่ เช่นพระอัญญาโกณทัญญะ พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ นอกจากนั้นยังเป็นสถานที่พระพุทธองค์ทรงประชุมสงฆ์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ เมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ อันเป็นต้นกำเนิดวันมาฆบูชา อีกด้วย
วัดเวฬุวันหลังการปรินิพพาน
หลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน วัดเวฬุวันได้รับการดูแลมาตลอด โดยเฉพาะมูลคันธกุฎี ที่มีพระสงฆ์เฝ้าดูแลทำการปัดกวาดเช็ดถูปูลาดอาสนะและปฏิบัติต่อสถานที่ ๆ พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่ทุก ๆ แห่ง เหมือนสมัยที่พระพุทธองค์ทรงพระชนม์ชีพอยู่มิได้ขาด โดยมีการปฏิบัติเช่นนี้ติดต่อกันกว่าพันปี
แต่จากเหตุการณ์ย้ายเมืองหลวงแห่งแคว้นมคธหลายครั้งในช่วง พ.ศ. ๗๐ ที่เริ่มจากอำมาตย์และราษฎรพร้อมใจกันถอดกษัตริย์นาคทัสสก์ แห่งราชวงศ์ของพระเจ้าพิมพิสาร ออกจากพระราชบัลลังก์ และยกสุสูนาคอำมาตย์ ซึ่งมีเชื้อสายเจ้าลิจฉวี ในกรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชีเก่า ให้เป็นกษัตริย์ตั้งราชวงศ์ใหม่แล้วพระเจ้าสุสูนาค จึงได้ทำการย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธ ไปยังเมืองเวสาลี อันเป็นเมืองเดิมของตน และกษัตริย์พระองค์ต่อมาคือพระเจ้ากาลาโศกราช ผู้เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุสูนาค ได้ย้ายเมืองหลวงของแคว้นมคธอีก จากเมืองเวสาลีไปยังเมืองปาตลีบุตร ทำให้เมืองราชคฤห์ถูกลดความสำคัญลงและถูกทิ้งร้าง ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้วัดเวฬุวันขาดผู้อุปถัมภ์และถูกทิ้งร้างอย่างสิ้นเชิงในช่วงพันปีถัดมา
ต่อมา ปรากฏหลักฐานจากบันทึกของหลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. ๙๔๒ – ๙๔๗ ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ ๒ (พระเจ้าวิกรมาทิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้บันทึกไว้ว่า เมืองราชคฤห์อยู่ในสภาพปรักหักพัง แต่ยังทันได้เห็นมูลคันธกุฎี วัดเวฬุวันปรากฏอยู่ และยังคงมีพระภิกษุหลายรูปช่วยกันดูแลรักษาปัดกวาดอยู่เป็นประจำ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการบันทึกถึงสถานที่เกิดเหตุการณ์จาตุรงคสันนิบาต แต่ประการใด
แต่หลังจากนั้นประมาณ ๒๐๐ ปี วัดเวฬุวันก็ถูกทิ้งร้างไป ตามบันทึกของพระถังซัมจั๋ง (จีน: 玄奘, พินอิน: Xuánzàng ประมาณ ค.ศ. ๖๐๒ - ๕ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๖๖๔) ซึ่งได้จาริกมาเมืองราชคฤห์ราวปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ซึ่งท่านบันทึกไว้แต่เพียงว่า ท่านได้เห็นแต่เพียงซากมูลคันธกุฎีซึ่งมีกำแพงและอิฐล้อมรอบอยู่เท่านั้น ในสมัยนั้นเมืองราชคฤห์โรยราถึงที่สุดแล้ว พระถังซำจั๋งได้แต่เพียงจดตำแหน่งที่ตั้งทิศทางระยะทางของสถูปและโบราณสถานเก่าแก่อื่น ๆ ในเมืองราชคฤห์ไว้มาก ทำให้เป็นประโยชน์แก่นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีในการค้นหาโบราณสถานต่าง ๆ ในเมืองราชคฤห์ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเวฬุวันมหาวิหาร ได้รับการบูรณะปรับปรุงให้สวยงาม เมื่อครั้งฉลองพุทธชยันตี มีต้นไผ่เขียวขจีร่มเย็น พร้อมด้วยสระน้ำกลันทกะ ทำให้เห็นว่ายังรักษารูปเดิมในครั้งพุทธกาลไว้ได้อย่างสมบูรณ์ โดยรอบบริเวณมีถนนตัดเป็นสี่เหลี่ยมมีศาลาทรงไทย ที่สร้างขึ้นด้วยแรงศรัทธาของพุทธบริษัทชาวไทย คือศาลาไทยเวฬุวัน เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ โดยมีพระสุเมธาธิบดี (บุญเลิศ ทตฺตสุทฺธิ) ครั้งเมื่อดำรงตำแหน่งทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา เป็นผู้ดำเนินการจัดการก่อสร้าง พร้อมทั้งรูปภาพติดฝาผนังหลังพระพุทธรูป ครั้งพระพุทธเจ้าทรงรับสวนเวฬุวันจากพระเจ้าพิมพิสาร และมีพระพุทธปฏิมากรศิลปกรรมไทยตั้งไว้เป็นที่บูชาสักการะ
ทางด้านเหนือของสระใหญ่ มีพระพุทธรูปที่ชาวญี่ปุ่นสายมหายานสร้างไว้ในที่สายมหายาน เชื่อกันว่า ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์อันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ส่วนบริเวณสวนไม้ไผ่ด้านตะวันตก มีลานกว้างพอนั่งได้ ๕๐ คนพอดี ตรงกลางมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มตั้งไว้กลางแจ้ง ชาวพุทธสายเถรวาทนิยมมาประกอบการบูชาไหว้พระ สวดมนต์ เวียนเทียนกัน ด้วยเชื่อกันว่าเป็นที่หมู่อริยสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย เพื่อฟังโอวาทจากพระพุทธองค์ในวันมาฆบูชา
ถ้ำสุกรขาตา (ถ้ำพระสารีบุตร บรรลุอรหัตตผล)
วันมาฆบูชา (วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ หรือ เดือน ๔ ในปีที่มีอธิกมาส) เป็นวันที่บังเกิดขึ้นของพระอรหันตสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้เป็นกำลังในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านผู้นั้นก็คือพระอุปติสสะ ซึ่งต่อมาเพื่อนสหธัมมิก (พระภิกษุ) ด้วยกัน เรียกขานท่านในนามว่าพระสารีบุตร
ในตอนกลางวันของวันนั้น พระพุทธองค์ประทับเข้าสมาธิอยู่ ณถ้ำสุกรขาตา (อังกฤษ: Sukarakata or Boar's Cave) หมายถึง ถ้ำหมูขุด หรือ ถ้ำคางหมู อยู่ที่เชิงเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์ มีพระสารีบุตร คอยถวายงานพัดอยู่ด้วย ในเวลานั้นทีฆนขปริพาชก (นักบวชเล็บยาว) ซึ่งเป็นหลานพระสารีบุตร กำลังตามหาพระหลวงลุงของตน มาพบอยู่กับพระพุทธเจ้า ทีฆนขปริพาชกไม่ค่อยจะให้ความสำคัญแก่พระพุทธองค์มากนัก จึงพูดแบบหยิ่งผยองว่า
