พระภิกษุและพุทธศาสนิกชนร่วมพิธีพุทธชยันตี ๒,๕๐๐ ปี ณ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

พุทธชยันตี หรือสัมพุทธชยันตี (อังกฤษ: Sambuddha jayanthi) เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา คำว่าพุทธชยันตี มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี (สันสกฤต: जयंती) ที่แปลว่าวันครบรอบ (อังกฤษ: Anniversary) ดังนั้น ในภาษาสันสกฤตพุทธชยันตี จึงแปลว่าการครบรอบวันเกิดของพระพุทธศาสนา หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้า ก็ได้

โดยคำนี้ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ครบรอบ ๒๕๐๐ ปี แห่งปรินิพพาน หรือ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมดก็คือการจัดกิจกรรมพุทธชยันตี เพื่อมุ่งหมายการถวายเป็นพุทธบูชาในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้านั่นเอง

พุทธชยันตี เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า และผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศอื่น ๆ บางประเทศ โดยใช้คำนี้ในการจัดกิจกรรมวิสาขบูชา โดยวัตถุประสงค์ของพุทธชยันตีในประเทศต่าง ๆ มุ่งการจัดกิจกรรมเป็นวาระพิเศษตลอดทั้งปีนั้น เช่น การจัดกิจกรรมพุทธบูชา การปฏิบัติธรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชานั่นเอง

งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี ๒๕๐๐ ปี (อังกฤษ: 2500th Buddha Jayanti Celebration) เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ ๒๕๐๐ ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเรียกว่างานฉลองกึ่งพุทธกาล เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง

งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ากว่า ๕ ปี นับแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ มีการสร้างอนุสรณ์สถานพุทธมณฑล และการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมกันกับประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล และประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก โดยในประเทศอื่นใช้คำว่า พุทธชยันตี ๒๕๐๐ ปี

ประวัติ

ดร. บี.อาร์. อัมเบดการ์ ผู้นำชาวอินเดียประมาณ ๒ แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ

คำว่า สัมพุทธชยันตี หรือ พุทธชยันตี สันนิษฐานว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ในประเทศศรีลังกา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ (2500th Buddha Jayanti Celebration) โดยนำคำ Buddha Jayanti (बुद्ध जयंती) ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศ พม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษในครั้งนั้น ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการนำของ ดร.บี.อาร์.อัมเบดการ์ นำชาวอินเดียประมาณ ๒ แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ การสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ และนอกจากนี้ ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ยังได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธอุบัติภูมิอีกด้วย ในประเทศพม่า ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปาสาณคูหาเพื่อการทำฉัฏฐสังคีติสังคายนาพระไตรปิฎก สำหรับในประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศศรีลังกาหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ทรงจับเบ้าเททองหล่อพระเครื่องสำหรับใช้ในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี ๒๕๐๐ ปี เรียกว่าพระฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ณ มณฑลพิธีวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร (พระอารามหลวง ชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย)

งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นโดยการปรารภของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการแนะนำของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ที่ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๕ พุทธศตวรรษ (อังกฤษ: 2500th Buddha Jayanti Celebration) โดยมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย โดยประเทศต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อการฉลองนี้เป็นงานสำคัญระดับประเทศ

โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำโอกาสนี้จัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๕ มีการวางโครงการและระดมทุนเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราว โดยมีการจัดสร้างพระเครื่องจำนวนมากที่สุด เรียกว่า พระฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ จำนวนกว่า ๕,๐๔๒,๕๐๐ องค์ เพื่อระดมทุนในการสร้างพุทธมณฑล มีการออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม พระราชบัญญัติล้างมลทิน นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ ด้วย ซึ่งเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน


พุทธมณฑล ศูนย์กลางพุทธศาสนาของโลก

เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจ ของชาวพุทธทั้งประเทศ ได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาล ที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๐๐

ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูป ประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้น มี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุด คือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐

พุทธมณฑลสมัยนั้น ก็เป็นเสมือนป่าเราดี ๆ นี่เอง ยังไม่เกิดเป็นอำเภอ จุดที่อยู่ใกล้และมีชื่อเสียงให้รู้จักกันคือ ตำบลศาลายา ซึ่งปัจจุบันก็ยังเป็นตำบลศาลายา อำเภอนครชัยศรี การก่อสร้างเริ่มไปได้ไม่เท่าไร รัฐบาล ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็หมดอำนาจ เป็นผลให้การก่อสร้างพุทธมณฑลหยุดชะงักไป จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ คณะรัฐมนตรีสมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการ รับมอบงานก่อสร้างต่อจากกระทรวงมหาดไทยมาดำเนินการจัดสร้าง คราวนี้ให้นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ฝ่ายฆราวาสสมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์

พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์ พระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม อนุสรณ์การฉลองวาระกึ่งพุทธกาล งานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐

การก่อสร้างดำเนินการต่อไป แต่ก็ดูจะไม่รวดเร็วนัก มาสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ให้หน่วยทหาร เป็นหน่วยหลัก แม้แต่หน่วยที่อยู่ใกล้ ๆ เช่นกองทัพภาคที่ ๔ ซึ่งในเวลานั้นผมย้ายไปรับราชการ อยู่ที่กองบัญชาการช่วยรบที่ ๔ กองทัพภาคที่ ๔ อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้หน่วยทหาร ทั้งที่เป็นหน่วยกำลังรบ หน่วยโรงเรียนทหาร เช่น ร.ร.นายร้อย จปร. หน่วยฝ่ายเสนาธิการ เช่น กรมฝ่ายเสนาธิการต่าง ๆ ให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน สถาบันต่าง ๆ ที่เต็มใจจะช่วยเหลือ แม้แต่ตระกูลสำคัญ ๆ ที่มีสตางค์แยะ มาช่วยกันสร้างตกแต่งให้เกิดเป็นสวนขึ้นในพุทธมณฑล และได้มีการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ขึ้น ซึ่งก่อนจะเล่ารายละเอียดของการก่อสร้างสิ่งต่าง ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ผมขอเชิญชวนท่านไปเที่ยวชม ในพุทธมณฑลเสียก่อน เพราะเรื่องนี้หากจะให้ทราบละเอียดสักหน่อยก็คงจะยาวสักนิด หากเข้าไปในพุทธมณฑล ในเวลานี้ เข้าประตูที่อยู่เลยร้านลูกชิ้นปลานายเงี๊ยบไปหน่อย ผ่านป้อมยามรับบัตรไม่เสียค่าผ่านประตู พื้นที่ สถานที่จะงดงามสุดพรรณนา ร่มรื่นไปทั่วบริเวณที่ผมได้บอกแล้วว่ามีหน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยกันสร้างสวนไว้ ๒๐ ปีเศษผ่านไป ต้นไม้ต่าง ๆ เติบโต สูงใหญ่ให้ความร่มรื่นหมดแล้ว สวยจริง ๆ และพื้นหญ้าข้างล่างก็ตัดแต่งโล่งเตียน จุดนี้สำคัญมาก หากต้นไม้โตใหญ่ แต่ข้างล่างหญ้ารกรุงรังก็หมดความงามกลายเป็นป่าไป แต่นี้ตัดแต่งหญ้า เรียบตลอดทั้งพื้นที่ "๒,๕๐๐ ไร" ไม่มีส่วนไหนเลยที่หญ้าจะไม่ได้รับการตัดแต่งจึงงดงามมาก และทั่วบริเวณด้านชายสวน จะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่มีปลาตัวโต ๆ รอรับอาหารจากผู้มาเที่ยวจะซื้ออาหารโยนไปให้กิน ในวันที่ผมไปนี้คือ ฤดูฝนน้ำจะเต็มขอบสระน้ำใสสะอาด จะนั่งริมน้ำหรือนั่งใต้ร่มไม้ จะเอาอาหารไปกินก็ได้ แต่อย่าลืมนึกถึงเรื่องความสะอาดของสถานที่ คนไปนั่งกินอาหารขอให้มีวัฒนธรรมที่ดีงามติดไปด้วย เศษอาหารและภาชนะขอให้เก็บทิ้งให้หมด ขอให้เสียดายสถานที่นี้กันมาก ๆ ว่างดงามสงบเพียงใด

พระพุทธรูปปางลีลาประจำพุทธมณฑล เรียกว่า พระศรีศากยะทศพลญาณ

พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมาย จึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วนคือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราช เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ และระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูป

วิหารพุทธมณฑล ซึ่งหากมองจากถนนใหญ่จะเห็นชัดเจน แต่เมื่อมองจากองค์พระพุทธรูปประธาน มองตัดความงดงามของสวนไม้ดอกออกไป ก็จะเห็นความงดงามอย่างยิ่ง เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลาย ภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๒๕ พุทธศตวรรษขนาด ๒,๕๐๐ มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๘

ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อสร้างเสร็จในปี ๒๖๒๔

ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖

หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๙

หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลาง มีขนาด ๑.๖๐ เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖

สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕

การไปชมอาคารทุกหลังจะไปสะดวกมาก มีถนนที่ลัดเลาะไปสวนไม้ที่ร่มรื่น ริมสระน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม และมีป้ายบอกทิศทางไป อำนวยความสะดวกให้อย่างเต็มที่

อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๕

ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด ๒๐ หลัง ด้านข้างโปร่ง

ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด ๘ หลัง

พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรก แสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ ๒ จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ ๓ ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ

หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ

มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบน โดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๑ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่าหลวงพ่อฯ บริจาคผมเคยไปเห็นพระไตรปิฎกหินอ่อน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่า แต่ความงดงามของสถานที่นั้นจะเทียบกันไม่ได้เลย

