พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ ๔  แห่งราชวงศ์จักรี ขณะทรงผนวช ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๖๘ - พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้รับพระนามฉายาว่าวชิรญาโณ หรือวชิรญาณภิกขุ พระองค์ทรงก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ขึ้นเพื่อฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยาม และแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

ธรรมยุติกนิกาย หรือคณะธรรมยุต เป็นคณะสงฆ์ที่พระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๔  แห่งราชวงศ์จักรี ) ทรงตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูศาสนาพุทธในสยาม และแก้ไขวัตรปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ขณะที่พระองค์ทรงผนวชอยู่นั้น ได้ทรงศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉานทำให้มีพระวิจารณญาณเกี่ยวกับความเป็นมาของพระพุทธศาสนา และการประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณรได้อย่างละเอียดถี่ถ้วน เป็นเหตุให้มีพระราชดำริในอันที่จะฟื้นฟูการสั่งสอนและการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยตามที่ได้ทรงศึกษาและทรงพิจารณาสอบสวนจนเป็นที่แน่แก่พระราชหฤทัยว่าถูกต้องเป็นจริงอย่างไรแล้ว พระองค์ได้ทรงนำประพฤติปฏิบัติขึ้นก่อน หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือทรงเริ่มแก้ไขที่พระองค์เองเป็นอันดับแรก

ต่อมา เมื่อมีบุคคลอื่นเห็นชอบและนิยมตาม จึงได้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามอย่างพระองค์ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้นเป็นลำดับ จนเกิดเป็นพระสงฆ์หมู่หนึ่ง หรือนิกายหนึ่ง ที่ได้ชื่อในภายหลังว่าธรรมยุติกนิกาย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “ธรรมยุต ” อันมีความหมายว่าผู้ประกอบด้วยธรรม หรือชอบด้วยธรรม หรือยุติตามธรรม ทั้งนี้ก็เพราะว่าพระสงฆ์นี้เกิดขึ้นด้วยมุ่งแสวงหาว่าข้อใดเป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์ (คำสั่งสอนของพระศาสดา) แล้วปฏิบัติข้อนั้นเว้นข้อที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นวินัย ไม่เป็นสัตถุศาสน์ แม้จะเป็นอาจินปฏิบัติ (คือข้อปฏิบัติตามกันมาแต่ผิดพระธรรมวินัย) ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕  ทรงมีพระบรมราชโองการให้ประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พระราชบัญญัติฉบับนี้มีชื่อว่าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ สาระสำคัญคือ ได้ยกสถานะคณะธรรมยุต ให้เป็นนิกายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง เป็นการฟื้นฟูพุทธศาสนาในส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์ไทยที่มีมาแต่โบราณ ให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎกและพระสุตตันตปิฎก ซึ่งเป็นความพยายามของพระวชิรญาณเถระ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทยรัชกาลที่ ๔  แห่งราชวงศ์จักรี ) เพื่อช่วยปฏิรูปการคณะสงฆ์และเผยแผ่พุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นในประเทศไทย

การก่อตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เป็นสาเหตุทำให้พระสงฆ์เถรวาทอื่นซึ่งเป็นพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ได้มีการประชุมและมีมติให้เรียกพระสงฆ์ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่คณะธรรมยุต ว่า "มหานิกาย"

ประวัติความเป็นมา

ธรรมยุติกนิกาย หรือธรรมยุต ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระภิกษุสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัดถูกต้องตามพระวินัย

การก่อตั้ง

พระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นเมื่อไร ทางตำนานแสดงไว้ว่า ดังนี้

  • พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์ คือ ธรรมเนียมประพฤติปฏิบัติทางพระวินัยแบบรามัญมาเป็นข้อปฏิบัติเป็นครั้งแรก เมื่อ จ.ศ. ๑๑๘๗ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๖๘ อันเป็นปีที่ ๒ แห่งการผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเอาวินัยวงศ์แบบรามัญนิกายมาเป็นแบบปฏิบัตินั้น เป็นการเริ่มต้นแก้ไขการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยของพระองค์ ซึ่งยังผลให้มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามจนเกิดเป็นพระสงฆ์คณะหนึ่งในเวลาต่อมา
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระเถรชั้นเดิมแห่งคณะธรรมยุต พระองค์หนึ่ง ทรงแสดงพระมติว่า