"ข้าพเจ้าไม่เชื่อทิฐิ (ความเห็น) ใด ๆ" พูดพลางลุกเดินไปมา
พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “ถึงอย่างไรเธอก็มีทิฐิอยู่นั้นเอง”
ทีฆนขปริพาชกพูดอีกว่า “ข้าพเจ้าไม่เชื่อทฤษฎีใด ๆ”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “การที่เธอไม่เชื่อทฤษฎีใด ๆ นั่นแหละเป็นความเชื่อของเธอล่ะ”
ได้ยินดังนั้น ทีฆนขปริพาชกสะดุดถึงกับนั่งลง อาการหยิ่งผยองค่อย ๆ หายไป พระพุทธองค์จึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาที่เรียกว่าเวทนาปริคคหสูตร (พระสูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา) ให้ฟัง
พระสารีบุตร นั่งเบื้องพระปฤษฎางค์ (เบื้องหลัง) ถวายงานพัดพระพุทธองค์อยู่ เงี่ยโสตสดับกระแสพระธรรมเทศนาไปด้วย เมื่อพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมจบ ทีฆนขปริพาชก นักบวชเล็บยาว หลานของท่านก็ได้บรรลุโสดาบัน แต่ตัวท่านพระสารีบุตรได้บรรลุอรหัตตผล เป็นพระอรหันต์ผู้หมดอาสวกิเลสโดยสิ้นเชิง
เนื่องจากการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดของพระสารีบุตร เกิดขึ้นในวันเพ็ญมาฆปุณณมี หรือวันเพ็ญเดือน ๓ ณ ถ้ำสุกรขาตา ดังนั้นวันมาฆบูชา จึงถือว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่บุคคลสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาประสบความสำเร็จในธรรมขั้นสูงสุด รวมทั้งเป็นวันเดียวกับวันประชุมกันเป็นพิเศษแห่งพระอรหันตสาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป โดยมิได้มีการนัดหมาย ณ วัดเวฬุวันมหาวิหาร นั้นเอง
เมื่อโปรดทีฆนขปริพาชก นักบวชเล็บยาวแล้ว พระพุทธองค์ทรงเสด็จกลับวัดเวฬุวันมหาวิหาร (วัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าพิมพิสาร กษัตริย์แห่งแคว้นมคธ สร้างถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธองค์ และภิกษุสงฆ์) พร้อมกับพระสารีบุตร ซึ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว และในค่ำคืนของวันนั้น
๑. เป็นวันเพ็ญ เดือนมาฆะ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
๒. พระสงฆ์สาวกจำนวน ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมพร้อมกันที่วัดเวฬุวันมหาวิหารโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระสงฆ์ทั้งหมดล้วนเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ ผู้ทรงอภิญญา ๖
๔. พระสงฆ์ทั้งหมดเป็นเอหิภิกขุ ผู้ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า
พระพุทธองค์ทรงเห็นปรากฏการณ์พิเศษนี้ จึงทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ (คำสอนที่เป็นหัวใจหรือแก่นของพระพุทธศาสนา) แก่ที่ประชุมสงฆ์ นับเป็นที่ประชุมอันประกอบด้วยเหตุการณ์อัศจรรย์ที่มาบรรจบกัน ๔ ประการ จึงเรียกว่าจาตุรงคสันนิบาต
ผู้ที่มาเติมเต็มความสมบูรณ์ของกองทัพธรรม ก็คือพระสารีบุตร ซึ่งเมื่อท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ถือได้ว่าพระธรรมเสนาบดี ได้บังเกิดขึ้น ดุจขุนพลแก้วบังเกิดแล้วแก่พระเจ้าจักรพรรดิ โดยท่านจะเป็นหัวเรือใหญ่รับสนองนโยบายภารกิจนี้โดยตรง พระพุทธองค์จึงทรงทำการประชุมมหาสาวกสันนิบาตทันทีในวันเดียวกันนั้นเอง โดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า เพราะทรงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่กองทัพธรรมจะต้องเร่งรุดขยายให้ได้กว้างไกลที่สุด ฉะนั้น จำต้องมีทิศทางและยุทธศาสตร์ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงได้ทรงประทานโอวาทปาติโมกข์ เพื่อไว้ใช้เป็นแม่บทในการประกาศพระศาสนา
ปาวาลเจดีย์ เมืองเวสาลี (สถานที่ ที่พระพุทธองค์ทรงทำการปลงพระชนมายุสังขาร)
ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ นอกจากจะเป็นวันมาฆบูชา แล้วยังเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงปลงพระชนมายุสังขาร เป็นครั้งสุดท้าย กล่าวคือ ในพรรษาที่ ๔๕ พรรษาสุดท้ายแห่งการดำเนินพุทธกิจ ขณะที่พระพุทธองค์ทรงมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา ทรงประทับจำพรรษาอยู่ที่เวฬุวคาม แขวงเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี
ในระหว่างพรรษานี้ พระพุทธองค์ทรงประชวรอย่างหนัก มีอาการอาพาธอย่างรุนแรง ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จเข้าไปยังปาวาลเจดีย์ ประทับนั่งบนอาสนะที่ ท่านพระอานนท์ปูถวาย ส่วนท่านพระอานนท์ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสกะท่านพระอานนท์ว่า "ดูกรอานนท์ เมืองเวสาลีเป็นที่น่ารื่นรมย์ อุเทนเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ โคตมกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สัตตัมพเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ พหุปุตตกเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์ สารันททเจดีย์ก็เป็นที่น่ารื่นรมย์..." พระพุทธองค์ทรงแสดงนิมิตใหญ่ เป็นนัยบอกใบ้ให้พระอานนท์ทูลขอให้ดำรงพระชนม์อยู่ดูความรื่นรมย์ต่อไป แต่ท่านพระอานนท์ไม่เข้าใจ
พระพุุทธองค์ทรงตรัสเป็นกเถตุกามยตาปุจฉาสืบไปว่า พระอิทธิบาททั้ง ๔ นั้นไซร้ คือสิ่งดังฤๅ ก็ตรัสวิสัชนาเล่าว่า คือ ฉันทิทธิบาท ๑ วิริยิทธิบาท ๑ จิตติทธิบาท ๑ วิมังสิทธิบาท ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน แลเมื่อพระบรมครูตรัสโอฬาริกนิมิตโอภาสดังนั้น พระอานนท์ก็มิอาจทราบในพระพุทธอัธยาศัย ก็มิได้กราบทูลอาราธนาให้พระศาสดาจงดำรงพระชนมายุอยู่จนสิ้นกาลกัลปหนึ่ง เพื่อจะอนุเคราะห์แก่สัตวโลกเหล่าเทพยดามนุษย์ทั้งหลายให้บริบูรณ์ไปด้วยประโยชน์แลสุขสืบไปในเบื้องหน้า