โรงอาหาร ก็เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล

หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร

ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล

สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง

ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน จำหน่ายวัตถุมงคล "พระ ๒๕ พุทธศตวรรษประทับยืนปางลีลา" ยังมีจำหน่ายองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อตอนเริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกนั้น ผมเคยเช่าจากปะรำพิธีในสนามหลวงองค์ละ ๑๐ บาท สิบบาทเมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว น่าจะสูงกว่า ๑๐๐ บาทในปัจจุบัน

ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระเช่นกัน เสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้ามีถวายสังฆทาน อาทิตย์บ่ายมี พระธรรมเทศนา ไปติดกันเทศน์ทำบุญได้

สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่

ศาลาสรีรสราญ มีห้องสุขาไว้บริการประชาชน เห็นมีแห่งเดียวและได้แนะแล้วว่าควรเป็นห้องสุขาแบบผสม

เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี ๘ หลัง

พื้นน้ำของพุทธมณฑลนั้นงามยิ่ง น้ำเต็มเปี่ยม สนามขอบสระน้ำเรียบเขียวชอุ่ม โล่งเตียน เนื้อที่พื้นน้ำมีมากถึง ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนต้นไม้มี ๑,๕๖๒ ไร่ เป็นถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคาร และสิ่งก่อสร้างเพียง ๙๔ ไร่ จากจำนวนทั้งหมด ๒,๕๐๐

สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ซึ่งต้องตระเวนไปหาให้พบ หาไม่ยากเพราะมีป้ายนำ คือ

๑. ตำบลประสูติ ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่าง ๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล,มคธ-อังคะ,สักกะ วัชชี,มัลละ,วังสะ,กุรุ

๒. ตำบลตรัสรู้ ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง

๓. ตำบลปฐมเทศนา ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

๔. ตำบลปรินิพพาน ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม

สวน ต้องขอยกย่องและเชิดชูความงดงามของสวนต่างๆ ในพุทธมณฑลแห่งนี้ ได้แก่

๑. สวนเวฬุวัน คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด

๒. สวนอัมพวัน คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด

๓. สวนธรรม คือสวนกระถินณรงค์

๔. สวนไทร มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่นยิ่งนัก

๕. สวนลัฏฐิวัน คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน

๖. สวนสมุนไพร มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศ ปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน

กิจกรรมที่จัดขึ้นในพุทธมณฑล

- กิจกรรมวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา

- กิจกรรมวันที่เป็นประเพณี เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ วันลอยกระทง มีการถวายเพล ถวายสังฆทาน และฟังเทศน์ทุกวันเสาร์-อาทิตย์

- กิจกรรมวันสำคัญอื่นๆ มีกิจกรรมวันเด็กแห่งชาติ กิจกรรมวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน ประชุมสัมนาพระสังฆาธิการ กิจกรรมประทานพัดยศโดยสมเด็จพระสังฆราช จัดกิจกรรมนอกสถานศึกษาของวัดและโรงเรียน เป็นต้น


หมายเหตุ ๑: ความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ ๕,๐๐๐ ปี แล้วจักเสื่อมสลาย มีที่มาจากคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค ว่าด้วยภิกขุนิกขันธกวรรณนา ซึ่งคัมภีร์นี้แต่งโดยพระเถระชาวชมพูทวีปในสมัยหลังพุทธกาล เพื่ออธิบายความในพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นอัตตโนมติสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในพระบาลีพุทธพจน์ พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้ว่าศาสนาพุทธจะมีอายุ ๕,๐๐๐ ปี หรือกำหนดปีแห่งการสิ้นสุดของศาสนาพุทธหรือพระธรรมวินัยไว้ แม้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ตอนว่าด้วยครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี ที่ผู้แต่งคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกานำมาอธิบายความ ก็ไม่ได้มีเนื้อความที่ทรงกำหนดปีสิ้นสุดของพระพุทธศาสนาไว้แต่ประการใด ดังนั้นคำว่ากึ่งพุทธกาล หรือความเชื่อว่าศาสนาพุทธจักสิ้นใน ๕,๐๐๐ ปีหลังพุทธปรินิพพาน จึงเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณที่ยึดเอามติของผู้เขียนคัมภีร์สมัยหลังพระบาลีที่เป็นคัมภีร์อื่นนอกเหนือจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ซึ่งในทางวิชาการพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าโต้แย้งได้


หมายเหตุ ๒: ประเทศไทยจัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ๑ ปี โดยประเทศอินเดีย ศรีลังกา และพม่า จัดงานฉลองนี้ในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ เนื่องจากประเทศไทยนับพุทธศักราชช้ากว่าประเทศอื่น โดยประเทศไทยนับหนึ่งปีหลังพุทธปรินิพพานเป็น พ.ศ. ๑ แต่ประเทศอื่นนับตั้งแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็น พ.ศ. ๑

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา