บุญข้าวจี่ บางท้องที่เรียกบุญข้าวกี่ คือบุญประเพณีที่ทำขึ้นในเดือนสาม ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ชาวอีสานนิยมนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์และประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญข้าวในเล้า (ยุ้งฉาง)

บุญข้าวจี่ เป็นกิจกรรมร่วมของชุมชนหลายหมู่บ้าน นั่นคือ ชาวอีสานบางหมู่บ้านเรียกงานบุญนี้ว่าบุญคุ้ม กล่าวคือ จะทำบุญกันเป็นคุ้มๆ หรือบางหมู่บ้านก็จะทำกันที่วัดประจำหมู่บ้าน  ชาวบ้านที่เป็นเจ้าภาพก็จะบอกบุญไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงให้มาร่วมกันทำบุญด้วย

เมื่อถึงเดือนสาม ชาวนาในภาคอีสานส่วนใหญ่ถือกันมาตั้งแต่โบราณว่าเป็นเดือนบายศรีสู่ขวัญข้าว คือมีการถวายข้าวเปลือกพระ และนิยมทำบุญบ้าน นิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ เมื่อเสร็จพิธีสงฆ์แล้วก็บายศรีสู่ขวัญข้าวในเล้า (ยุ้งฉาง) ตามธรรมเนียมพราหมณ์ บางบ้านก็ทำเล็กน้อยพอเป็นพิธี คือเอาข้าวไปถวายสงฆ์แล้วทำพิธีตุ้มปากเล้า (ยุ้งฉาง) เล็กน้อยเป็นการบูชาคุณของข้าวในเล้า (ยุ้งฉาง) ดังคำผญาอีสานว่า

เถิงเมื่อเดือนสามได้จงพากันทำเข้าจี่ ไปถวายสงฆเจ้าเอาแท้หมู่บุญ

บุญข้าวจี่ นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือ ภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา (ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๓) แล้ว ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ เป็นวันทำบุญ มีสาเหตุสืบเนื่องมาจากภูมิอากาศในเดือนสาม ทางภาคอีสาน กำลังอยู่ในฤดูหนาว ในตอนเช้าผู้คนจะใช้ฟืนก่อไฟผิงแก้หนาว เมื่อฟืนถูกไฟเผาเป็นถ่าน ชาวบ้านจะเอาข้าวเหนียวมาปั้นเป็นก้อนกลม โรยเกลือวางไว้บนเตาไฟ เรียกกันว่าข้าวจี่ หรือข้าวกี่

ข้าวจี่ หรือข้าวกี่ คือ ข้าวเหนียวนึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทา จากนั้นก็นำมาย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทน กลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ แล้วถวายพระเณรฉันตอนเช้า

มูลเหตุของการทำบุญประเพณีบุญข้าวจี่

มีเรื่องเล่าในพระธรรมบทว่า มีหญิงคนหนึ่งชื่อนางปุณณทาสี เป็นคนยากจนต้องไปเป็นทาสีรับใช้ของเศรษฐีคนหนึ่งในกรุงราชคฤห์ วันหนึ่งเศรษฐีให้นางไปซ้อมข้าว นางซ้อมตลอดวันก็ไม่หมด ตกตอนเย็น นางก็จุดไฟซ้อมต่อไป ได้รับความเหน็ดเหนื่อยเป็นอันมาก พอถึงตอนเช้า นางก็เอารำทำเป็นแป้งจี่ เผาไฟให้สุกแล้วใส่ไว้ในผ้าของตนเดินไปตักน้ำปรารถนาจะบริโภคด้วยตนเอง

ครั้นถึงกลางทางได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ เกิดความเลื่อมใส คิดว่าเราเป็นคนยากจนในชาตินี้ ก็เพราะมิได้ทำบุญไว้แต่ปางก่อนและชาตินี้เราก็ยังไม่เคยทำบุญเลย เมื่อคิดเช่นนั้นแล้วนางก็น้อมเอาข้าวแป้งจี่นั้นเข้าไปถวายแด่พระศาสดา พระองค์ทรงรับแล้ว และนางคิดอีกว่าพระศาสดาคงไม่เสวย และอาจเอาทิ้งให้สุนัขหรือกากิน เพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน

เมื่อพระศาสดาทรงทราบวาระจิตของนางเช่นนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้พระอานนท์ ปูลาดอาสนะแล้วทรงประทับนั่งฉัน ณ ที่นางถวายนั้น ครั้นเสวยเสร็จแล้วก็ตรัสอนุโมทนากถาโปรดนางจนสำเร็จโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา

ครั้นนางทำกาลกิริยาแล้วก็ได้ไปเกิดบนดาวดึงส์สวรรค์เสวยทิพย์สมบัติ อยู่ในวิมานทองอันผุดผ่องโสภา มีนางฟ้าแวดล้อมเป็นยศบริวาร