จึงมีคำปุจฉาว่า เหตุไฉนพระอานนท์จึงไม่ทูลอาราธนาให้พระศาสดาทรงพระชนม์อยู่อีกสืบไป วิสัชนาว่า เหตุมารเข้าครอบงำหฤทัยพระผู้เป็นเจ้าจึงมิอาจที่จะทูลอาราธนาได้ แต่พระสัพพัญํูกระทำโอภาสนิมิตดังนั้นไซร้ถึง ๒ ครั้ง ๓ ครั้ง พระอานนท์ได้ฟ๎งก็นิ่งอยู่ มิอาจล่วงรู้ในบทบรมพุทธาธิบายอันจะให้กราบทูลอาราธนา
ลำดับนั้นพระศาสดาจึงดำรัสว่า ดูกรอานนท์ ท่านจงไปนั่งยังวิเวกสถานเจริญสมาบัติฌานเถิด พระอานนท์รับพุทธฎีกาแล้วถวายวันทนาการก็ออกไปสถิตที่วิเวกสถาน ณ รุกขมูลแห่งหนึ่งอันมีในที่ใกล้
ขณะนั้นพระยาวสวัตตี (บาลี: วะ-สะ-วัด-ตี, Vasavatti) ก็เข้ามาสู่สำนักพระทศพลญาณ แล้วนิสีทนาการในที่ควรข้างหนึ่ง จึงกราบทูลอาราธนาว่า
ข้าแต่พระผู้ทรงพระภาค ขออัญเชิญพระองค์จงเข้าสู่พระปรินิพพานกาลบัดนี้ ดังจะรู้มา จำเดิมแต่กาลปฐมาภิสมโพธิ ปางเมื่อพระพุทธองค์ทรงสถิตอยู่ ณ อัชปาลนิโครธรุกขมูล ใน ๗ วันเป็นคำรบ ๘ คราหลังครั้งเมื่อทรงรับอาราธนาท้าวมหาพรหมอันมาทูลขอให้แสดงธรรมแล้ว จึงพระยาวสวัตตีก็มากราบทูลว่า พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเพื่อปรารถนาพระสัพพัญํุตญาณ บัดนี้ก็สำเร็จมโนปนิธานแล้ว และจะกระทำประโยชน์แก่สัตวโลกให้ลำบากพระกายไปไยเล่า ขอเชิญเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานเถิดในวันนี้
กาลนั้นพระชินสีห์ได้ทรงเสาวนาการซึ่งคำพระยาวสวัตตีมากราบทูล จึงตรัสห้ามว่า 'ดูกรมารผู้ใจบาป ต่อเมื่อใดสาวกทั้งหลายของตถาคต คือ ภิกขุ ภิกขุนี อุบาสก อุบาสิกา เป็นพหูสูตรอันฉลาดอาจทรงไว้ได้ซึ่งพระธรรมวินัย แลปฏิบัติศึกษาเล่าเรียนบอกกล่าวสืบต่อกันไป แลสำแดงธรรมเทศนาโปรดเวไนยนิกรสัตว์ เทพยดา และมนุษย์ ให้สำเร็จมรรคผลพระอมตมหานิพพานได้ ยังศาสนมรรคพรหมจรรย์ให้แผ่ไพศาลไปทั่วโลกธาตุกาลเมื่อใดแล้ว ตถาคตจึงรับอาราธนาท่านเข้าสู่พระปรินิพพานในกาลเมื่อนั้น' แลพระยาวสวัตตีก็ติดตามพระองค์มาคอยซึ่งโอกาสตราบเท่าถึงกาลวันเสด็จมาสถิต ณ ปาวาลเจดีย์ จึงเข้ามากราบทูลอาราธนาพระชินสีห์ให้ปรินิพพานในกาลครั้งนั้นอีกเล่า
เมื่อพระสัพพัญญูเจ้าได้ทรงสดับคำอาราธนากถาแห่งพระยาวสวัตตีในกาลนั้น จึงมีพระพุทธฎีกาตรัสว่า "ดูกรวสวัตตีมาร ท่านอย่าได้ทุกข์โทมนัสเลย ไม่ช้าแล้วตถาคตก็จักปรินิพพานกำหนดกาลแต่นี้ล่วงไปอีก ๓ เดือนเท่านั้น" ครั้นพระยาวสวัตตีได้สดับก็รับพุทธฎีกาว่า "สาธุๆ" มีจิตโสมนัสยินดี แล้วก็อันตรธานจากสถานที่นั้น
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปลงพระชนมายุสังขาร โดยตั้งพระทัยว่า"นับแต่นี้ต่อไปอีกสามเดือน วันเพ็ญในกลางเดือนหก (วิสาขะ) ปีจอ ตถาคตจักดับขันธปรินิพพานที่เมืองกุสินารา" การปลงอายุสังขารจึงมีความหมายในภาษาสามัญว่า การกำหนดวันตายไว้ล่วงหน้านั่นเอง การปลงอายุสังขารนี้มีขึ้น ณ ร่มไม้แห่งหนึ่งในปาวาลเจดีย์ บ้านเวฬุวคาม แขวงเมืองไพศาลี (เมืองไวสาลี ในปัจจุบัน) เวลากลางวัน
ดูบทความหลักที่: วันพระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร
การกำหนดให้วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย
การประกอบพิธีในวันมาฆบูชาได้เริ่มมีขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องจากพระองค์ทรงเล็งเห็นว่าวันนี้เป็นวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา คือเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ ฯลฯ ควรจะได้มีการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยในครั้งแรกนั้นได้ทรงกำหนดเป็นเพียงการพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลเป็นการภายใน แต่ต่อมาประชาชนก็ได้นิยมนำพิธีนี้ไปปฏิบัติสืบต่อมาจนกลายเป็นวันประกอบพิธีสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันหนึ่งไป
เนื่องจากในประเทศไทย พุทธศาสนิกชนได้มีการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาสืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ และนับถือกันโดยพฤตินัยว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยมาตั้งแต่นั้น โดยเมื่อถึงวันนี้พุทธศาสนิกชนจะร่วมใจกันประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ กันเป็นงานใหญ่ ดังนั้นเมื่อถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์จึงทรงประกาศให้วันมาฆบูชาเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ สำหรับชาวไทยจะได้ร่วมใจกันบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาโดยพร้อมเพรียง
ในปัจจุบันยังคงปรากฏการประกอบพิธีมาฆบูชาอยู่ในประเทศไทยและประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย เช่น ลาว และกัมพูชา (ซึ่งเป็นส่วนที่ไทยได้เสียให้แก่ฝรั่งเศสในสมัยรัชกาลที่ ๕) โดยไม่ปรากฏว่ามีการประกอบพิธีนี้ในประเทศพุทธมหายานอื่นหรือประเทศพุทธเถรวาทนอกนี้ เช่น พม่า และศรีลังกา ซึ่งคงสันนิษฐานได้ว่า พิธีมาฆบูชานี้เริ่มต้นจากการเป็นพระราชพิธีของราชสำนักไทยและได้ขยายไปเฉพาะในเขตราชอาณาจักรสยามในเวลานั้น ต่อมาดินแดนไทยในส่วนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาได้ตกเป็นดินแดนในอารักขาของฝรั่งเศส และได้รับเอกราชในเวลาต่อมา พุทธศาสนิกชนในประเทศทั้งสองที่ได้รับคตินิยมการปฏิบัติพิธีมาฆบูชาตั้งแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรสยาม คงได้ถือปฏิบัติพิธีมาฆบูชาอย่างต่อเนื่องโดยไม่ได้มีการยกเลิก จึงทำให้คงปรากฏพิธีมาฆบูชาในประเทศดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน
วันมาฆบูชาในปฏิทินสุริยคติ
ปี | วันที่ | วันที่ |
---|---|---|
ปีชวด | ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๑ | ๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๓ |
ปีฉลู | ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๒ | ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๔ |
ปีขาล | ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๓ | ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๕ |
ปีเถาะ | ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๔ | ๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๖ |
ปีมะโรง | ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ | ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๗ |
ปีมะเส็ง | ๒๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ | ๑๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๘ |
ปีมะเมีย | ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ | ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๙ |
ปีมะแม | ๔ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ | ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๗๐ |
ปีวอก | ๒๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๙ | ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๗๑ |
ปีระกา | ๑๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ | ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๗๒ |
ปีจอ | ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ | ๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๗๓ |
ปีกุน | ๑๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๖๒ | ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๗๔ |
แนวทางที่พึงปฏิบัติ
วันมาฆบูชา ถือว่าเป็นวันสำคัญยิ่งวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธพึงปฏิบัติเช่นเดียวกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาวันอื่น ๆ และควรปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญ ดังต่อไปนี้
๑. แนวทางการปฏิบัติกิจกรรมสำหรับสถาบันต่าง ๆ ในสังคม
พุทธศาสนิกชนผู้มุ่งที่จะพัฒนาตนเอง ตามหลักธรรมแห่งวันมาฆบูชา ดังกล่าวข้างต้น พึงยึดถือแนวทางการปฏิบัติธรรมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะพระจริยาวัตรของพระองค์ ถือว่าเป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จในการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นพุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธายึดมั่นในคุณของพระรัตนตรัย พึงปฏิบัติตามหลักธรรมอื่นที่นำสุขมาให้อีกดังนี้
๑.๑ แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
- ให้ทาน ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสามเณรในช่วงเช้า หรือเพล บริจาคทรัพย์เกื้อกูลผู้ยากไร้ และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
- รักษาศีล สำรวมระวังกายและวาจา ด้วยการรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ พร้อมทั้งบำเพ็ญเบญจธรรมสนับสนุน
- เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระสวดมนต์ และปฏิบัติสมาธิตามแนวสติปัฏฐาน ๔
- เวียนทียน การเวียนเทียนเป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา ในการนี้ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย
๑.๒ แนวทางการปฏิบัติสำหรับสถาบันต่าง ๆ ในสังคม
- กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว
- ทำความสะอาด ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งที่บูชาพระประจำบ้าน
- ศึกษาเอกสาร หรือสนทนาเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์ และแนวทางการปฏิบัติธรรมในครอบครัว
- นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน
- ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา
- กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา
- ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติ ธรรมจักร จัดตั้งโต๊ะหมู่บูชา
- ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาและหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์ และแนวทางปฏัติธรรมในสถานศึกษา
- ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
- ประกาศเกียรติคุณนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
- ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา
- กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน
- ทำความสะอาดบริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติ ธงธรรมจักร และจัดโต๊ะหมู่บูชา
- ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือโอวาทปาติโมกข์ และแนวทางการปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
- จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม
- ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต ฯลฯ
- หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
- กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม
- วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันมาฆบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
- จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันมาฆบูชา และหลักธรรม คือ โอวาทปาติโมกข์ และแนวทางปฏิบัติเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น วัด หรือศูนย์ปฏิบัติธรรม สนามบิน สถานีรถไฟ สถานนีขนส่ง ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ
- เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญจิตภาวนา
- รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่างๆให้ ลด ละ เลิก อบายมุข งดจำหน่ายสุรา และสิ่งเสพติดทุกชนิด
- ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา และสังคม
- รณรงค์ให้มีการการรักษาสภาพแวดล้อมปลูกต้นไม้ทำความสะอาดที่สาธารณะ
- จัดประกวดกิจกรรมต่าง เช่น สวดมนต์ทำนองสรภัญญะ บรรยายธรรม แต่งคำขวัญ แต่งบทร้อยกรอง และแต่งเรียงความเกี่ยวกับวันมาฆบูชา
- กิจกรรมเกี่ยวกับวัด
- ก่อนถึงวันมาฆบูชา
- เจ้าอาวาสแจ้งแก่ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา ในวันพระ ขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๓ ว่าวันพระหน้า คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันทำพิธีมาฆบูชา
- ในวันมาฆบูชา
- ภิกษุ สามเณร ศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันทำความสะอาดบริเวณวัด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะ ตั้งน้ำใช้ น้ำฉัน และประดับธงธรรมจักร
- เวลาเช้าและบ่ายมีการฟังพระธรรมเทศนา
- เวลาค่ำ ให้ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ ถือดอกไม้ พร้อมธูปทียน ก่อนจุดธูปเทียนให้พระสงฆ์ผู้เป็นประธาน ประกาศเตือนใจให้พุทธศาสนิกชน เกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อการเวียนเทียน เพื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ แล้วจึงจุดธูปเทียน
- พระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา แล้วทำประทักษิณ คือ เดินเวียนไปที่ทางมือขวาของตน หันเข้าหาพุทธสถาน เช่น พระอุโบสถ พระมหาธาตุเจดีย์ เป็นต้น จนครบ ๓ รอบ แล้วจึงนำดอกไม้ธูปทียนไปปักตามที่ ที่กำหนด
- จากนั้นภิกษุ สามเณรเข้าไปในพระอุโบสถ บูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรเย็น สวด โอวาทปาติโมกขกถา จบแล้ว ให้อุบาสก อุบาสิกาทำวัตรเย็น แล้วพระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับ โอวาทปาติโมกขกถา จากนั้นหากพระภิกษุ สามเณร สวดมนต์ทำนองสรภัญญะได้ ก็ให้สวดด้วย
- ก่อนจบกิจกรรมในวันมาฆบูชา ให้พุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล ด้วยการไหว้พระสวดมนต์ นั่งสมาธิ แผ่เมตตา และสนทนาธรรม เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัย
ประโยชน์ที่พึงจะได้รับ
กิจกรรมของวันมาฆบูชาที่พุทธศาสนิกชนได้ร่วมกันปฏิบัติ จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งแก่พุทธศาสนิกชนและสังคมโลกอย่างมาก กล่าวคือ
- ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่พุทธศาสนิกชน
- เกิดความรู้ความใจเกี่ยวกับความสำคัญของ วันมาฆบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือความอดทน ละเว้นการทำบาป การไม่เบียดเบียนผู้อื่น และแนวทางที่พึงปฏิบัติ
- เกิดความศรัทธา ซาบซึ้ง ละตระหนักในความสำคัญองพระพุทธศาสนา
- เห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตาม โอวาทปาติโมกข์
- เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี รู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง
- ประโยชน์ที่เกิดขึ้นสังคมโลก
- คำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องความอดทน อดกลั้น การละชั่ว การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ถือเป็นข้อปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้โลกอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งและหลีกเลี่ยงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
การประกอบพิธีทางศาสนาในวันมาฆบูชา
พระราชพิธี
พระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลในวันมาฆบูชานี้ โดยปกติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดช เป็นองค์ประธานในการพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล และบางครั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์เสด็จแทน โดยสถานที่ประกอบพระราชพิธีจะจัดในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักพระราชวังจะออกหมายกำหนดการประกาศการพระราชพิธีนี้ให้ทราบทั่วไปเป็นประจำทุกปี ในอดีตจะใช้ชื่อเรียกการพระราชพิธีในราชกิจจานุเบกษาแตกต่างกัน บางครั้งจะใช้ชื่อ "การพระราชกุศลมาฆบูชาจาตุรงคสันนิบาต" หรือ "การพระราชกุศลมาฆบูชา" หรือแม้ "มาฆบูชา" ส่วนในรัชกาลปัจจุบัน สำนักพระราชวังจะใช้ชื่อเรียกหมายกำหนดการที่ชัดเจน เช่น "หมายกำหนดการ พระราชกุศลมาฆบูชา พุทธศักราช ๒๕๒๒"
ในรัชกาลต่อมาได้มีการลดทอดพิธีบางอย่างออกไปบ้าง เช่น ยกเลิกการถวายภัตตาหารพระสงฆ์ในเวลาเช้า หรือการจุดเทียนราย ๑,๒๕๐ เล่ม เป็นต้น แต่ก็ยังคงมีการบำเพ็ญพระราชกุศลในวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนเคย โดยในบางปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะทรงประกอบพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลมาฆบูชาและทรงเวียนเทียนรอบพุทธศาสนสถานเป็นการส่วนพระองค์ตามพระอารามหลวงหรือวัดราษฎร์อื่น ๆ บ้าง ตามพระราชอัธยาศัย ซึ่งการพระราชพิธีนี้เป็นการแสดงออกถึงพระราชศรัทธาอันแน่นแฟ้นในพระพุทธศาสนา ขององค์พระมหากษัตริย์ไทยผู้ทรงเป็นเอกอัครพุทธศาสนูปถัมภ์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
รายละเอียดการประกอบพระราชพิธีนี้ในพระราชนิพนธ์พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับการพระราชพิธีในเดือนสาม คือพระราชพิธีบำเพ็ญกุศลในวันมาฆบูชาไว้ มีใจความว่า
เวลาเช้า พระสงฆ์วัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ ๓๐ รูป ฉันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเหมือนอย่างที่วัด แล้วจึงได้สวดมนต์ต่อไป มีสวดคาถาโอวาทปาฏิโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบพระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีประโคมด้วยอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงมีเทศนาโอวาทปาฏิโมกข์กัณฑ์ ๑ เป็นเทศนาทั้งภาษามคธและภาษาสยาม เครื่องกัณฑ์จีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง เงิน ๓ ตำลึงและขนมต่าง ๆ เทศน์จบพระสงฆ์สวดมนต์รับสัพพี ๓๐ รูป
พิธีสามัญ
การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย โดยทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่าง ๆ ภายในวัด เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมนับถือเอาวันนี้เป็นวันสำคัญในการละเว้นความชั่ว บำเพ็ญความดี ทำใจให้ผ่องใส ตามแนวทางพระบรมพุทโธวาท โดยมีแนวปฏิบัติในการประกอบพิธีในวันมาฆบูชาคล้ายกับการประกอบพิธีในวันวิสาขบูชา คือมีการตั้งใจบำเพ็ญกุศลทำบุญตักบาตรฟังพระธรรมเทศนาและเจริญจิตตภาวนาในวันนี้ เมื่อตกกลางคืนก็มีการเวียนเทียนถวายเป็นพุทธบูชาตามอารามต่าง ๆ และอาจมีการบำเพ็ญปกิณณกะกุศลต่าง ๆ ตลอดคืนตามแต่จะเห็นสมควร
การประกอบพิธีวันมาฆบูชาในปัจจุบันนี้นอกจากการเวียนเทียน ทำบุญตักบาตร ในวันสำคัญแล้ว ยังมีหน่วยงานภาครัฐ องค์กรทางศาสนา และภาคประชาชน ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นมากมาย เพื่อเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาและประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน เช่น กิจกรรมสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนาวันมาฆบูชา ณ ท้องสนามหลวง หรือตามวัดในจังหวัดต่าง ๆ เป็นต้น
การเวียนเทียน
แนวทางการปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
การเวียนเทียน เป็นการบูชาพระรัตนตรัยด้วยอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา ซึ่งพุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ได้แก่วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสฬหบูชา
การเวียนเทียน เป็นพิธีกรรมที่มีความสำคัญ พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติด้วยความสำรวม เพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ที่พบเห็น ทั้งชาวไทยที่นับถือศาสนาอื่น และชาวต่างประเทศ โดยมีแนวทางการปฏิบัติดังนี้
- การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
- ๑. การอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
- ๒. แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
- ๓. เตรียมเครื่องบูชาให้พร้อม เช่น ดอกไม้ ธูป เทียน
- ๔. ควรเดินทางมาถึงวัด หรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน ก่อนเวลาเริ่มเดินเวียนเทียน
- ๕. เมื่อเดินทางมาถึงวัด ควรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย เพื่อร่วมศาสนพิธีตามลำดับขั้นตอนที่เหมาะสมเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงออกมาเตรียมตัวด้านหน้าพระอุโบสถหรือสถานที่ประกอบพิธีเวียนเทียน
- การปฏิบัติตนขณะเวียนเทียน
- ๑. เมื่อเริ่มเวียนเทียน ต้องสำรวมกาย วาจา ใจให้สงบเรียบร้อย
- ๒. ควรรักษาระยะการเดินให้ห่างจากคนข้างหน้าพอสมควร เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น เพราะจะให้เสื้อผ้าผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้บาดเจ็บได้
- ๓. ควรเดินเวียนเทียนอย่างเป็นระเบียบ ไม่เร็วหรือช้าเกินไป หรือเดินแซงกัน
- ๔. เจริญภาวนาระลึกถึงพระพุทธคุณในรอบแรก พระธรรมคุณในรอบที่สอง และพระสังฆคุณในรอบที่สาม
- ๕. ไม่ควรหยอกล้อหรือพูดคุยกันในขณะเวียนเทียน เพราะเป็นการไม่เคารพต่อพระรัตนตรัยและสถานที่ ตลอดจนทำให้ผู้อื่นเกืดความรำคาญหรืออาจเกิดอุบัติเหตุได้
- ๖. เมื่อเวียนเทียนครบ ๓ รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปวางและปักบูชาในที่ที่จัดเตรียมไว้
ระเบียบปฏิบัติการเวียนเทียน
การเวียนทียนในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา มีระเบียบการปฏิบัติดังนี้
๑. เมื่อถึงกำหนดวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอัฏมีบูชา และวันอาสาฬหบูชา ให้ทางวัดประกาศให้พุทธบริษัททราบทั่วกัน (ทั้งชาววัดและชาวบ้าน) และบอกกำหนดเวลาประกอบพิธีด้วยว่า จะประกอบเวลาไหนจะเป็นตอนบ่ายหรือค่ำก็ได้ แล้วแต่สะดวก
๒. เมื่อถึงเวลากำหนด ทางวัดตีระฆังสัญญาณให้พุทธบริษัททั้งภิกษุ สามเณร อุบาสก และอุบาสิกา ประชุมพร้อมกันที่หน้าพระอุโบสถ หรือลานพระเจดีย์อันเป็นหลักของวัดนั้นๆ
ภิกษุอยู่แถวหน้า ถัดไปสามเณร ท้ายสุด อุบาสกอุบาสิกา จะจัดให้ชายอยู่กลุ่มชาย หญิงอยู่กลุ่มหญิง หรือปล่อยให้คละกันตามอัธยาศัยก็แล้วแต่จะกำหนด
ทุกคนถือดอกไม้ ธูปเทียนบูชาตามแต่จะหาได้ และศรัทธาของตน ควรกะขนาดของเทียนให้จุดเดินได้จนครบ ๓ รอบสถานที่ที่เดิน ไม่หมดเสียในระหว่างเดิน
๓. เมื่อพร้อมกันแล้ว ประธานสงฆ์จุดเทียนและธูป ทุกคนจุดของตนตาม เสร็จแล้ว ถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุด แล้วประนมมือหันหน้าเข้าหาปูชนียสถานที่จะเวียนนั้น แล้วกล่าวคำบูชาตามแบบที่กำหนดไว้ ตามประธานสงฆ์จนจบ