อันที่จริงคณะธรรมยุต ค่อยเป็นมาโดยลำดับ ปีที่ออกหน้า ควรจะกำหนดว่าเป็นปีที่ตั้งนั้น คือ จ.ศ. ๑๑๙๑

  • ปี จ.ศ. ๑๑๙๑ ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๒ อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวชได้ ๖ พรรษา และเสด็จจากวัดมหาธาตุ กลับไปประทับ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) อีกครั้งหนึ่ง เพื่อทรงสะดวกในการที่จะปรับปรุงแก้ไขการประพฤติปฏิบัตพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์เองได้โดยสะดวกพระทัย เพราะการประทับอยู่ในวัดมหาธาตุ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช และเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระองค์ด้วยนั้น คงทรงเห็นว่าไม่เป็นการเหมาะสมที่จะประพฤติปฏิบัติวัตรปฏิบัติต่างๆ ที่แปลกจากธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา ฉะนั้น การเสด็จกลับไปประทับที่วัดสมอราย จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นการปรับปรุงแก้ใขวัตรปฏิบัติทางพระธรรมวินัยของพระองค์ พร้อมทั้งคณะศิษย์ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างจริงจัง
  • สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงแสดงพระมติไว้ ตามที่ปรากฏในลายพระหัตถ์ถวายพระพร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่า

วันพรุ่งนี้ (คือวันที่ ๑๑ มกราคม) เป็นวันที่คณะธรรมยุต และวัดบวรนิเวศ ตั้งมาได้ครบ ๖๐ รอบปีบริบูรณ์

  • ตามความในลายพระหัตถ์ดังกล่าวนี้หมายความว่า ทรงถือเอาวันที่ ๑๑ มกราคม ร.ศ. ๕๕ (ตรงกับ พ.ศ. ๒๓๗๙) อันเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จจากวัดสมอราย มาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวันตั้งคณะธรรมยุต และเป็นวันตั้งวัดบวรนิเวศวิหาร

พัฒนาการของธรรมยุติกนิกาย

  • ตามความในพระราชประวัติแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเริ่มปรับปรุงแก้ไขการประพฤติปฏิบัติพระธรรมวินัยในส่วนพระองค์ เพื่อให้ถูกต้องตามที่ทรงได้ศึกษาพิจารณามาตั้งแต่ผนวชได้ ๒ พรรษา ขณะที่ยังประทับอยู่วัดมหาธาตุ และเริ่มมีสหธรรมิกอื่น ๆ นิยมปฏิบัติตามพระองค์ขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่มากนัก
  • ครั้นปี พ.ศ. ๒๓๗๒ อันเป็นปีที่ผนวชได้ ๖ พรรษา พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งเป็นพระราชาคณะ มาถึงระยะนี้ คงมีภิกษุสามเณรที่นิยมการปฏิบัติตามอย่างพระองค์และมาถวายตัวเป็นศิษย์มากขึ้น จึงได้เสด็จจากวัดมหาธาตุกลับไปวัดสมอราย อันเป็นวัดนอกกำแพงพระนครและเป็นวัดฝ่ายอรัญญวาสี หรือวัดป่า ที่มีชื่ออยู่ในขณะนั้น ทั้งนี้ก็คงเพื่อความสะดวกพระทัย ในอันเป็นที่พระองค์พร้อมทั้งคณะศิษย์จะได้ประพฤติปฏิบัติ และบำเพ็ญกิจวัตรต่าง ๆ ทางพระธรรมวินัยที่เห็นว่าถูกว่าควรได้ตามประสงค์ แต่ศิษย์บางส่วนก็ยังคงอยู่ที่วัดมหาธาตุต่อมา
  • แม้เมื่อเสด็จมาประทับที่วัดสมอรายแล้ว การปรับปรุงแก้ไขวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ในคณะของพระองค์ก็คงยังดำเนินไปได้ไม่ค่อยสะดวกนัก เพราะพระองค์มิได้ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์แห่งสำนักนั้น ฉะนั้น ในขณะเมื่อประทับอยู่ที่วัดมหาธาตุก็ดี ที่วัดสมอรายก็ดี ธรรมเนียมปฏิบัติต่าง ๆ ที่พระองค์ได้ทรงพระราชดำริปรับปรุงแก้ไขขึ้นใหม่คงยังไม่ได้มีกำหนดเป็นรูปแบบที่ชัดเจนบริบูรณ์
  • ต่อเมื่อเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๙ แล้ว จึงปรากฏหลักฐานว่า ทรงตั้งธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติขึ้นอย่างไรบ้าง ดังที่ปรากฏในตำนานวัดบวรนิเวศวิหารเป็นต้น โดยที่พระสงฆ์คณะธรรมยุติกนิกาย เกิดขึ้นจากผลของการแสวงหาความถูกต้องตามพระธรรมวินัย เริ่มแต่การทรงศึกษาสอบสวน ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดมาจนถึงการศึกษาสอบสวนของพระเถรานุเถระผู้เป็นบูรพาจารย์แห่งคณะธรรมยุตเป็นลำดับมา