ด้วยเหตุนี้ ชาวนาในภาคอีสาน เมื่อเสร็จสิ้นฤดูเก็บเกี่ยวและเอาข้าวขึ้นเล้า (ยุ้งฉาง) เสร็จแล้ว นิยมพากันทำบุญข้าวจี่ เพราะถือว่าการถวายข้าวจี่มีอานิสงฆ์มาก ด้วยความเชื่อแบบนี้ คนอีสานโบราณจึงได้ทำบุญประเพณีบุญข้าวจี่ สืบต่อกันมาไม่ได้ขาด ดังที่ปรากฎในผญาอีสานซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

ยามเมื่อถึงเดือนสามได้พากันเอาบุญข้าวจี่ ตั้งหากธรรมเนียมนี้มีมาแท้ก่อนกาล ได้เฮ็ดกันทุกบ้านทุกถิ่นเอาบุญ อย่าได้พากันไลเสียฮีตบุญคองเค้า

วิธีดำเนินการ

เมื่อทางวัดและทางบ้านกำหนดวันทำบุญเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านจะไปเตรียมหาไม้สำหรับเสียบข้าวจี่ ซึ่งอาจเป็นไม้ไผ่ผ่าซีกหรือลำไม้เล็กๆ ชนิดอื่นที่ไม่เบื่อเมา โดยปลอกเปลือกไม้ออก เหลาตกแต่งให้เกลี้ยงเกลาดีๆ และเตรียมฟืนไว้ให้พร้อม

เมื่อถึงวันทำบุญ เอาไม้เสียบและฟืนที่เตรียมไว้สำหรับทำบุญข้าวจี่ไปรวมกันที่วัด จึงเอาฟืนมาก่อเป็นกองไฟ กองไฟนี้อาจทำลายกองตามความจำเป็น เมื่อก่อไฟจนเป็นถ่านดีแล้วชาวบ้านแต่ละคนเอาข้าวเหนียวทำเป็นปั้น โรยเกลือและเคล้านวดให้เข้ากัน จนข้าวมีลักษณะเหนียวเหนอะหนะดังกล่าวแล้วข้างต้น กะจำนวนให้ครบพระภิกษุสามเณรในวัด เสียบไม้ปิ้งไฟหรือย่างบนกองไฟจวนสุกทาไข่ให้ทั่วแล้วปิ้งต่อไปจนไข่เหลือง

บางแห่งเมื่อปิ้งเสร็จ เอาน้ำอ้อยปึกยัดไส้ด้วย (น้ำอ้อยอาจเอาใส่ยัดไส้ก่อนปิ้งก็ได้) หรือจะไม่ใส่น้ำอ้อยก็ได้ จึงจัดอาหารหวานคาวและข้าวจี่มารวมกันที่ศาลาวัด นิมนต์พระภิกษุและสามเณรในวัด ทั้งหมดมารับถวายทาน ในกรณีที่ไม่มารวมกันทำข้าวจี่ที่วัด ชาวบ้านอาจต่างคนต่างทำมาจากบ้านของตน โดยเสร็จแล้วต่างนำข้าวจี่มาที่วัดก็ได้

ประเพณีบุญข้าวจี่ ที่ปราสาทขอมบ้านพันนา อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร

พิธีถวาย

มีการกล่าวคำบูชาดอกไม้ กราบไหว้พระรัตนตรัย รับศีล พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ ตักบาตรถวายข้าวจี่ แล้วยกไปถวายพระภิกษุสามเณรพร้อมอาหารหวานคาว ก่อนยกไปถวายมีการกล่าวคำถวายข้าวจี่ด้วย ซึ่งคำกล่าวถวายข้าวจี่ มีดังต่อไปนี้

คำถวายข้าวจี่

อิมัสมิง ฐาเน อิมานิ มะยัง ภันเต พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโน ภันเต ภิกขุสังโข อิมานิ พาหิระอัณฑานิ ปิณฑะปาตานิ ปฏิคคัณหาตุ ฑีมะรัตตัง อัตถายะ หิตายะ สุขายะ

คำแปล

ข้าแต่พระภิกษุสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายก้อนข้าวจี่ทั้งหลายเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ก้อนข้าวจี่ทั้งหลายเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนานเทอญ

เมื่อพระฉันเสร็จ มีการฟังเทศน์ฉลองข้าวจี่และอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี ภายหลังเสร็จพิธีแล้ว ชาวบ้านจะมีเลี้ยงกันเองด้วยข้าวจี่และอาหารคาวหวาน (ซึ่งเหลือจากพระฉัน) เป็นทั้งงานบุญและได้อิ่มหนำสำราญ ดังคำพังเพยอีสานว่า

เดือนสามค้อยเจ้าหัวคอยปั้นเข้าจี่ เข้าจี่บ่ใส่น้ำอ้อยจัวน้อยเช็ดน้ำตา