๔. ประธานสงฆ์ประนมมือถือดอกไม้ธูปเทียนเดินนำหน้าแถว ไปทางขวามือของสถานที่เวียนเทียนนั้นจนครบ ๓ รอบ
การเดินขวาเพื่อเป็นการแสดงความเคารพอย่างสูง ตามธรรมเนียมอินเดียสมัยพุทธกาล
ในแต่ละรอบให้ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณตามลำดับ ดังนี้
รอบแรก ระลึกถึงพระพุทธคุณ
อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ
วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู
อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ
สัตถา เทวะมะนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
คำแปล
เพราะเหตุอย่างนี้
พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นทรงไกลจากกิเลส
เป็นผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง
ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดีแล้ว รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
ทรงเป็นผู้สามารถฝึกบรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
ทรงเป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม
เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์ ดังนี้
รอบที่สอง ระลึกถึงพระธรรมคุณ
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
สันทิฏฐิโก อะกาลิโก
เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก
ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ (อ่านว่า วิญญูฮีติ)
คำแปล
พระธรรม เป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติได้ด้วยตนเอง
เป็นสิ่งปฏิบัติได้และให้ผลได้โดยไม่จำกัดกาล
เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้
รอบที่สาม ระลึกถึงพระสังฆคุณ
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา
เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย
อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
คำแปล
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติดีแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติตรงแล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าหมู่ใด
ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า หมู่ใด ปฏิบัติสมควรแล้ว
ได้แก่บุคคลเหล่านี้ คือคู่แห่งบุรุษ ๔ คู่
นับเรียงตัวบุรุษได้ ๘ บุรุษ นั่นแหละ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาบูชา
เป็นผู้ควรแก่สักการะที่เขานำมาต้อนรับ
เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เป็นผู้ที่บุคคลทั่วไปควรทำอัญชลี
เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า ดังนี้
๕. เมื่อครบ ๓ รอบแล้ว นำดอกไม้ ธูปเทียนไปปักบูชาตามที่เตรียมไว้ ต่อจากนั้นจึงเข้าไปประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถ หรือวิหารหรือศาลาการเปรียญ แล้วแต่ที่ทางวัดกำหนด
เริ่มทำวัตรเย็นและสวดมนต์ ทั้งบรรชิตและคฤหัสถ์อย่างพิธีกรรมวันธรรมสวนะธรรมดา เสร็จแล้วมีเทศน์พิเศษแสดงเรื่องพระพุทธประวัติ และเรื่องที่เกี่ยวกับ วันมาฆบูชา ๑ กัณฑ์ เป็นอันเสร็จพิธี
หมายเหตุ
๑. ควรแต่งกายให้สุภาพเพื่อเป็นพุทธบูชา
๒. ลำดับพิธีกรรมปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม
คำบูชาในวันมาฆบูชา (สำหรับพระสงฆ์และประชาชน)
อัชชายัง, มาฆะปุณณะมี สัมปัตตา, มาฆะนักขัตเตนะ, ปุณณะจันโท ยุตโต, ยัตถะ ตะถาคะโต อะรหัง สัมมาสัมพุทโธ จาตุรังคิเก, สาวะกะ สันนิปาเต, โอวาทปาติโมกขัง อุททิสิ.
ตะถาหิ, อัฑฒะเตระสานิ, ภิกขุสะตานิ, สัพเพสังเยวะ, ขีณาสะวานัง, สัพเพ เต เอหิ ภิกขุกา, สัพเพหิ เต อะนามันติตา วะ, ภะคะวะโต สันติกัง อาคะตา เวฬุวะเน กะลันทะกะนิวาเป, มาฆะปุณณะมิยัง, วัฑฒะมานะ กัจฉายายะ, ตัสมิง สันนิปาเต, ภะคะวา, วิสุทธุโปสะถัง อะกาสิ, อะยัง อัมหากัง ภะคะวะโต, เอโกเยะ สาวะกะสันติปาโน อะโหสิ, จาตุรังคิโก, อัฑฒะเตระสานิ, ภิกขุสะตานิ, สัพเพสังเยวะ, ขีณาสะวะนัง.
มะยันทานิ, อิมัง, มาฆะปุณณะมีนักขัตตะสะมะยัง, ตักกาละสะทิสัง สัมปัตตา, สุจิระปะรินิพพุตัมปิ ตัง ภะคะวันตัง, อะนุสสะระมะนา, อิมัสมิง, ตัสสะ ภะคะวะโต, สักขีภูเต เจติเย, อิเมหิ, ทัณฑะทีปะธูปะปุปผาทิสักกาเรหิ, ตัง ภะคะวันตัง ตานิ จะ อัฑฒะเตระสานิ, ภิกขุสะตานิ, อะภิปูชะยามะ.
สาธุ โน ภันเต ภะคะวา, สะสาวะกะสังโฆ, สุจิระปะรินิพพุโตปิ, คุเณหิ ธะระมาโน, อิเม สักกาเร ทุคคะตะปัณณาการะภูเต, ปะฏิคคัณหาตุ, อัมหากัง, ทีฆะรัตตัง, หิตายะ สุขายะ.
คำแปล
วันนี้ มาถึงวันมาฆบุรณมี พระจันทร์เพ็ญ ประกอบด้วย ฤกษ์มาฆะ (เดือน ๓) แล้ว วันนี้ตรงกับวันที่พระตถาคต องค์พระอรหันต์สัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์สาวก ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
ครั้งนั้น พระภิกษุ ๑,๒๕๐ องค์ ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ (ผู้หมดสิ้นกิเลส) ล้วนแต่เป็นเอหิภิกษุ มิได้มีใครนิมนต์นัดหมาย ได้มาประชุมพร้อมกันเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคเจ้า ณ เวฬุวันมหาวิหาร เวลาตะวันบ่ายในวันมาฆบุรณมี และพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงกระทำวิสุทธิอุโบสถในที่ประชุมนั้น การประชุมพระสงฆ์สาวกพร้อมด้วยองค์ ๔ ของพระผู้มีพระภาคเจ้าแห่งเราทั้งหลายนี้ ได้มีขึ้นเพียงครั้งนี้ครั้งเดียวเท่านั้น ภิกษุผู้เข้าประชุม ๑,๒๕๐ องค์นั้น ล้วนแต่เป็นพระขีณาสพ