ธรรมเนียมและแบบแผนของธรรมยุติกนิกาย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระเถระชั้นเดิมแห่งคณะธรรมยุต

ระเบียบแบบแผนการปฏิรูปพุทธศาสนาของธรรมยุติกนิกาย โดยพระวชิรญาณเถระ (เจ้าฟ้ามงกุฏ : พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔)

  • ทรงตั้งธรรมเนียมนมัสการพระเช้าค่ำ ที่เรียกว่าทำวัตรเช้า ทำวัตรค่ำ เป็นประจำ และทรงพระราชนิพนธ์บทสวดเป็นภาษาบาลี เป็นคาถา เป็น จุณณิยบท ซึ่งใช้แพร่หลายมาจนถึงปัจจุบันนี้ มีการรักษาศีลอุโบสถ และแสดงพระธรรมเทศนาเวลาสามโมงเช้าและบ่ายสามโมง ในวันธรรมสวนะ และวันอุโบสถ เดือนละ ๔ ครั้ง
  • ทรงปฏิรูปการเทศน์และการอธิบายธรรมทรงเริ่มการเทศนาด้วยฝีพระโอษฐ์ ชวนให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายและเกิดศรัทธา ไม่โปรดเขียนหนังสือไว้เทศน์นอกจากนี้ยังทรงฝึกหัดศิษย์ให้ปฏิบัติตาม ทรงอธิบายเพื่อให้คนเข้าใจในเนื้อหาของหลักธรรม เผยแพร่หลักธรรมสู่ราษฎร อธิบายหลักอันยุ่งยากซับซ้อน คณะสงฆ์ธรรมยุติได้เพิ่มบทสวดมนต์ภาษาไทยลงไป ทำให้คนนิยมฟังเป็นอันมาก
  • ทรงกำหนดวันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญทางศาสนาเพิ่มขึ้นจากวันวิสาขบูชา ทรงพระราชนิพนธ์คำบูชา และวางระเบียบให้เดินเวียนเทียนและสดับพระธรรมเทศนา ทรงชักนำให้บำเพ็ญกุศลตามเทศกาลต่างๆ เช่น ถวายสลากภัตร ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าจำนำพรรษา
  • ทรงแก้ไขการรับผ้ากฐิน ให้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติ คือเริ่มแต่การซัก ตัด เย็บ ย้อม ให้เสร็จภายในวันเดียวกัน
  • ทรงแก้ไขการขอบรรพชา และการสวดกรรมวาจาในอุปสมบทกรรมให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เช่น ระบุนามอุปสัมปทา และนามอุปัชฌายะ ซึ่งเป็นภาษาบาลีในกรรมวาจา การออกเสียง อักษรบาลี ทรงให้ถือหลักการออกเสียงให้ถูกฐานกรณ์ของอักขระตามหลักบาลีไวยากรณ์
  • ทรงวางระเบียบการครองผ้า คือการนุ่งห่มของภิกษุสามเณร ให้ปฏิบัติไปตามหลักเสขิยวัตรในพระวินัยเพื่อให้สุภาพเรียบร้อย (เดิมพระธรรมยุติครองจีวรห่มม้วนซ้าย แต่ตอนปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนมาห่มห่มม้วนขวา (ห่มมังกร) ตามแบบพระสงฆ์มหานิกาย ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ จึงได้กลับมาห่มม้วนซ้ายตามเดิม) ทรงวางระเบียบการกราบไหว้ของพระภิกษุสามเณร และระเบียบอาจารยะมารยาท ต้องวางตัวให้น่าเลื่อมใสศรัทธา สังวรในกิริยามารยาทและขนบธรรมเนียม
  • ทรงให้พระสงฆ์ธรรมยุติ ศึกษาพระปริยัติธรรมให้แตกฉาน สามารถแสดงธรรมเทศนา สั่งสอน สามารถแยกระหว่างความเชื่อที่มีเหตุผล และความเชื่อในสิ่งที่ไม่สามารถอธิบายได้ การศึกษาในด้านวิปัสสนาธุระ ไม่ใช่รับรู้เฉพาะสมถะวิธี อันเป็นเบื้องต้น แต่ให้รับรู้ไปถึงขั้นวิปัสสนากรรมฐาน การปฏิบัติตามพระวินัย ทรงให้ถือหลักว่าสิ่งใดที่สงสัยและน่ารังเกียจไม่ควรกระทำโดยเด็ดขาด พึงเคารพพระวินัยอย่างเคร่งครัด
  • ทรงเห็นความสำคัญในการศึกษาหาความรู้สาขาอื่นๆ ของพระสงฆ์ จึงทรงอนุญาตให้พระสงฆ์เข้าศึกษาภาษาอังกฤษกับหมอแคสเวล (Reverend Jesse Caswell) ตามความสนใจ ทำให้มีการสืบสานการเข้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมของพระสงฆ์มาจนถึงปัจจุบัน