บัดนี้ ถึงวันมาฆบุรณมีนักขัตสมัย คล้ายวันจาตุรงคสันนิบาตนั้นแล้ว เราทั้งหลายมาระลึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว ขอน้อมบูชาพระผู้มีพระภาคเจ้า และพระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ องค์นั้น ด้วยเครื่องสักการะบูชาทั้งหลายมี เทียน ธูป และดอกไม้ เป็นต้น เหล่านี้ ณ เจดีย์สถานเหล่านี้ ซึ่งเป็นสักขีพยานแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมทั้งพระสงฆ์สาวก แม้เสด็จปรินิพพานไปนานแล้ว ยังคงอยู่แต่พระคุณทั้งหลาย จงทรงรับสักการะบรรณาการคนยากเหล่านี้ของข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข แก่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนานเทอญ
- ที่มา :
- ลานธรรมจักร ธรรมะออนไลน์
- วันมาฆบูชา แนวทางปฏิบัติสำหรับพุทธศาสนิกชน
กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม, ๒๕๕๐. หน้า ๑ - ๓๐
พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป
พระสงฆ์สาวก ๑,๒๕๐ รูป ประกอบด้วยพระภิกษุได้รับการบวชด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือการบวชที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ด้วยพระองค์เอง เป็นพระภิกษุที่มาจากกลุ่มผู้ซึ่งเคยเป็นนักบวชในศาสนาอื่น ๆ กล่าวคือ
๑. พระอรหันต์จำนวน ๑,๐๐๐ รูป เดิมเป็นชฎิลที่เป็นศิษย์ของชฎิลเจ้าลัทธิ ๓ พี่น้อง คืออุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ
๒. พระอรหันต์จำนวน ๒๕๐ รูป เดิมเป็นปริพาชก ที่เป็นศิษย์ของพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นศิษย์อยู่ในสำนักของสัญชัยปริพาชก
นอกจากพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ยังเชื่อว่าชฎิลสามพี่น้อง คืออุรุเวลากัสสปะ นทีกัสสปะ และคยากัสสปะ รวมทั้งพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ก็น่าจะอยู่ในที่ประชุมพร้อมกับพระบริวารเหล่านั้นด้วย แต่เนื่องจากในการแต่งภาษาบาลี มีคตินิยมที่จะคงไว้แต่จำนวนเต็ม เพื่อง่ายต่อการทรงจำ ฉะนั้นจึงปัดเศษ ๕ รูปออกไป ดังนั้นจำนวนของพระสงฆ์ที่มาชุมนุมครั้งนี้ จึงเป็น ๑,๒๕๐ รูป
อภิญญา ๖
อภิญญา ๖ หมายถึงความรู้ยิ่งยวด มี ๖ อย่าง ได้แก่
เจ้าลัทธิในสมัยพุทธกาล
ครูผู้เป็นเจ้าลัทธิในสมัยพุทธกาล มีชื่อเสียง มีศิษย์มาก จำนวน ๖ ท่าน คือ
๑. บูรณะ กัสสปะ มีความเชื่อว่า เมื่อบุคคลทำบุญหรือทำบาปเอง หรือใช้ให้ผู้อื่นทำบุญหรือบาป ก็ไม่มีผลของการทำบุญหรือผลของการทำบาปนั่นแก่เขา
๒. มักขลิ โคสาล มีความเชื่อว่า ความเป็นอยู่หรือเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ไม่มีเหตุ ไม่มีปัจจัย ย่อมเป็นไปเอง ไม่อยู่ในวิสัยที่จะทำให้เป็นไปอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แม้การที่จะบรรลุถึงความบริสุทธิ์พ้นทุกข์สิ้นเชิงในวัฏสงสารนี้ก็เป็นไปเอง มิใช่ด้วยการกระทำใดๆ เป็นเหตุ
๓. อชิตะ เกสะกัมพล ยึดถือว่า ผลกรรมไม่มี โลกนี้โลกหน้าไม่มี การรู้แจ้งไม่มี บุคคลและสัตว์ไม่มี เป็นพียงธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ มารวมกัน ตายแล้วขาดสูญ
๔. ปกุธะ กัจจายนะ ถือมั่นว่า สภาวะ ๗ กอง คือ กองดิน กองน้ำ กองไฟ กองลม สุข ทุกข์ ชีวะนี้ ไม่มีใครทำหรือเนรมิต มีอยู่ยั่งยืน ไม่แปรปรวน ไม่มีผู้กระทำการใดใดๆ ต่อกัน แม้การเอามีดตัดศรีษะกัน ก็ไม่มีผู้ใดฆ่าใคร เป็นแต่การเอามีดผ่านช่องสภาวะ ๗ กองนี้เท่านั้น
๕. นิครนถะ นาฏบุตร เห็นว่า นิครนถ์เป็นผู้สังวรแล้วด้วยสังวร ๔ ประการ คือ เป็นผู้ห้ามน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประกอบด้วยน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้กำจัดด้วยน้ำทั้งปวง ๑ เป็นผู้ประพรมด้วยน้ำทั้งปวง ๑ จึงเป็นผู้ถึงที่สุดสำรวมและตั้งมั่นแล้ว
๖. สัญชัย เวลัฏฐบุตร เชื่อมั่นว่า ถามปัญหาว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนั้นหรือ หากเราจะเห็นว่าเป็นอย่างนั้นก็จะตอบว่าเป็นอย่างนั้น แต่เราไม่มีมีความเห็นตายตัวเช่นนั้น เรามีความเห็นว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่
อาณาปาติโมกข์
อาณาปาติโมกข์ ปาติโมกข์ คือ อาณาหรือพุทธบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ เมื่อมีพระสาวกทำผิดจากความเป็นพระ และปรับโทษหนักเบาตามความผิดที่เรียกว่าอาบัติ
ทางสุดโต่ง
ทางสุดโต่ง หมายถึง ข้อปฏิบัติ หรือ การดำเนินชีวิตที่ผิดไปจากข้อปฏิบัติสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) มี ๒ อย่าง คือ
๑. การทำตนให้หมกหมุ่น และลุ่มหลงอยู่กับความสุขในเรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส (กามสุขัลลิกานุโยค)
๒. การทรมานตนให้ลำบาก เช่น การอดอาหาร การนั่งหรือนอนบนหนาม เป็นต้น (อัตตกิลมถานุโยค)
อธิจิต (สมาบัติ ๘)
สมาบัติ ๘ ประกอบด้วย
- รูปฌาน ๔ ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ คือ
- ๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก (ตรึก) วิจาร (ตรอง) ปีติ (อิ่มใจ) สุข (สบายใจ) เอกัคคตถา (จิตทีอารมณ์เป็นหนึ่ง)
- ๒. ทุติยฌาน ฌาน ที่ ๒ มีองค์ คือ คือ ปิตี สุข เอกัคคตา
- ๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
- ๔. จตุตถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
- อรูปฌาน ๔ ฌานมีอรูปธรรมเป็นอารมณ์ มี ๔ ระดับ คือ
- ๑. อากาสานัญจายตนะ (กำหนดที่ว่างหาที่สุดมิได้เป็นอารมณ์)
- ๒. วิญญาณณัญจายตนะ (กำหนดวิญญาณหาที่สุดไม่ได้เป็นอารมณ์)
- ๓. อากิญจัญญายตนะ (กำหนดภาวะที่ไม่มีอะไรๆ เป็นอารมณ์)
- ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)