ข้อควรปฏิบัติ

ปฏิบัติธรรมสืบสานเจตนารมณ์พระเดชพระคุณคุณูปมาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต (ธ) และรักษาโรคด้วยพืชสมุนไพร โดย ท่าน อ.ลักษณ์ พุทธธรรม (ธ)

นอบน้อม เชิดชู ปกป้อง ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ราชวงศ์ทุกๆ พระองค์

สถานที่นี้เป็นสถานที่สงบ ฝึกใจ ฝึกตน หากใจยังสกปรกจงกลับไปยังที่ของท่านเถอะ

สถานที่นี้เป็นที่เจริญ มรรคมีองค์ ๘ พรหมวิหาร ๔ เพื่อความหลุดพ้น

สถานที่นี้ ไม่รับเจิม ดูดวง ประกอบพิธีกรรมทางโลกทุกกรณี

ติดต่อเรา

๐๘.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. เวลาพักผ่อนของท่านอาจารย์ ห้ามรบกวนโดยเด็ดขาด

๑๓.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. เวลาที่ศิษยานุศิษย์และญาติธรรม สามารถเข้าพบและสนทนาธรรมกับครูบาอาจารย์ได้ตามเหมาะสม

ศาลาภิรมย์ธรรม ๘๕/๑ ม.๓ ต.โดมประดิษฐ์ อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี ๓๔๒๖๐

norkaewplace@gmail.com

ห้ามบุคคลภายนอก เข้าเขตหน่อแก้วยามวิกาล ในทุกกรณี

ห้ามศิษยานุศิษย์นำสิ่งเสพติดทุกชนิด เข้ามาภายในหน่อแก้วสถาน

เว็บไซต์นี้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแผ่พุทธศาสนา โดยไม่มุ่งหวังผลทางพาณิชย์ อนุญาตให้นำไปเผยแผ่เพื่อสืบต่อพุทธศาสนาได้ตามกุศลเจตนา